13 มี.ค. 2020 เวลา 20:33 • สุขภาพ
ภูมิคุ้มกัน VS ระบบการแพทย์สาธารณสุข
การตำหนิสาธารณสุขโดยไม่ไต่ตรองอาจนำมาซึ่งความโกลาหลและซ้ำเติมให้การระบาดแย่ลงไปอีก
เผอิญผมได้อ่านบทความเก่าของคุณกรีน (EveryGreen) เรื่อง "* Ebola กลับมาระบาดในคองโกอีกครั้ง" ซึ่งเขียนไว้ได้น่าสนใจ และกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของบทความนี้
สิ่งที่ผมเพ่งเล็งในบทความเป็นพิเศษคือโรคที่ติดต่อไม่ง่ายนักอย่างอีโบล่า (ติดทางการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง) กลับระบาดเป็นวงกว้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากชาวบ้านขาดความเชื่อถือในระบบการแพทย์สาธารณสุขของคองโก
แล้วหายนะจะรุนแรงขนาดไหน ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือระบบการแพทย์สาธารณสุขในขณะที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ติดง่ายกว่ามากผ่านการไอ จาม สัมผัส
อาจารย์ของผมก็เตือนเสมอว่า ถึงเราจะไม่เห็นด้วย ไม่ถูกใจ หงุดหงิดกับมาตรการของสาธารณสุขบางอย่าง ถ้าอยากบ่น ก็บ่นกันเองในวงแคบ ๆ หรือบ่นให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตรง ๆ อย่าไปแสดงความเห็นขัดแย้งรุนแรง ทำลายภาพลักษณ์ หรือลดความน่าเชื่อถือของสาธารณสุข ให้คนทั่วไปรับรู้
เพราะถ้าไม่มีความเชื่อมั่นในสาธารณสุข ประชาชนอาจไม่ยอมทำตาม ไม่ให้ความร่วมมือ หรือต่อต้านคำแนะนำ จนระบบพังทลาย
เช่น บอกว่าอย่าไปกักตุนหน้ากากแย่งบุคลากรทางการแพทย์ ก็ไม่เชื่อไปแย่งมาจนบุคลากรล้มป่วย โรงพยาบาลก็เป็นอัมพาตตาม สุดท้ายชาวบ้านเองก็จะไม่มีคนดูแลเวลาป่วย
หรือถึงจุดหนึ่งเราอาจติดเชื้อกันถ้วนหน้า สาธารณสุขสั่งให้ผู้มีอาการน้อยกักตัวเองอยู่บ้าน แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ คิดว่าสาธารณสุขปิดบังข้อมูลว่าจริง ๆ แล้ว โอกาสเสียชีวิตสูง เลยแห่กันไปโรงพยาบาลด้วยความกลัวตาย จนเกิดความวุ่นวาย บุคลากรดูแลไม่ไหว คราวนี้อัตราตายจะสูงขึ้นจริง ๆ
ดังนั้นก่อนจะโจมตีสาธารณสุข ก็ควรพิจารณาตามหลักพุทธศาสนาว่าเรื่องนั้น ๆ
1. เป็นเรื่องจริง
2. มีประโยชน์
3. คนฟัง (ชาวบ้าน+สาธารณสุข) จะชอบหรือไม่ก็ไม่เป็นไร
4. พูดเมื่ออยู่ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม
ต่อให้เราบริสุทธิ์ใจ พูดเรื่องจริงที่เป็นข้อบกพร่องของสาธารณสุข แต่ถ้าประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับความเชื่อมั่นที่เสียไป หรือยังไม่ใช่สถานการณ์ที่ควรพูด ก็อย่าพูดเลยดีกว่า ถ้าเราไม่อยากเป็นอย่างคองโก
1
รอไว้ให้สถานการณ์คลี่คลายค่อยออกมาจัดเต็มก็ได้ แต่ถ้าคิดว่ารอไม่ได้ต้องออกมาแฉตอนนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์คุ้มค่าแม้จะต้องแลกด้วยความเชื่อมั่นในระบบที่สั่นคลอน และยืดอกรับผิดชอบได้ ก็ลุยโลดครับ
ถ้าเราเปรียบประเทศของเราเป็นร่างกายมนุษย์
ประชากรแต่ละคนก็คือเซลล์หนึ่งเซลล์
ระบบการแพทย์สาธารณสุขก็จะมีหน้าที่เหมือนระบบภูมิคุ้มกัน ที่คอยต้านทานยับยั้งโรคติดเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศ (ร่างกาย)
ทุกอย่างต้องทำงานประสานกัน เพื่อยับยั้งโรคติดเชื้อที่ร้ายกาจ
1. เริ่มจากการตอบสนองของเซลล์ทั่วไปที่เปรียบได้กับชาวบ้านตาดำ ๆ ที่เริ่มติดเชื้อไวรัส (cellular response)
เซลล์ทั่วไปจะตอบสนองต่อไวรัสที่บุกรุกโดยการ shut down ระบบในเซลล์ ลดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สร้างโปรตีน เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสใช้กลไกของเซลล์ในการสร้างชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มจำนวน แล้วยังปล่อยอินเตอร์เฟียรอน (interferon) เพื่อเตือนให้เซลล์อื่น ๆ รู้ว่ามีไวรัสบุกเข้ามาแล้ว เซลล์อื่น ๆ ก็จะลดการทำงานของเซลล์ลงตาม เพิ่มความต้านทานในการติดเชื้อไวรัส บางครั้งไวรัสเพิ่มจำนวนต่อไม่ได้ก็หยุดอยู่แค่นี้ แต่ถ้าเอาไม่อยู่ก็จะกระจายสัญญาณเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เข้ามาช่วย
เปรียบได้กับคนที่ติดเชื้อแล้วอยู่เฉย ๆ ไม่สุงสิงกับผู้อื่น เตือนให้ผู้อื่นระวังตัว แจ้งแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขให้เข้ามาตรวจสอบ ผู้คนรอบข้างก็ลดการพบปะ ป้องกันตัวเอง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โอกาสเชื้อจะระบาดก็มีน้อย
แต่ถ้าแทนที่ผู้ติดเชื้อจะแยกตัว ดันไปปาร์ตี้ กิน สูบ ดื่ม ใช้ขนส่งสาธารณะ เข้าชุมชนปะปนกับผู้อื่น โดยไม่ป้องกันตัว แถมยังหลบหนี ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ บุคลากร ย่อมยากที่จะคุมเชื้อได้
2. ต่อมาระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (innate immune response) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทตามที่เซลล์ชาวบ้านร้องเรียก พวกนี้ก็เปรียบได้กับ แพทย์พยาบาล บุคลากรทั่วไปที่เข้าดูแลผู้ป่วยโดยตรง ระบบนี้ที่ใช้สู้กับไวรัส ตัวอย่างเช่น
เซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน เครดิตภาพ: Bitch3 ที่มา: https://www.cleanpng.com/png-innate-immune-system-mast-cell-immunology-3741495/
เซลล์นักฆ่าดะ (natural killer หรือ NK cell) จะโหดหน่อย มีหน้าที่ฆ่าตัดตอน เจอเซลล์ไหนหน้าตาแปลก ๆ ดูผิดปกติไป ท่าทางเหมือนมีไวรัสในตัว ก็จะเข้าไปกระซวกเซลล์เหล่านั้นแล้วยัดคำสั่งให้เซลล์นั้น ๆ พลีชีพเพื่อชาติ
เซลล์ที่ติดเชื้อเมื่อได้รับคำสั่งก็ทำการฮาราคีรี ฆ่าตัวตาย (apoptosis) เพื่อลากเอาไวรัสที่อยู่ในตัวไปลงนรกด้วยกัน
โชคดีที่แพทย์ทั่วไปไม่ได้โหดเท่านี้ เพราะคนไม่ได้ตัวติดกันแบบเซลล์ แพทย์จึงสามารถตัดตอนการแพร่โรคได้ด้วยการแยกโรค แล้วทำการรักษาประคับประคองจนหายจากโรค (ไม่ใช่หายจากโลกแบบ NK cell) เท่านี้ไม่แพร่เชื้อแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องสังหารมนุษย์
เซลล์ถัดมาคือ เซลล์ต้นไม้ (dendritic cell, dendrite = ต้นไม้) ที่มีแขนขายุ่บยับ เป็นเหมือนเหล่าเทคนิคการแพทย์หรือนักวิจัย ที่ทำการสุ่มตรวจ สำรวจ พวกเชื้อต่าง ๆ สูบเอาเชื้อไวรัสเข้ามาย่อยแยกส่วนเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปศึกษาวิเคราะห์ต่อที่โรงพยาบาล
เซลล์ต้นไม้ (dendritic cell) เครดิตภาพ: Hmliday ที่มา: https://www.cleanpng.com/png-dendritic-cell-antigen-presenting-cell-antigen-pre-1476866/
เซลล์ถัดมาก็คือ จอมเขมือบ (macrophage) กินได้แทบทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะซากเซลล์ตาย กระจุกไวรัส แบคทีเรีย รา ไขมัน ไปจนถึงเม็ดสีที่ใช้ในการสัก ฯลฯ และมีความสามารถในการย่อยสลายทั้งเซลล์และเชื้อโรค คอยตระเวนดูแลความเรียบร้อยทั้งในยามปกติและยามเจ็บป่วย และยังสามารถนำเอาชิ้นส่วนเชื้อโรคที่ได้จากการกิน ไปส่งวิเคราะห์ได้เช่นกัน
กลุ่มนี้ก็เปรียบได้กับพยาบาลที่คอยดูแลผู้ป่วยสารพัด เจาะเลือด ให้ยา เช็ดตัว ดูแลการขับถ่าย ความสะอาด เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง ฯลฯ
โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็เปรียบได้กับ ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อม ที่ช่วยสกัดเชื้อ และเป็นแหล่งชุมนุมของเม็ดเลือดขาว (บุคลากรทางการแพทย์) จำนวนมาก ซึ่งสามารถส่งต่อเชื่อมประสานระหว่างกันผ่านร่างแหระบบน้ำเหลืองได้
แต่ถ้าดูแลไม่ดี บุคลากรไม่ตระหนักในหน้าที่ ไม่มีมาตรการในการรองรับผู้ติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวก็อาจกลายเป็นตัวชักนำเชื้อเข้าต่อมน้ำเหลือง ส่วนโรงพยาบาลก็อาจกลายเป็นแหล่งรังโรคได้เช่นกัน
ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ที่มา: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lymphoma/symptoms-causes/syc-20352638
ถ้าโชคดีเชื้อโรคหรือไวรัสอาจถูกสยบได้ที่ขั้นตอนนี้ แต่ถ้าไม่ได้ เซลล์หรือบุคลากรเหล่านี้ก็จะเรียกหาภูมิคุ้มกันระดับถัดไปมาช่วย
3. ระบบภูมิคุ้มกันแบบปรับเฉพาะ (adaptive immune response) ระบบนี้ตอบสนองช้ากว่าระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด แต่มีประสิทธิภาพและความจำเพาะที่สูงกว่า อีกทั้งยังสามารถจดจำ (memory) ลักษณะเชื้อไว้ได้ ทำให้สามารถหยุดยั้งเชื้อที่เคยเจอมาแล้วได้อย่างง่ายดาย
เมื่อเซลล์ต้นไม้ (dendritic cell) มุดเข้ากลางต่อมน้ำเหลืองพร้อมกับทำการชำแหละชิ้นส่วนของไวรัสออกมาจัดนิทรรศการ (antigen presentation) เหล่าเม็ดเลือดขาว (ชนิด lymphocyte) ก็มาชุมนุมร่วมกันศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างของไวรัส แล้วทำการคัดเลือกและสร้างกองทัพเม็ดเลือดขาวหัวกะทิผู้เชี่ยวชาญในการกำราบไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น
ทีเซลล์สารพัดพิษ (cytotoxic or CD8 T cell, CTL) เปรียบได้กับทีมแพทย์เฉพาะทาง ที่เข้ามาช่วยหลังได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ทั่วไป ความสามารถก็ใกล้เคียงกับ เซลล์นักฆ่าดะ (NK cell) แต่ออกคำสั่งจัดการเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้ดีและแม่นยำถูกต้องกว่า ไม่ฆ่าเปะปะ ถ้ายังเอาไม่อยู่ก็ต้องหวังพึ่ง บีเซลล์ที่เป็นด่านสุดท้าย
บีเซลล์ (B cell) สามารถแปลงร่าง สร้าง แอนติบอดี (antibody) ที่สยบไวรัสได้ดีเยี่ยม แต่ดันมาช่วยช้าไปหน่อย กว่าจะมาบางทีก็เยินไปหมดแล้ว ซึ่งเวลาเราพูดกันว่ามีภูมิแล้วก็มักหมายถึง มีระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะป้องกันเชื้อนั้น ๆ ได้นั่นเอง
พวกบีเซลล์ก็คงเปรียบได้กับองค์กรที่ช่วยเหลือจากวงนอก เช่น โรงงานผลิตคิดค้นยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ต่าง ๆ แม้จะสุดยอดแต่มันอาจมาไม่ทันกาล
ส่วนระบบของสาธาณสุข ผมขอเปรียบเป็น ทีเซลล์สนับสนุน (helper or CD4 T cell, Th) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเวลาไล่เลี่ยกับทีเซลล์สารพัดพิษ (CTL) แม้จะไม่ค่อยได้ลงไปจัดการกับเซลล์ (ผู้ติดเชื้อ) โดยตรง แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว ในการช่วยเหลือ สนับสนุน ควบคุม ประสานงานเม็ดเลือดขาวอื่น ๆ รวมไปถึงบีเซลล์ด้วย
หลังจากที่ได้รับรายงานสถานการณ์จากเหล่าแพทย์พยาบาลและบุคลากรในสังกัด (innate immunity) สาธารณสุขที่เราสมมุติว่าเป็น ทีเซลล์สนับสนุน (helper T cell, Th) จะประเมินข้อมูลที่ได้แล้วทำการแปลงร่างตัวเองเพื่อเลือกใช้ยุทธวิธีในการสู้รบให้เหมาะสมกับภัยคุกคามที่สุด เช่น
ถ้าได้รับรายงานว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียทั่วไป จะแปลงร่างเป็นทีเซลล์สนับสนุนหมายเลข 17 (Th17) ควบคุมกองทัพนักรบเม็ดเลือดขาวพลีชีพ (neutrophil) เข้าตะลุมบอนห้ำหั่นกับแบคทีเรีย จนตายตกตามกันไป ถ้าคุมไม่ไหวจริง ๆ จะใช้กลยุทธปิดเมือง (lock down) ด้วยการสร้างฝีหนอง (abscess) ซึ่งหุ้มด้วยผนังที่สร้างจากเซลล์เนื้อเยื่อพังผืด (fibroblast) ขึ้นมาขังแบคทีเรียเอาไว้
1
ถ้าได้รับรายงานว่าเป็นตัวอ่อนหนอนพยาธิขนาดยักษ์ ก็จะแปลงร่างเป็น ทีเซลล์สนับสนุนหมายเลข 2 (Th2) ควบคุมกองทัพเม็ดเลือดขาวกระแดง (eosinophil) ไปรุมล้อมไล่ถล่มหนอนพยาธิ
แต่ถ้าเป็นพวกไวรัส ก็จะกลายร่างเป็น ทีเซลล์สนับสนุนหมายเลข 1 (Th1) ควบคุมกองทัพ เซลล์นักฆ่าดะ (NK) กับ ทีเซลล์สารพัดพิษ (CTL) และจอมเขมือบ (macrophage) เข้าสังหารเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสให้สิ้นซาก
ถ้าดันไปเจอเชื้อที่แกร่งมากฆ่าไม่ตายอย่างเชื้อวัณโรค ทีเซลล์สนับสนุนหมายเลข 1 ก็อาจใช้กลยุทธปิดเมือง (lock down) ด้วยการสั่งให้จอมเขมือบ (macrophage) ไปหุ้มล้อมรอบเชื้อวัณโรคไว้ พร้อมกับขนหินปูนมาฝังโบกปิดตาย กลายเป็นคุกหิน (calcified granuloma) ที่ขังเชื้อวัณโรคทั้งเป็นไว้
ทีเซลล์สนับสนุนยังมีอีกชนิดที่น่ารู้จัก คือทีเซลล์ผู้คุ้มกฎ (regulatory T cell, Treg) ทำหน้าที่คอยปรามไม่ให้ภูมิคุ้มกันจัดหนักเกิน ไม่เช่นนั้นเจ้าของร่างจะตายเพราะการอักเสบที่รุนแรงจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มากเกิน ไม่ได้ตายเพราะเชื้อโรค
ทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายของระบบภูมิคุ้มกันแบบคร่าว ๆ ซึ่งรายละเอียดและชนิดย่อยของเซลล์ยังมีอีกมหาศาล
หากระบบสาธารณสุขล้มเหลว ออกนโยบายแล้วไม่มีผู้ปฏิบัติตาม ชาวบ้าน แพทย์ ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ความเชื่อถือ ประเทศไทยก็คงไม่ต่างกับผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นที่ ทีเซลล์สนับสนุน (Th) ถูกเชื้อเอชไอวีสังหารเรียบ แม้เซลล์อื่น ๆ ที่เข้าต่อกรกับเชื้อโรคโดยตรงจะอยู่ครบ แต่ไม่มีผู้ประสานงาน ควบคุมสนับสนุน ก็คงเหมือนกองทัพเล่าปี่ที่มีห้าทหารเสือครบแต่ไม่มีขงเบ้ง
ในคนไข้เอดส์เต็มขั้น โดยเฉพาะที่ทีเซลล์สนับสนุน (Th) ต่ำมาก ๆ เวลาเป็นวัณโรค แทนที่จะ lock down เชื้อสุดอึดนี้โดยส่งจอมเขมือบ (macrophage) ไปสร้างคุกหิน (granuloma) ดันส่งพวกนักรบเม็ดเลือดขาวพลีชีพ (neutrophil) ไปสร้างฝี (abscess) ที่เหมาะกับการขังแบคทีเรียทั่วไปแทน หรือแย่กว่านั้นคือปล่อยเชื้อวัณโรคเดินเล่นไปทั่วร่างโดยแทบไม่มีการยับยั้งเลย
ผู้ป่วยก็จะคุมเชื้อวัณโรคไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที เสมือนโรคระบาดที่กระจายและสร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ
2
ถึงคุณจะไม่พอใจระบบภูมิคุ้มกันที่คุณมีอยู่ ว่ามันตอบสนองช้า ทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ต้องอดทนกับมันไปก่อน เพราะใช่ว่าจะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าไปเจาะยางระบบโดยการกินยากดภูมิ (ทำลายความน่าเชื่อถือของสาธารณสุข)
การจะเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันทำได้ แต่ไม่ง่าย และความเสี่ยงสูง นั่นคือการปลูกถ่ายไขกระดูก
คุณต้องทำลายไขกระดูกเดิมด้วยยาเคมีและฉายรังสี (ปฏิวัติ ยุบสภา ถอดถอน ปลดจากตำแหน่ง) แล้วจึงใส่ไขกระดูกจากผู้บริจาคใหม่ (นายกคนใหม่ รัฐมนตรี ทีมงานชุดใหม่) ซึ่งไม่ได้มีอะไรการันตีว่าจะทำงานได้ดีกว่าชุดเดิม
แต่ที่สำคัญคือช่วงผลัดเปลี่ยน ไขกระดูกเก่าก็ตายไปแล้ว ไขกระดูกใหม่ก็ยังไม่ได้เข้าไปแทนที่โดยสมบูรณ์ (engraft) จะเกิดสุญญากาศไม่มีการผลิตเม็ดเลือดขาวออกมาสู้กับเชื้อโรค (คณะทำงานใหม่ยังเรียนรู้ต่องานไม่ติด หรือใส่เกียร์ว่าง)
ผู้ป่วย (ประเทศ) ในช่วงเวลานั้นจะบอบบางมาก เพราะภูมิคุ้มกันแทบใช้ไม่ได้เลย (สาธารณสุขล้มเหลว) เชื้อจะกระจาย (ระบาด) ไปทั่วจนเสียชีวิตได้ง่ายมาก
แม้คนไข้จะแข็งแรงพอควร ไม่มีการติดเชื้อใด ๆ มาก่อนและได้รับการดูแลรักษาอย่างดีในโรงพยาบาล ก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายไขกระดูกสูงมาก
ถ้ามีการติดเชื้ออยู่ก่อน ยิ่งต้องรักษาโรคติดเชื้อให้หายก่อน (คุมการระบาดได้หรือการระบาดสิ้นสุดลงแล้ว) ถึงจะทำการเปลี่ยนไขกระดูกแบบยกชุดได้ ถ้าไปเปลี่ยนขณะที่ยังคุมการติดเชื้อไม่ได้ก็เตรียมจองวัดได้เลย
ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เต็มที่ก็คงได้แค่ปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจหน้าที่บางส่วน แต่ไม่ควรทำให้ระบบหมดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกล่าวหาเรื่องการปกปิดบิดเบือนข้อมูล (อย่างน้อยในโรงพยาบาลที่ผมอยู่ ก็รายงานเคสกันตามตรงครับ)
เฮ้อ! สีข้างเลือดซิบเลยกว่าจะเปรียบเทียบระบบภูมิคุ้มกันกับระบบการแพทย์สาธารณสุขเสร็จ (มันไม่ค่อยเหมือนกันซักเท่าไหร่ แต่ก็พอแถไปได้) วันนี้ขอไปนอนพักให้แผลที่สีข้างสมานตัวก่อนครับ
Reference:
Janeway's Immunobiology, 9th edition, 2016
by Kenneth Murphy and Casey Weaver
โฆษณา