14 มี.ค. 2020 เวลา 13:59
แม่น้ำกับการแสวงหา........
สำหรับคนที่ชอบอ่าน
หลายคนคงมีหนังสือเล่มโปรดนะครับ
ผมเองก็มีเช่นกัน. และหนึ่งในหนังสือเล่มโปรด
ที่อยากเขียนถึงนั่นก็คือ
เรื่อง สิทธารถะ (Siddhartha) ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส
.
เฮอร์มานน์ เฮสเสเป็นนักกวีและนักเขียน
ชาวเยอรมันผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
ในปี 1946 ซึ่งมีผลงานมากมาย
.
สิทธารถะ เป็นผลงานช่วงปีค.ศ. 1922 ซึ่งถือเป็นช่วงกลางๆ
ของการเป็นนักเขียนของเฮสเส
.
โดยเป็นเรื่องราวการแสวงหาและการค้นพบของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า สิทธารถะ เป็นบุตรของพราหมณ์
ซึ่งตอนท้ายสิ่งที่เค้าค้นพบก็คือคำตอบที่เรียบง่าย
แต่...เป็นคำตอบของสิ่งที่ตามหา
สิ่งที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้ก็คือ
เป็นหนังสือแนวปรัชญาตะวันออกที่เขียนโดยคนตะวันตก
นั่นแสดงว่าการเข้าใจหลักแนวคิดต่างๆของศาสนา
ไม่ได้จำกัดที่เชื้อชาติ
เนื้อหาที่น่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ก็คือ
ผู้เขียนให้ตัวละครอยู่ในยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า
และมีโอกาสได้พบเจอและได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
.
ในขณะที่เพื่อนของสิทธารถะ นามว่าโควินทะที่ไปด้วยกัน
หลังฟังธรรมแล้วก็ขอบวชกับพระพุทธเจ้า
แต่สิทธารถะแม้ศรัทธา แต่ก็เลือกเดินทางไปแสวงหาหนทางของตัวเอง
และค้นพบมันจากแม่น้ำสายหนึ่ง
.
วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกแปลไปไม่น้อยกว่า 60 ภาษาทั่วโลก
มียอดขายทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 160 ล้านเล่ม
และถูกตีความมากมายตามความคิดของผู้อ่านมากมาย
ผ่านกาลเวลาเนิ่นนานแม้กระทั่งปัจจุบัน
.
ว่ากันว่าถ้ากลับมาอ่าน ในช่วงเวลาที่ต่างกัน
ก็จะมีมุมมองที่ไม่เหมือนเดิมและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
.
สิ่งที่ผมชื่นชอบในหลักแนวคิดของสิทธารถะก็คือ
การอุปมาอุปมัยเรื่องความรู้และปัญญา
ที่ดูจะเป็นแก่นของเรื่อง
.
ในเนื้อเรื่องสรุปตอนท้าย เป็นฉากง่ายๆ
จากแค่บทสนทนาของสิทธารถะและโควินทะ
.
เป็นเหตุการณ์หลังจากที่สิทธารถะรู้แจ้งจากแม่น้ำ
ในขณะที่โควินทะออกบวชแล้วแต่ยังไม่บรรลุธรรม
และทั้งสองได้พบกันอีกครั้งที่แม่น้ำ
.
โควินทะเรียนรู้จากครูผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นนั่นคือพระพุทธเจ้า
แต่การอยู่ในฐานะสาวกและร่ำเรียนกับผู้รู้....ก็ไม่ทำให้รู้แจ้ง
.
สิทธารถะมีผู้สอนหลากหลายทั้งนักบวช และคนธรรมดาทั่วไป
แต่สุดท้ายคนที่สอนให้เข้าถึงการรู้แจ้งกลับเป็นแค่ชายแจวเรือ
สิ่งที่ทำให้ทั้งสองแตกต่าง ไม่ใช่ความรู้แต่เป็นเรื่องของ “ปัญญา”
ความรู้สามารถถ่ายทอดได้
แต่ปัญญา...ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
และปัญญาที่บอกออกมานี้....เป็นปรัชญา
ที่ตีความหมายได้หลายอย่าง
ซึ่งแต่ละคนจะมีแนวทางที่ไม่เหมือนกัน
และต้องหาแนวทางนั้นให้เจอด้วยปัญญาของตัวเอง
ไม่สามารถอธิบายหรือถ่ายทอดกันได้
.
แม่น้ำในเรื่องนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
เป็นสถานที่ๆ สิทธารถะตัดสินใจฆ่าตัวตาย
และเป็นสถานที่ๆ ทำให้รู้คำตอบแห่งการรู้แจ้ง
.
.
แม่น้ำเป็นตัวแทนของเสียงมากมายและชีวิตของผู้คน
นั่นอาจหมายถึงอัตตาหรือตัวเรา
ที่เมื่อทำความเข้าใจแล้ว...
ก็จะพบสิ่งที่ตัวเองต้องการและแสวงหา
.
ท่ามกลางเสียงมากมายและความรู้สึกที่สับสน
...ของแม่น้ำในตัวเรา
.
การหยุดพักและทำความเข้าใจแม่น้ำสายนี้
อาจทำให้จิตใจสงบและพบทางออกที่ดีนะครับ
.
#รองเท้าแตะเหยียบดวงจันทร์
.
ปล.หลังอ่านบทความแล้ว แนะนำให้
ฟังเพลง “ลำธาร” ของคุณมาโนช พุฒตาล ต่อ
จะได้อรรถรสในการอ่านบทความนี้มากขึ้นครับ
โฆษณา