16 มี.ค. 2020 เวลา 12:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
COVID-19 เป็นวิกฤตของตลาดหุ้นแล้วหรือยัง? และจะลบล้างทฤษฎีของตลาดหุ้นได้หรือไม่?
วิกฤตโคโรน่าที่ทุกคนกำลังร่วมเผชิญอยู่นั้นได้สร้างปรากฎการณ์ด้วยการกระชากตลาดหุ้นจากเมื่อต้นปีที่ 1,595.82 จุด ลงมาเหลือ 1,046.08 จุดในวันนี้ คิดเป็นการติดลบกว่า 34.42%
จนหลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่าแบบนี้เรียกวิกฤตของตลาดหุ้นแล้วหรือยัง?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมอยากจะอธิบายคำว่าวิกฤตซักเล็กน้อย
จริงๆแล้วในต่างประเทศมีคำ 2 คำที่สามารถใช้เรียกวิกฤต คือ Recession กับ Depression
หลายคนอาจแย้งว่า Recession จริงๆแปลว่า ถดถอยไม่ใช่หรอ เอามาแปลว่าวิกฤตได้อย่างไร
ที่ผมบอกว่าแปลว่าวิกฤตนั้นจริงๆแล้ว เพราะคนไทยมักชอบพูดเหมารวมกันไปหมด บางเหตุการณ์นับว่าเป็น Recession ก็เรียกว่าวิกฤต เป็น Depression ก็เรียกว่าวิกฤตอีกเช่นกัน
แล้ว Recession กับ Depression นั้นต่างกันอย่างไร?
ถ้าให้พูดง่ายๆก็คือ Depression จะรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่า
อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 นับว่าเป็น Depression หรืออย่าง วิกฤตซับพลามในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2551 ก็เป็น Depression เช่นกัน
ส่วน Recession ก็เช่น เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเมื่อปี พ.ศ.2553 หรือ เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2554
นอกจากความรุนแรงแล้ว อีกหนึ่งความแตกต่าง คือ
Recession จะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้เสียสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน จนเกิดเป็น Inventory ส่วนเกินล้นตลาด
การจะลดอุปทานในระยะเวลาอันสั้นนั้นทำได้ยาก เพราะการผลิตของภาคส่วนต่างๆนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พออุปสงค์ลดลงอย่างไม่คาดคิด ส่วนเกินเหล่านั้นจะกลายเป็น Inventory ส่วนเกิน
นอกจากนั้น เพื่อลดรายจ่ายในช่วงที่รายได้หายไป บริษัทจึงต้องหากรรมวิธีต่างๆมาลดต้นทุน และวิธีที่ง่ายที่สุดในวันที่ไม่ต้องผลิตอะไรมากก็คือ การเลย์ออฟพนักงาน อย่างที่เห็นกันมากในปัจจุบันนั่นเอง
ส่วน Depression จะคล้ายกัน แต่จะทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกระดับ จากสาเหตุที่แตกต่างกัน
ในด้านของ Recession เกิดจาก การผลิตมีมากจนเกินความต้องการ ส่วน Depression เกิดจากการลงทุนมากจนเกินความสามารถในการสร้างผลตอบแทนของบริษัทต่างๆ
อย่างการลงทุนสร้างตึก สร้างอาคาร ลงทุนนำเข้าเครื่องจักรต่างๆ แต่ไม่มีตลาดที่แท้จริงมารองรับ มีแต่มโนภาพเท่านั้น
สังเกตุจากช่วงก่อนต้มยำกุ้งหรือซับพลาม จะมีการแห่เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบัน รายใหญ่ รายย่อย หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยสนใจลงทุน
สุดท้ายพอทุกคนเริ่มตาสว่างว่าการลงทุนเหล่านั้นไม่มีทางสร้างผลตอบแทนอย่างที่เคยนึกฝันไว้ตลาดจึงถล่มลงมาได้มากถึง 50-90% เลยทีเดียว
และปรากฎการณ์ที่นักลงทุนแห่กันเข้าไปก่อนตลาดถล่มนั้น ได้ถูกกล่าวไว้ในทฤษฎี Boom and Bust Cycle
ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีเก่าแก่ที่ใช้บอกเล่าภาพทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1982
Nicolai Dmitriyevich Kondratieff นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นและสังเกตุเห็นจุดสูงสุด 4 จุดจากประวัติศาสตร์ 50 ปีแรกของตลาดหุ้น ซึ่งตรงกับ 4 เหตุการณ์ คือ ยุทธการที่วอเตอร์ลู ปี ค.ศ.1815, Panic of 1873 ปี ค.ศ.1873, The Roaring 20's ปี ค.ศ.1920 และ The First Oil Price Shock ปี ค.ศ.1973
การศึกษาพบว่า 4 จุดที่ทำจุดสูงสุดนั้นตามมาด้วยวิกฤตครั้งใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นลงอย่างรุนแรงมากกว่า 50%
และทฤษฎีที่เกิดจากการสังเกตุดังกล่าวได้รับการยอมรับในวงกว้างเนื่องจากดูแล้วสอดคล้องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อๆมาในตลาดหุ้นจนถึงปัจจุบัน
ทฤษฎีนี้ยังทำให้เกิดการสรุปแบบคร่าวๆอีกด้วยว่า Recession จะมาในทุกๆ 8-10 ปี และ Depression จะมาในทุกๆ 50-100 ปี
แต่แล้วการเกิดขึ้นของวิกฤต COVID-19 ก้มาทำให้ทฤษฎีนี้คลุมเครือ
เริ่มจากข้อแรก โดยปกติแล้วเส้นแบ่งระหว่าง Recession และ Depression คือ ผลกระทบนั้นทำให้ตลาดหุ้นลดลงน้อยกว่าหรือมากกว่า 50% ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถึง(ประเทศไทย 34.42%) ส่วนอนาคตต้องติดตามกันต่อไป
ข้อสอง ถ้าเกิดวิกฤต COVID-19 เป็น Depression ขึ้นมาจริงๆ จะลบล้างทฤษฎี Bull and Bust ทันที เนื่องจากจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดวิกฤตโดยผู้คนไม่ได้มั่นใจและแห่เข้าไปลงทุนมากเกินไปนั่นเอง
ข้อสาม ตามทฤษฎีแล้ว วงจรเศรษฐกิจจะเกิด Depression ทุกๆ 50-100 ปี ประเทศไทยพึ่งจะเกิดต้มยำกุ้งไป 23 ปี สหรัฐอเมริกาพึ่งจะเกิดซับพลามไป 12 ปี ถ้าเกิดวิกฤต COVID-19 เป็น Depression จริง ทฤษฎีนี้จะถูกลบล้างเพราะระยะเวลาของวิกฤตรอบนี้สั้นเกินไป
โดยสรุปแล้วเบื้องต้น COVID-19 ยังเป็นแค่ Recession จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นวิกฤตแบบ Depression แต่ถ้าเกิด COVID-19 ทำตลาดหุ้นติดลบมากกว่า 50% เมื่อไหร่ ทฤษฎีตลาดหุ้นที่เคยเชื่อกันมาจะต้องถูกลบล้างไปนั่นเอง
The Owner ลงทุนหุ้นอย่างเจ้าของกิจการ
สนับสนุนให้ทุกท่านลงทุนอย่าง รู้จริง ปลอดภัย และ ยั่งยืน
โฆษณา