18 มี.ค. 2020 เวลา 09:50 • การศึกษา
ลูกจ้างป่วยเพราะติดเชื้อ COVID-19 จะมีสิทธิลาและได้รับเงินตามกฎหมายอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เริ่มตีวงล้อมกรอบเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที
1
จากเดิมที่กลุ่มเสี่ยงได้ถูกจำกัดแค่ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือคนไทยซึ่งเดินทางกลับจากประเทศเหล่านั้น แต่ปัจจุบันความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับการใช้ชีวิตประวันของเรามากยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างนั้น ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงจะกังวลใจอยู่ไม่น้อยว่าถ้าหากตัวเองได้รับเชื้อมาแล้วก็คงไม่พ้นที่จะต้องหยุดพักรักษาตัวให้หายเป็นปกติ แต่ปัญหาก็คือขั้นตอนการรักษา หรือแม้กระทั่งการกักตัวเองเพื่อรอดูอาการนั้นค่อนข้างจะใช้เวลาอยู่พอสมควร
อย่างในกรณีเข้าข่ายเฝ้าระวัง เช่น กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงก็ต้องกักตัวเองอย่างน้อย 14 วันเพื่อรอดูอาการและหากพบว่าติดเชื้อก็ต้องเข้ารับการรักษา
ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกี่วัน เพราะคนไข้แต่ละรายก็จะมีอาการแตกต่างกันไป ตามอายุ ความแข็งแรงของร่างกายและปัจจัยอื่น ๆ
แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ลูกจ้างจะต้องลางานเพื่อเข้ารับการรักษาจนกว่าจะหายป่วย
ซึ่งในบทความนี้ผมจะพูดถึงในแง่มุมของกฎหมายว่าในกรณีที่ลูกจ้างจะต้องกักตัวหรือต้องลาป่วยเพื่อรักษาตัวเองให้หายจากโรคนั้น จะมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องและลูกจ้างจะมีสิทธิอะไรบ้าง
1) เมื่อลูกจ้างต้องถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการเนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งในมาตรา 34 (1) ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการหรือออกคำสั่งให้คนที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องแยกกัก หรือกักกันตัวเอง หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ที่กำหนดจนกว่าจะพ้นระยะเวลาติดต่อของโรค หรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย
ซึ่งลูกจ้างที่ถูกกักตัวตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อเพื่อสังเกตอาการ จะไม่ถือว่าเป็นการขาดงานหรือทิ้งงาน แต่เมื่อไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างตามจำนวนวันที่ไม่ได้ทำงาน ตามหลัก no work no pay
2) กรณีที่ลูกจ้างตรวจวัดร่างกายเนื่องจากมีอาการไข้ เช่น วัดไข้แล้วมีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศา ย่อมถือว่าลูกจ้างนั้นป่วย และสามารถใช้สิทธิลาป่วยตามกฎหมายแรงงานได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 และมาตรา 57 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาป่วยแต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน
ซึ่งหมายความว่า หากลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยตามข้อนี้ ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในขณะที่ลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงานในปีนั้น
หากลูกจ้างมีความจำเป็นต้องลาป่วยเกินกว่า 30 วันในปีนั้น ก็อาจต้องพิจารณาใช้สิทธิการลาอย่างอื่นที่เหลืออยู่เช่น การลาพักร้อน หรือถ้ายังไม่พอก็คงต้องเจรจากับนายจ้างเพื่อขอใช้สิทธิหยุดโดยไม่ต้องรับค่าจ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกจ้างที่ขาดรายได้เนื่องจากใช้สิทธิลาป่วยเกิน 30 วันไปแล้วและเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม
โดยลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะมีสิทธิได้รับไม่เกิน 365 วัน
ซึ่งลูกจ้างจะใช้สิทธิตามข้อนี้ได้ก็ต่อเมื่อสิ้นสิทธิรับค่าจ้างจากนายจ้างไปแล้ว (เช่น ใช้สิทธิลาป่วยโดยรับค่าจ้างครบ 30 วันแล้ว) และจะได้รับเงินจากสำนักงานประกันสังคมตามระยะเวลาที่เหลืออยู่
สุดท้าย... ผมเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะมียามารักษาและป้องกันอาการป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวนี้ในที่สุด และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็จะเหลือเพียงร่องรอยและเป็นบทเรียนให้เราได้ศึกษา ดังเช่นโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าเชื้อไวรัสซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วกับพวกเราทุกคนก็คือ ความคิดและสุขภาพจิตที่ทรุดโทรม เหมือนประโยคที่กำลังนิยมใช้กันตอนนี้ว่า...
“ร่างกายยังไม่โควิด แต่สุขภาพจิตเข้าขั้นโคม่า” 😂
และแม้ว่าบทความนี้จะไม่ได้ช่วยให้ผู้อ่านห่างไกลจากเชื้อ COVID-19 มากขึ้น แต่ผมก็หวังว่าอย่างน้อยน่าจะช่วยคลายความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ
References:
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา