20 มี.ค. 2020 เวลา 09:01
งานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 48 กับ 5 หนังสือที่หมูแว่นสนใจ
...
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo Thailand) ซึ่งถือเป็นงานที่รวบรวมสำนักพิมพ์ผู้จัดจำหน่ายและตีพิมพ์มากที่สุดในประเทศไทย
...
เรียกได้ว่าเป็นดินแดนมหัศจรรย์ (Wonderland) ของเหล่าผู้รักการอ่านหนังสือ และผู้รักการดองหนังสือ (เช่นผม) เลยทีเดียว
...
(ข้อมูลเพิ่มเติม : พฤติกรรมการซื้อหนังสือมาดอง มีชื่อเรียกว่า ‘ซึนโดะขุ (Tsundoku)’ คำๆ นี้กำเนิดขึ้นโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า โมริ เซ็นโซ ในปี ค.ศ.1879 โดยเซ็นโซใช้เรียกคุณครูที่มีตำราเยอะ แต่ไม่ยอมอ่าน)
...
โดยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2515 เจ้าภาพในตอนนั้นประกอบด้วย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
...
ต่อมา สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ก็ขอกระโดดเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยอีกราย
...
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยปกติจะจัดงานด้วยกัน 2 ครั้งใน 1 ปี
...
ครั้งแรก จะจัดขึ้นประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ซึ่งในช่วงนี้มักเป็นช่วงที่เหมาะกับการตามเก็บหนังสือเก่าๆ มากกว่า เพราะเป็นช่วงที่แต่ละสำนักพิมพ์จะไม่ค่อยมีแผนที่จะปล่อยของใหม่ออกมาเท่าไรนัก
...
ครั้งที่สอง จะมีขึ้นในช่วงประมาณเดือนตุลาคม ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่จะสร้างความตื่นเต้นให้เหล่าหนอนหนังสือมากๆ เพราะแต่ละสำนักพิมพ์จะเริ่มปล่อยหนังสือใหม่ๆ ออกมาประชันโฉมกัน
...
นอกจากเราจะได้พบเจอกับสำนักพิมพ์และหนังสือมากมายแล้ว ยังตื่นตากับโปรโมชั่นที่แต่ละสำนักพิมพ์นำมาประกวดแข่งขันกันแบบชนิดไม่มีใครยอมใคร จนต้องลำบากเงินในกระเป๋าของผู้ซื้อกันเลยทีเดียว
...
ยังเป็นงานที่ผู้อ่านมีโอกาสที่จะได้พบกับนักเขียน หรือผู้แปลตัวเป็นๆ เนื้อตัวยังอุ่นๆ มาให้เราได้กรี๊ดและขอลายเซ็นกันอีกด้วย (ซึ่งส่วนใหญ่ผมมักอ่านนิยายแปล เลยไม่ค่อยตื่นเต้นกับออฟชั่นนี้เท่าไร ฮ่าๆ)
...
แต่ในปีนี้ ด้วยปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ตัดสินใจยกเลิกงานที่จะมีขึ้นที่เมืองทองธานี และปรับเปลี่ยนมาเป็นงานหนังสือออนไลน์แทน
...
ซึ่งผมเองก็เสียดายแต่ก็เข้าใจในสถานการณ์ดี แต่ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นดีเหมือนกันครับกับรูปโฉมงานหนังสือใหม่นี้
...
ข้อมูลเท่าที่ผมรู้ ณ วันที่ 20 มีนาคม 63 นี้ ทางเพจ BooK Thai ยืนยันแล้วว่าในเว็บไซต์ thaibookfair.com นั้น จะเป็นการรวมศูนย์การซื้อหนังสือที่รวบรวมสำนักพิมพ์กว่า 200 สำนักพิมพ์ได้ภายในเว็บเดียว
...
พร้อมโปรโมชั่นพิเศษที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อต้อนรับงานหนังสือออนไลน์นี้โดยเฉพาะ ให้ร่วมสนุกกันอีกด้วย (น่าจะเล่นกิจกรรมและการใช้รหัสส่วนลดนี้ ผ่านเว็บไซต์ของ thaibookfair นะครับ)
...
เครดิตภาพ : เพจ Thai Book
แต่ข้อเสียเท่าที่เห็นหลักๆ ในตอนนี้คือค่าจัดส่งนั้นเองครับ เพราะผมเห็นทางเพจ BooK Thai ตอบกลับคอมเม้นคนหนึ่งแล้วว่าค่าจัดส่งจะแยกตามแต่ละสำนักพิมพ์ (ทางเพจตอบเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563)
...
นั้นหมายความว่า ผู้ซื้ออย่างเราต้องศึกษาหาข้อมูลค่าบริการจัดส่งของแต่ละสำนักพิมพ์เพิ่มเติมกันอีกทีว่า แต่ละสำนักพิมพ์จะมีโปรโมชั่นการจัดส่งอย่างไรหรือไม่ เช่น สำนักพิมพ์เคล็ดไทย หากซื้อเกิน 600 บาทจะฟรีค่าจัดส่ง, สำนักพิมพ์สมมติ หากซื้อเกิน 1,200 บาทขึ้น ก็จะจัดส่งฟรี เป็นต้น
(อ้างอิงจากข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์สำนักพิมพ์)
...
เอาล่ะ! มาดูกันว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 นี้ ผมนายหมูแว่นได้เล็งหนังสือเล่มไหนเอาไว้บ้าง
...
คำชี้แจง
...
คำพรีวิวหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ เกิดขึ้นจากการคาดเดาเนื้อหาที่ผมน่าจะได้จากหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งได้มาจากการหาข้อมูลเบื้องต้นบนเว็บไซต์ต่างๆ เช่น การอ่านปกหลัง และการอ่านสารบัญ เป็นต้น โดยนำมาผสมกับข้อมูลที่ผมมีอยู่เบื้องต้นครับ
...
1. อัสดงคตมายา : ภาพลวงตาของโลกตะวันตกต่อธรรมชาติมนุษย์
...
เครดิตภาพหน้าปกหนังสือ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
“โดดเดี่ยว ยากแค้น น่ารังเกียจ ป่าเถื่อน และแสนสั้น” คำกล่าวสะท้านโลกของนักปรัชญาชื่อดังชาวอังกฤษ ‘โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)’ กับคำนิยามที่สื่อถึงส่วนลึกภายในจิตใจของมนุษย์
...
ฮอบส์เชื่อโดยสนิทใจว่าในภาวะธรรมชาติ โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนนั้นเห็นแก่ตัว และความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย
...
1. ความกลัวตาย และ
...
2. ความคาดหวังในประโยชน์ส่วนตัว
...
แนวคิดการมองมนุษย์ในแง่ลบนี้ เป็นผลให้เกิดลัทธิซีนิก (Cynicism) ที่เชื่อเช่นกันว่า “มนุษย์ในสภาพธรรมชาตินั้นโหดร้ายและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว”
...
แต่ ‘มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins)’ ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา บอกว่าความคิดของฮอบส์นั้นไม่จริงเสมอไปผ่านหนังสือเล่มนี้
...
จากที่ผมได้อ่านคำเปรยมา ผมเข้าใจว่าซาห์ลินส์น่าจะนำเสนอมุมมองผ่านด้านมานุษยวิทยา ในการให้เหตุผลที่ว่า ‘มนุษย์ในภาวะธรรมชาตินั้นไม่ได้โหดร้ายและเห็นแก่ตัว’ แบบที่การเมืองและปรัชญาตะวันตกพยายามชี้นำ
...
(หมายเหตุ : ณอง ณาคส์ รุสโซ นักปรัชญาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกัน โดยรุสโซบอกว่า “โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว มนุษย์นั้นดี แต่มนุษย์จะเริ่มเห็นแก่ตัว เมื่อออกจากธรรมชาติมาอยู่ในสังคมใหญ่”)
...
เครดิตภาพ : เพจสำนักพิมพ์ Illuminations Editions
ดูแล้วน่าจะเป็นการวิพากษ์คอนเซปต์เรื่องภาวะธรรมชาติ (State of Nature) ที่เป็นหัวใจหลักของลัทธิซีนิกและฮอบส์ ที่บอกว่า “มนุษย์ในสภาพธรรมชาตินั้นโหดร้ายและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และจำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างหรือใครบางคนที่มีอำนาจสูงสุดมาควบคุม”
...
(ทำให้ผมคิดเล่นๆ ในใจว่า อารมณ์มันจะคล้ายกับกรณีถกเถียงเรื่องการกักตัวเองอยู่กับบ้าน ในภาวะโควิด-19 ปัจจุบันหรือเปล่า?
...
เปรียบฝั่งลัทธิซีนิกและฮอบส์ที่เสนอว่า “ให้รัฐออกมาตรการมา เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้คนให้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะเราไว้ใจความเห็นแก่ตัวของพวกเขาไม่ได้”
...
และเปรียบฝั่งซาห์ลินส์ที่อาจเสนอว่า “รัฐไม่ต้องถึงขนาดออกมาตรการอะไรแบบนั้น เพียงแค่ขอความร่วมมือก็เพียงพอแล้ว เพราะมนุษย์ไม่ได้แย่ขนาดนั้น”)
...
ซึ่งทำให้ผมสนใจใคร่รู้มากว่า ซาห์ลินส์จะอธิบายสิ่งเหล่านั้นผ่านมุมมองของนักมานุษยวิทยา ว่าสิ่งที่ฮอบส์พูดมันเป็นภาพลวงตาได้อย่างไร จะเปิดโลกกว้างให้กับผมได้แค่ไหน และมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด?
...
2. VITA ACTIVA การรื้อฟื้น 'มนุษย์สภาวะ' ของฮันนาห์ อาเรนท์
...
เครดิตภาพหน้าปกหนังสือ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
‘ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt)’ นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ที่เธอจำต้องอพยพตัวเองไปอยู่อเมริกาเพื่อหนีนาซี
...
จากที่อ่านคำเปรยปกหลังและรายละเอียดคร่าวๆ จากหนังสือปรัชญาเล่มอื่น ดูเหมือนอาเรนท์จะสนใจเรื่องความชั่วร้ายทางการเมือง ภายใต้รูปแบบการปกครองเผด็จการมากเป็นพิเศษ
...
อาเรนท์สนใจกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนนาซีตลอดจนเหล่าพรรคนาซีเองว่า พวกเขามีระบบความคิดอย่างไรบ้าง ภายใต้สังคมที่มีพื้นที่สำหรับความคิดของตัวเองเพียงน้อยนิดนี้
...
เช่น แฟนของเธอที่กลายเป็นสมาชิกพรรคนาซีอย่างเต็มตัว และยังคล้อยตามสนับสนุนนโยบายต่อต้านชาวยิวอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่เธอผู้เป็นแฟนสาวก็มีเชื้อสายยิวเช่นกัน
...
พฤติกรรมแฟนของเธอ จึงอาจเป็นการขยายความของคำว่า ‘สังคมที่มีพื้นที่สำหรับความคิดของตัวเองเพียงน้อยนิด’ ได้นั้นเอง (หรือในทางจิตวิทยาสังคม จะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘พฤติกรรมคล้อยตาม’)
...
แต่คนที่อาเรนท์สนใจเป็นพิเศษคือ ‘อดอล์ฟ ไอซ์มันน์ (Adolf Eichmann)’ อดีตทหารนาซีระดับสูง ผู้ทำหน้าที่คอยจัดตารางรถไฟเพียงเท่านั้น แต่ทว่า outcome กับ impact จากการกระทำนั้นมหาศาลนัก
...
เพราะมันเป็นการจัดตารางรถไฟที่จะส่งชาวยิวไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ค่ายมรณะที่เป็นลานประหารชาวยิวจำนวน 1.1 ล้านคน ด้วยวิธีการรมแก๊ส
...
อาเรนท์ได้พบเจอกับไอซ์มันน์ที่กรุงเยรูซาเล็ม สิ่งที่อาเรนท์สัมผัสได้จากชายที่เปรียบเสมือน ‘แครอน ผู้แจวเรือนำวิญญาณข้ามแม่น้ำสติกซ์ จากมนุษยโลกไปยังยมโลก’ คือ
...
เขาเป็นชายที่ดูไร้พิษสง ไม่มีนิสัยก้าวร้าว ไม่มีความอาฆาตแค้นหรือจงเกลียดจงชังชาวยิวอย่างที่นาซีควรจะมีเลย แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดคือเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายนรกนั้นเลยสักนิด
...
ทำไมเขาถึงไม่รู้สึกรู้สากับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์นี้เลยล่ะ? อาเรนท์สนใจระบบความคิดในหัวของไอซ์มันน์คนนี้มากๆ
...
“ผมแค่ทำตามคำสั่งและกฎหมาย” นี่คือคำตอบชายผู้นั้น
...
อาเรนท์ตั้งชื่อระบบความคิดนี้ว่า ‘ความธรรมดาของความชั่วร้าย’ หรืออาจพอตีความได้ง่ายๆ ว่า ‘การกระทำที่ชั่วร้าย เพราะมาจากการได้รับคำสั่ง’ ก็เป็นได้
...
ระบบความคิดของไอซ์มันน์ ย้อนกลับไปสู่รากเหง้าความคิดของอาเรนท์ที่ว่า ‘สังคมที่มีพื้นที่สำหรับความคิดของตัวเองเพียงน้อยนิด’ เพราะไอซ์มันน์เลือกที่จะทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่เคยตั้งคำถามให้กับตัวเองต่อว่าสิ่งที่ทำนั้นมันผิดหรือไม่นั้นเอง
...
ตามความเห็นส่วนตัวของผม จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ ผมรู้สึกว่าอาเรนท์มีความเป็นนักอาชญาวิทยามากกว่านักปรัชญาเสียอีก
...
เพราะดูเหมือนอาเรนท์จะชื่นชอบการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้คนและวิเคราะห์ระบบความคิดของคนผู้นั้นออกมา
...
ดังนั้นเมื่อหนังสือเล่มนี้ การเลือกที่จะอธิบายพัฒนาการของ ‘มนุษย์สภาวะ (Human Condition)’ โดยเริ่มต้นจากสถานะของสัตว์การเมือง, สัตว์นักประดิษฐ์ และสัตว์แรงงาน เลยดูสนใจในบันดลเลยครับ (เดาว่าน่าจะมีเรื่องของชนชั้นมาเกี่ยวข้องด้วยนะครับ)
...
รวมถึงการนำเสนอแนวคิดระบอบเผด็จการของพรรคนาซี ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของเธอนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมันเหมือนเราได้ฟังประวัติศาสตร์ผ่านดวงตาจากการเฝ้าสังเกตของอาเรนท์ผู้มีเชื้อสายยิว
...
แถม : น่าเสียดายที่อาเรนท์อยู่ไม่ถึงเลยไม่ทันได้เห็นผล ‘การทดลองของมิลแกรม’ ที่จัดทำขึ้นภายใต้คำถามเดียวกันคือ “มนุษย์เราจะยอมทำในสิ่งที่ขัดกับศีลธรรมในใจได้ เพียงเพราะพวกเขาได้รับคำสั่งหรือถูกสั่งให้ทำจากผู้มีอำนาจอย่างนั้นหรือ?”
...
บางทีผลการทดลองของมิลแกรมนี้ จะให้คำตอบกับระบบความคิดของไอซ์มันน์ได้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
...
อ่านบทความ ‘การทดลองของมิลแกรม กับการตีแผ่ด้านมืดสุดสะพรึงในตัวมนุษย์และคำถามด้านจรรยาบรรณในการทดลองหรือการวิจัย’ ที่ผมเคยเขียนไว้เพิ่มเติม ได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
...
3. นีทเฉอ : ผู้บุกเบิกแนวคิดหลังนวยุคด้วยวิถีอภิมนุษย์และซึ้งสุนทรีย์
...
เครดิตภาพหน้าปกหนังสือ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
“พระเจ้าตายแล้ว” เสียงนี้ดังออกมาจากปากของตัวละครตัวหนึ่ง จากวรรณกรรมหนึ่งภายใต้การเขียนของ ‘ฟรีดริช นีทเฉอ (Friedrich Nietzsche)’ เขาคือนักปรัชญาชาวเยอรมันที่โด่งดังมากคนหนึ่ง และคำพูดนี้ก็ก้องดังอมตะจวบจนปัจจุบัน
...
เท่าที่ผมรู้มา นีทเฉอจัดว่าเป็นไอดอลของเหล่าอาณาจักรไรซ์ที่สาม หรือชื่อที่เราคุ้นหูคุ้นตาอย่างนาซีเยอรมนีนั้นเอง
...
เพราะแนวคิดที่สุดโต่งทะลุเพดานบินอย่าง ‘อภิมนุษย์’ ของนีทเฉอ ที่ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทางตรงใจเหล่านาซีเสียเหลือเกิน เพราะมันดูเป็นแนวคิดที่สนับสนุนคนกล้าชาตินักรบ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นแต่อย่างใด
...
และคำว่า “พระเจ้าตายแล้ว” ก็เหมือนเป็นคำประกาศก้องสำหรับผู้ที่ก้าวขาเข้าสู่ความเป็นอภิมนุษย์ได้
...
กล่าวคือ พระเจ้าเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของศีลธรรม ซึ่งนีทเฉอเชื่อว่ามันคือสิ่งที่คอยกีดขวางความก้าวหน้าและวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่เราสมควรที่จะต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้
...
นอกจากแนวคิดจะทะลุเพดานคลั่งแล้ว ชีวิตของนีทเฉอก็โลดโผนยิ่งกว่าเล่นรถไฟเหาะหรือกระโดดบันจี้จัมพ์จากตึกเบิร์จ คาลิฟา ที่ดูไบ เสียอีก
...
เมื่อกราฟชีวิตของนีลเฉอพุ่งปรี๊ดทะลุปรอท เมื่อเขาได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี
...
ก่อนที่กราฟชีวิตจะเริ่มเด้งขึ้นและดิ่งลงราวกับจังหวะเต้นของหัวใจ เมื่อนีทเฉอเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพเข้ามารุมเร้า จนต้องออกจากการเป็นอาจารย์ และถือโอกาสเที่ยวรอบโลก (ทั้งๆ ที่ร่างกายมีปัญหานะ) และในช่วงชีวิตนี้เองที่นีลเฉอได้เขียนหนังสือ รวมถึงวรรณกรรมต่างๆ ออกมามากมาย
...
จนกระทั่งกราฟชีวิตนั้นทิ้งดิ่งลงมาแบบกู้ไม่ขึ้น ปั้มหัวใจก็ไม่เด้งกลับขึ้นมา เมื่อนีทเฉอประสบปัญหาภาวะทางจิต และต้องใช้ชีวิตที่เหลือในบั้นปลายอยู่ที่โรงพยาบาลบ้า
...
แต่ถึงกระนั้น มีนักวิชาการหลายคนบอกว่า เป็นเพราะน้องสาวของนีทเฉอที่เอาบทความของพี่ชาย (หลังจากที่นีทเฉอเสียชีวิตไปแล้ว) มาตัดแปะข้อความบางส่วนและนำมาประกอบกัน เพื่อให้มีความหมายในเชิงสนับสนุนนาซีและเหยียดชาวยิว (น้องสาวของนีทเฉอเป็นคนที่คลั่งนาซีแบบสุดจัดปลัดบอก ปลัดลาออกยังบอกว่าสุดจัด)
...
ซึ่งทำให้ผมสนใจว่า “สรุปแล้วแนวคิดอภิมนุษย์นี้ มีความหมายอย่างไรกันแน่นะ?” หากนักวิชาการบอกว่ามันไม่ใช่ในแบบที่เราเข้าใจกัน เพราะมันถูกบิดเบือนโดยน้องสาวของนีทเฉอและนาซี
...
และผมก็คิดว่าหนังสือ (ที่อุทิศหน้าจำนวนทั้ง 184 หน้า) นี้ (ให้กับนีทเฉอ) น่าจะสามารถนำเสนอในสิ่งที่ผมสนใจนี้ได้ไม่มากก็น้อย รวมถึงผมน่าจะได้อ่านชีวประวัติของเขาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่านี้อีกด้วย
...
แถม : จริงๆ แล้วมีคำพูดของนีทเฉออีกประโยคที่ผมรู้สึกชอบมากๆ และเชื่อว่าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนว How to น่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย...เพราะมันเป็นประโยคที่ใช้ปลุกใจได้ดีนักแล
...
4. ปรัชญาชีวิต ฌอง ปอล ซาร์ตร์
...
เครดิตภาพหน้าปกหนังสือ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
“มนุษย์คือเสรีภาพ” นี่คือคำกล่าวของ ‘ฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre)’ ที่ทุกคนต้องเงี่ยหูฟังในช่วงศตวรรษที่ 20 และทรงพลังลากยาวมาจวบจนปัจจุบัน
...
ซาร์ตร์ คือนักประพันธ์นวนิยาย บทละคร และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงขจรขจายมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
...
เพราะเป็นอีกหนึ่งนักปรัชญาที่สนับสนุนเสรีของปัจเจกชนแบบสุดขั้ว โดยเฉพาะเมื่อซาร์ตร์ประกาศว่ามนุษย์คือเสรีภาพ ลงในหนังสือที่มีชื่อว่า ‘ตัวตนและความว่างเปล่า (Being and Nothingness)’ ในปี ค.ศ. 1943 ที่ฝรั่งเศสถูกพรรคนาซีบุกเข้ายึดประเทศ
...
(ข้อมูลเพิ่มเติม : วันดีเดย์ที่เป็นปฏิบัติการร่วมของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อเริ่มต้นยุทธการปลดปล่อยประเทศในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตกให้หลุดพ้นจากการยึดครองของกองทัพนาซีนั้น ได้มีการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944)
...
แต่ทว่าเสรีภาพที่ซาร์ตร์เสนอนั้น แม้มันจะหอมหวนดูน่าชวนให้ลิ้มลอง แต่กลับแลดูเป็นเสรีภาพที่น่าท้าทายยิ่งนัก
...
เพราะซาร์ตร์ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “เรามีเสรีภาพในการเลือก ภายใต้ความรับผิดชอบต่อทุกการกระทำของเราเอง”
...
ใครๆ ก็อยากมีเสรีภาพ แต่มีใครบ้างล่ะที่อยากจะรับผิดชอบ
...
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ การที่ผู้เขียนนำแนวคิดของซาร์ตร์มาแปลและเรียบเรียงใหม่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากวรรณกรรมของชาร์ตร์เอง และตัวอย่างที่ผู้เขียนคิดขึ้นเอง
...
ซึ่งน่าจะทำให้ผมเข้าใจแนวคิดของซาร์ตร์ได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับผมอยากทำความรู้จักกับ ‘ลัทธิเอกซิสเตนเซียลิสม์ (Existentialism) หรืออีกชื่อหนึ่งคืออัตถิภาวนิยม’ ที่ซาร์ตร์หงุดหงิดใจ เพราะมันถูกนำไปแปลงจนเละเทะเสียแล้ว แล้วหน้าตาของลัทธิเอกซิสเตนเซียลิสม์ก่อนถูกนำไปศัลยกรรมนั้นมันมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรล่ะ
...
และนอกจากแนวคิดเสรีภาพในการเลือกแล้ว ซาร์ตร์ยังมีแนวคิดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหรือไม่ ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบกับผมได้นะ
...
แถม : แต่เราสามารถนำเสรีภาพในการเลือกของซาร์ตร์ ไปปรับมุมมองความรู้สึกของเราได้เช่นกันนะครับ
...
เช่น หากเรากำลังเครียดหรือโศกเศร้าอยู่ ซาร์ตร์คงตอบเรากลับมาว่า “ที่นายเป็นแบบนี้ก็เพราะนายเป็นคนเลือกที่จะเป็นเอง ทั้งๆ ที่นายมีทางเลือกที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข แต่นายกลับเลือกที่จะจมอยู่กับความเศร้าหรือความเครียด ดังนั้นอย่าเพิ่งตีโพยว่าทำไมฉันต้องเป็นเเบบนี้ แต่ควรถามตัวเองว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะเป็นแบบนี้”
...
และเพิ่มเติม : หากท่านผู้อ่านท่านใด อยากลองอ่านปรัชญาเกี่ยวกับ‘เสรีภาพของการเลือก ภายใต้ความรับผิดชอบ’
...
ท่านสามารถอ่านบทความ ‘เสรีภาพในโลกของ เดอะ เมทริกซ์ (The Matrix) Part 2’ ที่ผมเคยเขียนไว้เพิ่มเติม ได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
...
ท่านสามารถอ่านบทความ ‘เสรีภาพในโลกของ เดอะ เมทริกซ์ (The Matrix) Part 2’ ที่ผมเคยเขียนไว้เพิ่มเติม ได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
...
5. พื้นฐานจิตวิเคราะห์ของจุง
...
เครดิตภาพหน้าปกหนังสือ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
ประมาณปี ค.ศ.1910 ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)’ ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ที่เป็นกลุ่มแนวคิดจิตวิทยากลุ่มแรกๆ ที่ศึกษาด้านจิตวิทยาและบุคลิกภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน
...
ฟรอยด์กำลังนั่งรอพบใครคนหนึ่งอยู่ เขาคนนั้นมีชื่อว่า ‘ยูยีน บลอยเลอร์ (Eugene Bleuler)’ อาจารย์มหาวิทยาลัยซูริก แต่เขาไม่ได้มาคนเดียว
...
เขาพาลูกศิษย์ของเขามาด้วย ศิษย์คนนั้นมีชื่อว่า ‘คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung)’ และนี่เป็นการพบกันครั้งแรกของ 2 สุดยอดนักจิตวิเคราะห์ร่วมสมัย
...
หลังจากนั้น จุงก็ได้เดินทางมาหาฟรอยด์อีกครั้ง และการพบประพูดคุยกันในครั้งนี้ก็สร้างมิตรภาพที่ดีให้กับทั้งคู่
...
จนกระทั่งฟรอยด์ได้ก่อตั้ง ‘สภาจิตวิเคราะห์นานาชาติ (The International Psycho Analytic Association)’ ขึ้น โดยแต่งตั้งให้จุงเป็นถึงประธานสภา
...
ด้วยความที่จุงเป็นคนที่รักในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีบุคลิกภาพที่ดี ทำให้ฟรอยด์ประทับใจมากจนถึงขั้นเที่ยวบอกใครต่อใครว่า “จุงคือผู้ที่จะสืบทอดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขา” เลยทีเดียว
...
แต่อย่างที่เขาว่ากันไว้ ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’
...
ช่วงเวลาที่จุงตัดสินใจลาออกจากการเป็นจิตแพทย์และอาจารย์ เพื่ออุทิศเวลาให้กับการศึกษา หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์นั้น
...
จุงเปิดใจรับกับเรื่องราวใหม่ๆ ทุกอย่าง ตั้งแต่งานด้านวิชาการ ปรัชญาศาสนา รวมไปถึงเรื่องราวของไสยศาสตร์
...
ซึ่งนั้นสร้างความผิดหวังให้กับฟรอยด์เป็นอย่างมาก เพราะฟรอยด์ต้องการให้จิตวิเคราะห์มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จุงกลับเอาเรื่องราวไสยศาสตร์มาเป็นตัวแปรในการกำหนดทฤษฎีด้วย
...
เมื่อแนวทางของทั้งคู่กระเด็นไปคนละทิศละทาง การแตกหักจึงเกิดขึ้น
...
จุงออกจากสภาจิตวิเคราะห์นานาชาติ เพื่อไปศึกษาและเผยแพร่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Jungian Psychology
...
จุงมีความชื่นชอบในพุทธศาสนาเอาเสียมากๆ จนยกให้พระสัพมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าถึงจิตใจของมนุษย์ได้อย่างเก่งกาจและยากจะหาผู้ใดมาเทียบ
...
แต่น่าเสียดายที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของจุงนั้น ไม่ค่อยมีการนำมาแปลไทยและจัดจำหน่ายเสียเท่าไร เมื่อเทียบกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
...
หากจะมีบ้างก็กล่าวถึงแค่พอหอมปากหอมคอ ควบคู่ไปกับกับแกล้มทฤษฎีจิตวิเคราะห์ฉบับรวมมิตรพิเศษใส่ไข่เพียงเท่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบพ่วงติดมากับการเล่าประวัติของฟรอยด์เสียมากกว่า)
...
หนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นเล่มแรกๆ เลยที่เขียนเจาะถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของจุงเพียงคนเดียว (เท่าที่ผมเห็นนะ)
...
เพราะฉะนั้นมันจึงน่าสนใจมากๆ สำหรับผม คือรูปร่างหน้าตาของทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้จะเป็นอย่างไร จะมีการนำหลักปรัชญาศาสนามาปรับใช้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นทฤษฎีที่ทำความเข้าใจได้ง่ายหรือไม่ (ส่วนตัวแอบกังวลตรงนี้อยู่ ฮ่าๆ)
...
แถม : จุงมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีลักษณะความเป็นชายและหญิงอยู่ในตัว ทั้งด้านกายภาพ อารมณ์ และจิตใจ (ซึ่งจุงเรียกลักษณะชายว่า Anima และเรียกลักษณะหญิงว่า Animus)
...
ซึ่งในเวลาอีกหลายปีต่อมา ความคิดของจุงก็สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ค้นพบว่าโดยธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะหญิงหรือชายต่างก็มีฮอร์โมนของทั้งสองเพศอยู่ในร่างกาย (โดยฮอร์โมนเพศหญิงเรียกว่าเอสโตรเจน ส่วนฮอร์โมนเพศชายจะเรียกว่าแอนโดรเจน)
...
และหากผู้ชายคนใดมีฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่า ในด้านกายภาพ อาจมีผิวพรรณที่ผุดผ่อง ขนน้อย ส่วนในด้านอารมณ์และจิตใจ อาจทำให้เป็นคนรักสงบไม่ชอบความรุนแรง เป็นต้น
...
แต่หากผู้หญิงคนใดมีฮอร์โมนเพศชายมากกว่า ในด้านกายภาพอาจทำให้มีเสียงแหบห้าว ขนดก หรือมีเรี่ยวแรงมากกว่าผู้หญิงทั่วไป ส่วนในด้านอารมณ์และจิตใจ ก็อาจทำให้เป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบ เป็นต้น
...
บทความไม่ยาวไม่ใช่หมูแว่นจริงๆ ฮ่าๆ
...
เบื้องต้นตอนนี้เล็งไว้ที่ 5 เล่มนี้ก็จริง แต่เมื่อถึงวันงานจริงๆ ผมอาจมีการเปลี่ยนใจกระทันหันอีกครั้งก็เป็นได้ ฮ่าๆ
...
แหล่งข้อมูลประกอบการพรีวิวหนังสือ
...
วิจักขณา. (2562). แก่นปรัชญาตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมิต.
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา : ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. นนทบุรี : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
กิติกร มีทรัพย์. (2552). ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการทำงานและฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศรีเรือน แก้วกังวาน. (2561). ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
มูหัมหมัดฮารีส กาเหย็ม. (2562). จุดตัดบนฟากฟ้า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ.
วิกิพีเดีย. งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ. [เว็บไซต์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4
กรณีธรรมกาย. ศาตราจารย์คาร์ล กุสตาฟ จุง. [เว็บไซต์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563. สืบค้นจาก http://7meditation.blogspot.com/2016/03/blog-post_918.html
พี่น้ำผึ้ง. Tsundoku (ซึนโดะขุ) : ศิลปะของการซื้อหนังสือมาดองไว้. [เว็บไซต์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563. สืบค้นจาก https://www.dek-d.com/writer/51691/?fbclid=IwAR3bIo1Uxb9CYFT9ZQxBYupOd7aRsMR6xup1L55YRXPnyzsmkLNLF49jkdY
โฆษณา