27 มี.ค. 2020 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่างานชิมไวน์
เรื่องแรก
ในงานชิมไวน์ครั้งหนึ่ง โดยสถานทูตจัดให้ผู้นำเข้าได้เอาไวน์ของตนออกมาให้เหล่าบรรดานักชิมไวน์ได้ลองชิม ในธีมของไวน์ Malbec จากอาร์เจนติน่า
ผมเจ๋อไปยืนเกาะที่โต๊ะจากผู้นำเข้ารายหนึ่ง ซึ่งตัวเจ้าของก็มีความรู้เรื่องไวน์ในระดับที่มีชื่อเสียงพอตัว พอได้ไวน์ลงแก้วแล้วยกขึ้นดม “กลิ่นมันแปลกๆ นะ ผมว่าไวน์มันคอร์ก” ผมบอกน้องคนที่รินไวน์ให้
น้องคนนั้นทำสีหน้างุนงงกับคำว่า ไวน์มันคอร์ก ไป 2 วินาที แล้วก็หยิบไวน์ขวดนั้นเทต่อให้ผู้มาชิมท่านถัดไป
“ไวน์มันคอร์กนะครับ” ผมบอกกล่าว "ในใจ" แล้วก็ขอตัวเดินจากไป
ในการจัดการไวน์สำหรับงานชิมไวน์อย่างมืออาชีพนั้น เจ้าของไวน์หรือผู้จัดจะมีความละเอียดและใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อย เขาเหล่านั้นจะยอมเสียสละเวลาสักเล็กน้อยในการปรับอุณหภูมิของไวน์ตามแต่ประเภทให้พร้อมชิม เตรียมเปิดไวน์ไว้ล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม และจะคอยรินไวน์เล็กน้อยลงแก้วเพื่อตรวจสอบว่าไวน์ที่เตรียมมานั้นไม่มีข้อบกพร่อง และเมื่อพบเจอไวน์ที่ผิดปกติ เขาจะเปลี่ยนขวดใหม่ทันที หรือไม่ก็ยอมตัดรายการนั้นออกไปจากไวน์ลิสต์สำหรับการชิมเลยทีเดียว เหนือสิ่งอื่นใด การให้ความรู้เรื่องไวน์กับสต๊าฟหรือทีมงานของตนก็สำคัญไม่แพ้เรื่องคุณภาพของไวน์เช่นกัน
เรื่องที่สอง
“อีก น้องรินมาอีก รินแค่นี้จะไปพอชิมได้ไง”
“แก้วซ้ายนี้ของพี่ แก้วขวานี้ของเพื่อนฝากมา รินมาทั้งสองแก้วเลยนะ”
“ไม่ต้องน้อง เดี๋ยวพี่รินเอง จะได้ไม่เสียเวลา”
พฤติกรรมนี้พบได้ทั่วไปในงานชิมไวน์ เกิดได้ทั้งกับคนไทยคนต่างชาติ ผู้ชายและผู้หญิง อย่างไม่เลือกหน้า
โดยมารยาทสากล การไปร่วมงานชิมไวน์ประเภทที่จัดให้ชิมฟรีนั้น จุดประสงค์คือเพื่อการประเมินและค้นหาไวน์ที่มีคุณภาพและราคาตรงตามที่ผู้ชิมต้องการ ไม่ได้เป็นการดื่มเฮฮาปาร์ตี้ ดังนั้น แต่ละคนจะหยิบแก้วชิมในมือเพียง 1 ใบที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ให้ ไล่ชิมไวน์ทุกชนิดทุกประเภทด้วยแก้วใบนี้เพียงใบเดียว ยกเว้นจะทำหายหรือลืมว่าเอาไปวางไว้ตรงไหน อันนี้อนุโลมให้หยิบใบใหม่ได้
และโดยหลักการ เจ้าของไวน์จะรินไวน์ให้ทุกคนเพียง “หนึ่งคำ” ที่เพียงพอจะให้เราดมให้ได้กลิ่น และเอาเข้าปากในปริมาณที่จะได้รสสัมผัสเพื่อประเมินเนื้อน้ำ และโดยส่วนมากจะไม่กลืนน้ำไวน์ลงคอ เพียงแค่ “split” น้ำไวน์ทิ้งลงในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วพิจารณา aftertaste ของไวน์ที่คงค้างในปาก ด้วยวิธีการนี้ เหล่ามืออาชีพจึงสามารถชิมไวน์ได้เป็นร้อยๆ รายการในวันเดียว โดยไม่มีอาการมึนเมามากนัก และด้วยหลักการ “หนึ่งคำ” นี้เอง ทำให้เจ้าของไวน์สามารถบริหารต้นทุนไวน์ที่นำมาชิม(ฟรี) และเพิ่มโอกาสให้นักชิมไวน์ได้มาลิ้มรสไวน์ของตนได้จำนวนที่มากขึ้นด้วย
มารยาทอีกข้อหนึ่งที่พึงระลึกก็คือ ไม่จำเป็นต้องถือแก้วมาเพื่อรินไวน์เผื่อแผ่ใคร เพราะมันดูตะกละตะกลามมากกว่ามีการน้ำใจ และอย่าได้ถือวิสาสะหยิบขวดไวน์ขึ้นมารินเองแม้จะไม่มีใครอยู่ตรงนั้นเพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติกับเจ้าของไวน์ที่นำไวน์มาให้ชิม
เรื่องที่สาม
“ขวดนี้รสชาติแย่ ไม่ดี อย่าไปชิมเลย”
“ขวดนั้นเปรี้ยวมาก ฝาดเฝื่อนเต็มปาก ไม่เจออะไร”
“ชื่อไวน์อะไรไม่คุ้นหู ไวน์ไทยเหรอ จะไปสู้ไวน์นอกได้ไง”
ในยุคที่กูรู้ไวน์เพิ่มขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง แต่มารยาทการชิมไวน์กลับลดน้อยถอยลงจนน่าใจหาย หลายครั้งเราต้องการเพียงพื้นที่เงียบๆ เพื่อพิจารณาไวน์ที่อยู่ในแก้วและในปากโดยปราศจากการชี้นำจากเสียงนกเสียงการอบข้าง หากพบว่าไวน์ที่ชิมอยู่นั้นไม่ตรงจริตกับตัวผู้ชิม ก็อย่าได้หลุดปากเอ่ยวิจารณ์มันออกมา ให้จดมันลงไปในกระดาษโน้ต หรือทดไว้ในใจก็พอ เช่นกันในทางตรงกันข้าม หากรู้สึกว่าไวน์ที่เราชิมนั้นดี ดีมาก ดีจนอยากพูดออกมา ก็ขอให้สงวนคำพูดนั้นและจดลงบันทึกเช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าไวน์ที่เราชอบว่าดี คนอื่นที่อยู่ข้างๆ เขาอาจจะไม่ได้คิดเช่นเดียวกับเราก็เป็นได้ แค่กล่าวขอบคุณหรือกล่าวชมกับเจ้าของไวน์ที่นำมาให้ชิมเพียงเล็กน้อยก็เป็นมารยาทที่ดีมากมายแล้ว
นี่รวมถึง เมื่อใดก็ตามที่ได้ไปเยือนไร่หรือโรงผลิตไวน์ ขอให้สงวนท่าทีและลมปากอย่าได้เอื้อนเอ่ยกล่าวถึง หรือเปรียบเทียบไวน์เจ้าอื่นโดยเฉพาะคู่แข่งของไร่ที่เราไปเยียบออกมาโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการไร้มารยาทอย่างรุนแรง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา