27 มี.ค. 2020 เวลา 11:00 • สุขภาพ
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! Work From Home
ในช่วงที่ โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง Work from Home ก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับออฟฟิศที่ใช้แก้ปัญหา ซึ่งการทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่เพียงแค่บอกให้พนักงานย้ายสถานที่ทำงานเท่านั้น เพราะบริษัทต้องสนับสนุนทั้งในแง่วิธีการ คำแนะนำ และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ไม่เคยให้พนักงาน Work From Home มาก่อน
 
และ www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่ามีพนักงานหลายคนที่เข้าใจผิดว่า Work from Home สบายกว่าการทำงานในที่ทำงาน จะดูหนัง ฟังเพลง ใส่ชุดนอนทำงาน หรือแม้แต่พักบ้างระหว่างทำงาน ก็ทำได้ ซึ่งที่จริง Work from Home ก็มีรูปแบบที่แต่ละองค์กรกำหนดมา และยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับ Work from Home ที่เราเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้
1. Work from Home ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้
ภาพจาก bit.ly/38ZX3qK
หลายคนอาจคิดว่า Work from Home เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ แต่ที่จริง Work from Home เคยเกิดขึ้นแล้วที่อังกฤษ เมื่อ 300 กว่าปีก่อน หรือใกล้ตัวเข้ามาหน่อยก็ในปี 2008 ที่อเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ Global Financial Crisis ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในอเมริกาชะลอตัวและไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น บริษัทต่างๆ จึงพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด รวมถึงลดขนาดของตัวออฟฟิศและสนับสนุนให้พนักงานออฟฟิศทำงานที่บ้านมากขึ้น
 
ตัวเลขของ Work from Home ในอเมริกาจึงมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นั้น จาก 4.1% ในปี 2008 เป็น 5.4% ในอีก 10 ปีต่อมา
2. Work from Home ทำให้โลกได้รู้จักกับ “เซอร์ไอแซค นิวตัน”
ภาพจาก pixabay.com
เมื่อปี 1665 ตอนนั้น ไอแซค นิวตันยังเป็นแค่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เวลานั้นได้เกิดกาฬโรคระบาดหนัก คนส่วนใหญ่จึงต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่สาธารณะ มหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ก็สั่งให้นักศึกษาไปเรียนหนังสือจากที่บ้าน นิวตันเองก็เช่นกันเขากลับไปที่ Woolsthorpe ซึ่งอยู่ห่างจากเคมบริดจ์ไปประมาณ 60 ไมล์ และในช่วงที่นิวตัน “Work from Home” นี่เองที่ทำให้โลกรู้จักตัวตนของเขาในหลายอย่างเช่น การแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่เขาเริ่มทำตั้งแต่ตอนอยู่เคมบริดจ์ และผลงานนี้ก็กลายมาเป็น “แคลคูลัส” ในยุคแรก ตามด้วยการนำปรึซึมมาทดลองในห้องนอน และทำให้เกิดทฤษฏีแสงและสายตาในที่สุด ที่ชัดเจนที่สุดคือ การค้นพบทฤษฏีแรงโน้มถ่วง ซึ่งก็เกิดในช่วงที่เขา Work from Home และหลังจากที่นิตันกลับเข้ามาเรียนที่เคมบริดจ์อีกครั้งในปี 1667 เขาก็นำทฤษฏีที่ทดลองสำเร็จมานำเสนอและทำให้เขากลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลกมาถึงทุกวันนี้
3. Work from Home ลดต้นทุนของบริษัทได้จริง
ภาพจาก pixabay.com
Jame Liang ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Ctrip บริษัทนำเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนทดลองการทำงานที่บ้านขึ้น โดยใช้พนักงาน Call Center ของ Ctrip กว่า 500 คน แบ่งเป็นคนที่ต้องทำงานที่บ้าน และคนที่ยังต้องทำงานที่สำนักงานเหมือนเดิมอย่างละเท่าๆ กัน ผลจากการทดลองพบว่า Ctrip สามารถประหยัดเงินค่าเช่าพื้นที่สำนักงานได้มากถึง 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,815 บาท ต่อพนักงาน 1 คนตลอดระยะเวลาการทดลอง 6 เดือน และไม่ใช่แค่การประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 13.5% อีกด้วย
4. Work from Home ลดอัตราการลาออกของพนักงานได้
ภาพจาก pixabay.com
หนึ่งในเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เบื่องานออฟฟิด คือต้องตื่นแต่เช้ายิ่งบ้านอยู่ไกล ยิ่งต้องเร่งรีบ ไหนจะปัญหาการจราจร ไปทำงานสายก็โดนหักเงินเดือน ตอนเย็นก็ต้องรีบฝ่ารถติดกลับบ้าน ถึงบ้านก็ดึก มีเวลาพักน้อย ตอนเช้าก็ต้องรีบตื่นไปทำงานอีก วนเวียนอยู่แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่ง Work from Home ช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ได้ มีผลการศึกษาที่ระบุว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในงานที่สูงมาก ยิ่งกว่านั้นทำให้อัตราการลาออกจากที่ทำงานลดต่ำลงถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากจะลดอัตราการลาออกของพนักงานแล้ว บริษัทต่างๆ ที่เสนอให้พนักงานทำงานจากที่บ้านยังมีโอกาสสูงที่จะได้พนักงานคนรุ่นใหม่มาร่วมงานด้วย เพราะมีงานศึกษาที่พบว่า 40% ของพนักงานรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาชอบการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเจอตัวเป็นๆ หรือคุยผ่านทางโทรศัพท์
5. บริษัทบางแห่งมีการจ่ายเงินเดือนน้อยลงเมื่อ “Work from Home”
ภาพจาก pixabay.com
จากการศึกษาของ American Economic Review พบว่า บริษัทในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้พนักงาน Work From Home จะหักรายได้จากพนักงานประมาณ 8% จากเงินเดือน นั่นหมายความว่า จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเพิ่มผลิตผลของงานใดๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต้องแบกต้นทุนรายจ่ายเงินเดือนของพนักงานที่ 30% ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 3% แต่หากอนุญาตให้มีการทำงานจากที่บ้าน ทำให้ลดรายจ่ายเงินเดือนพนักงานลงได้อีก 8% สุดท้ายบริษัทจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3% โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
6. ตัวเลขของ Work from Home เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพจาก pixabay.com
สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐเมริกา (National Bureau of Economic Research) พบว่าการทำงานที่บ้านได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นเรื่องปกติของการทำงานทั่วโลก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนที่ทำงานที่บ้านในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แม้ว่าหากคิดเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์อาจดูน้อย เพียงแค่ 2.4% เท่านั้น แต่ถ้าเทียบกับคนทำงานในสหรัฐอเมริกาที่มีกว่า 150 ล้านคน จำนวนคนที่ทำงานที่บ้านจะมีมากถึง 3.6 ล้านคน ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนามีคนกว่า 10-20% กำลังทำงานที่บ้าน
7. Shopify สนับสนุนเงิน 1,000 ดอลลาร์ให้พนักงานซื้ออุปกรณ์ Work from Home
ภาพจาก pixabay.com
Shopify คือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับร้านค้าออนไลน์ สัญชาติแคนาดา มีพนักงานทั่วโลกกว่า 5,000 คน โดยปกติแล้วพนักงานของบริษัทจะทำงานในรูปแบบ Work From Home อยู่แล้วกว่า 1,000 คน สิ่งที่น่าสนใจของ Shopify ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศให้พนักงานทั้งบริษัททำงานจากบ้าน เพราะบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในโลกก็ประกาศให้พนักงานทำงานจากบ้านกันเป็นเรื่องปกติ เช่น Google ที่ให้พนักงานกว่า 100,000 คนทำงานจากบ้านเช่นกัน แต่ความเหนือขั้นของ Shopify คือการประกาศว่า ทางบริษัทพร้อมให้เงินสนับสนุนพนักงานคนละ 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 กว่าบาท เพื่อให้พนักงานซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับทำงานจากที่บ้าน เช่น โคมไฟ เก้าอี้นั่งทำงาน โต๊ะทำงาน และรวมถึงค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากการนั่งทำงานในออฟฟิศมาเป็นที่บ้านของพนักงานเอง
8. ข้อเสียของ Work from Home
ภาพจาก pixabay.com
แม้หลายคนจะมองว่า Work from Home มีแต่ข้อดีและน่าสนับสนุนให้องค์กรยุคใหม่ใช้วิธีการทำงานแบบนี้แต่เรื่องนี้ก็มีข้อเสียอยู่ในตัวเองเช่นกัน ยกตัวอย่าง คือ การไม่ได้จดจ่อและมีสมาธิอยู่กับงานเพียงอย่างเดียว , ความรู้สึกเหงาไม่ได้เจอเพื่อน, ความสัมพันธ์ในองค์กรและการสื่อสารด้อยประสิทธิภาพลง , สิ่งเร้าและรบกวนในบ้านมีปัจจัยหลายอย่าง , หากไม่มีการวางแผนและตั้งใจที่ดี อาจทำให้คุณภาพของงานลดลงไปด้วย ที่สำคัญคือการที่ต้องมีเทคโนโลยีเชื่อมต่อพนักงานตอลดเวลา นั่นอาจหมายถึง เราต้องพร้อมทำงานตลอดเวลาด้วยเช่นกัน แม้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตอน 8 โมง เลิก 5 โมงเย็น แต่นั่นหมายความว่าเราต้องทำงานก่อน 8 โมง และหลัง 5 โมงเย็นได้ด้วย
9. เพลง Work from Home กลับมาฮิตอีกครั้ง
เพลง Work from Home ของวง Fifth Harmony ที่เคยเปิดตัวไปเมื่อปี 2016 ได้กลับมาฮิตอีกครั้งในสถานการณ์ตอนนี้ โดยเว็บไซต์นิตยสาร People รายงานว่า เพลง Work from Home ได้กลับเข้ามาในชาร์ต iTunes ของอเมริกา และกระโดดขึ้นสูงถึง 250 ลำดับ ขึ้นมาถึง 957 มียอดสตรีมผ่าน Spotify อยู่ที่ 269,418 ครั้ง และหลายคนบอกว่า นี่จะเป็นเพลงประจำช่วงโควิด-19 กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ เพลง Work from Home ยังสามารถขึ้น Top 5 ในเกือบทุกประเทศ โดยมิวสิกวิดีโอเองก็มียอดวิวสูงถึง 2.2 พันล้านครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็เต็มไปด้วยคอมเมนต์ใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์โควิด-19 ส่วนในทวิตเตอร์ก็เต็มไปด้วย Meme ที่คนตัดต่อบางส่วนของมิวสิกวิดีโอหรือการแสดงเพลงนี้ พร้อมเขียนแคปชันตลกต่างๆ
10. Work from Home ในประเทศไทย
ภาพจาก pixabay.com
เราต้องยอมรับว่า Work from Home เป็นรูปแบบการทำงานที่เห็นเด่นชัดในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวคิด ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่ได้ทดลองใช้วิธี Work from Home แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เต็มรูปแบบ กำหนดให้ Work from Home แค่บางวัน แต่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมของหลายองค์กรหากจำเป็นต้องปฏิวัติรูปแบบการทำงานให้เป็นไปตามสถานการณ์ แต่ไม่ว่าอย่างไรหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น Work from Home ในเมืองไทยก็อาจจะยังเป็นแค่แนวคิด แม้ผลทดลองส่วนใหญ่จะระบุว่าบริษัทลดต้นทุนได้จริง ลดรายจ่ายได้จริง แต่ในแง่ความรู้สึกของนายจ้าง ก็คงอยากให้ลูกจ้างมาทำงานที่บริษัท เพราะรู้สึกว่าสั่งงานได้ง่ายกว่า และทำให้ลูกน้องทำงานเต็มประสิทธิภาพได้มากกว่า
 
ถึงตอนนี้นอกจาก Work from Home ที่เป็นหนึ่งในวิธีรับมือกับโควิด-19 ล่าสุดได้มีการสั่งปิดสถานบันเทิง ผับ โรงมหรสพ สถานศึกษา สนามมวย ไปเป็นการชั่วคราว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้ดีแค่ไหน ไม่รวมการยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ให้ไปชดเชยในเดือนอื่นๆ ก็คงต้องตามดูว่าหลายมาตรกรเหล่านี้จะป้องกันโควิด-19 ไม่ให้ระบาดมากขึ้นได้มากแค่ไหน ในฐานะประชาชนธรรมดาก็ได้แต่ป้องกันตัวเองกันต่อไป ยุคนี้จะหวังพึ่งภาครัฐบางทีก็ไม่ทันใจและไม่เด็ดขาดพออีกด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaisme
อ้างอิงจาก - https://bit.ly/2UiohDE
โฆษณา