20 มี.ค. 2020 เวลา 07:20 • ข่าว
FOCUS : วิกฤตอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจาก Coronavirus ได้ทำลาย Demand ทั้งหมดลง
วิกฤตการณ์สำหรับสายการบินกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน โดย Lufthansa (บริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป) ที่ต้องกักบริเวณลูกเรือเกือบทั้งหมด ออกมาเตือนว่าอุตสาหกรรมการบินจะไม่สามารถอยู่รอดในการระบาดของ Coronavirus ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อชดเชย Demand ที่หายไปอย่งน่าตกใจครั้งนี้
เหล่าผู้บริหารของอุตสาหกรรมการบินต่าง ๆ ทั่วโลก กำลังร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากมาตรการกักบริเวณของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก
"เราคาดว่าความต้องการจะลดลงไปมากกว่านี้ ก่อนที่มันจะดีขึ้น และด้วยการปฏิบัติงานที่น้อยที่สุด ทำให้เราต้องการพนักงานลดลงในตอนนี้" Robert Isom ประธานบริษัทของ American Airlines กล่าวกับพนักงานในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (พูดง่าย ๆ คือเตรียมปลดพนักงาน เนื่องจากบริษัทขาดรายได้)
และในขณะนี้ดูเหมือนสายการบินต่าง ๆ ของอเมริกากำลังจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารลดลงจนเกือบเป็น 0 ภายในสิ้นไตรมาสแรก และยังคงเกือบ 0 อยู่จนถึงตอนนี้
นั่นอาจหมายความว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นการคืนเงินให้กับลูกค้าถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์
Carsten Spohr ประธานฝ่ายบริหารของ Lufthansa กล่าวว่า "การแพร่กระจายของ Coronavirus ทำให้เศรษฐกิจโลก และบริษัทของเราอยู่ในภาวะฉุกเฉินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และในปัจจุบันไม่มีใครสามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้"
สายการบิน Lufthansa ซึ่งมีเครื่องบินทั้งหมด 763 ลำ แต่ปัจจุบันมีถึง 700 ลำ ที่ต้องจอดนิ่งเนื่องจากวิกฤตครั้งนี้
"ก่อนหน้านี้เราวางแผนเพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ทุก ๆ 10 วันในปีนี้ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว" Spohr กล่าวกับผู้สื่อข่าว
Carsten Spohr
สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐทุกแห่งล้วนมีการลดเที่ยวบิน ลดจำนวนเครื่องบินนับร้อยลำ ตัดค่าใช้จ่ายขององค์กร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงการขอความร่วมมือให้พนักงานทำงานโดยไม่รับค่าแรง พักชำระหนี้ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาบริษัท Boeing เรียกร้องเงินช่วยเหลือจำนวน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเข้าถึงสภาพคล่องของภาครัฐและเอกชนรวมถึงการค้ำประกันเงินกู้สำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของสหรัฐ ที่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักจากการระบาดครั้งนี้
นักวางแผนของสหรัฐฯ ได้บอกกับผู้ร่างกฎหมายว่าต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่อง และอุตสหากรรมการบินไม่สามารถยกระดับสภาพตลาดในปัจจุบันได้โดยลำพัง
สำหรับอเมริกาในตอนนี้ กลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของ American Airlines, United Airlines, Delta Air Lines, Southwest Airlines และอื่น ๆ กล่าวว่าอุตสาหกรรมการบินกำลังต้องการเงินช่วยเหลือจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินกู้ยืมอีกจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ทั้งหมด 5 หมื่นล้านดอลลาร์)
รวมถึงพวกเขายังเรียกร้องให้มีการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอด โดยพวกเขากำลังเรียกร้องการลดหย่อนภาษีที่อาจมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จนถึงสิ้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้พวกเขายังต้องการเงินช่วยเหลือและกู้ยืมอีก 8 พันล้านดอลลาร์ สำหรับบริการด้านขนส่งสินค้า
รัฐบาลหลายแห่งเริ่มทำหน้าที่
แหล่งข่าวของรัฐบาลในอินเดียบอกกับ Reuters ว่ารัฐบาลกำลังวางแผนช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 1.6 พันล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมการบินที่ได้รับผลกระทบจาก Coronavirus
สายการบิน SpiceJet ของอินเดีย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่าได้ระงับการดำเนินงานระหว่างประเทศส่วนใหญ่ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมถึง 30 เมษายน ในขณะที่คู่แข่งอย่าง IndiGo ขอลดค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงานลงถึง 20%
New Zealand ให้เงินช่วยเหลือระลอกแรกมูลค่า 600 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (344 ล้านดอลลาร์) สำหรับสายการบินที่ได้รับผลกระทบ
ฝั่งไทยเราเป็นอย่างไรบ้าง ?
"การบินไทย" เข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน หยุดบิน 50% อาจพักชำระหนี้-ล้มละลาย
การบินไทยกำลังเจอวิกฤตอย่างหนักเช่นกัน หลังจากไม่มีรายได้เข้า พนักงานบางส่วนพักงาน และไม่ได้รับเงินเดือน อีกบางส่วนต้องทำงานที่บ้านแทน และในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับการประกาศพักชำระหนี้ ลดเงินเดือน หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
การประชุมเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า บริษัทกำลังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในเรื่องของสภาพคล่อง โดยปัจจุบันการบินไทยหยุดเที่ยวบินไปยังประเทศต่าง ๆ แล้ว 50% ทำให้รายได้ที่เคยได้เดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ก็หายไปในสัดส่วนเดียวกันด้วย (หายไป 5 พันล้านบาท)
ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ฝ่ายบริหารและบอร์ดจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับพนักงานของบริษัทกว่า 35,000 คน เพื่อปรับลดเงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน (Perdiem) และอื่น ๆ เพิ่มเติม แม้ว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารและบอร์ดจะปรับลดเงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม และสวัสดิการอื่น ๆ ลง 50% ไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องขออนุมัติจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการทำ Moratorium หรือ ประกาศการพักชำระหนี้ หรือเลื่อนการชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงิน และธนาคารเจ้าหนี้ออกไปก่อน และยังต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมด ถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของการบินไทยที่มีอยู่ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การบินไทยจะต้องล้มละลายเป็นแน่แท้
วิเคราะห์และสรุปโดย World Maker
เราจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวนั้นเป็น "กลุ่มแรก" ที่ได้รับผลกระทบจาก Coronavirus เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์โดยตรงเกี่ยวกับ "การเดินทาง"
แต่วิกฤตครั้งนี้ยังจะไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อต่อไปผลระทบจะลุกลามไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เพราะธรรมชาติของโลกเรานั้นมี Supply Chain ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด
อุตสาหกรรมการบินเป็นเหมือน Domino ตัวแรกที่พึ่งล้มลงไป และเมื่อเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเราจะเห็นเริ่มข่าวว่าอุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวซบเซา และจะสืบต่อไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกเป็นทอด ๆ
สิ่งที่เราควรตระหนักไว้เสมอคือ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ยังไม่ใช่ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของวิกฤตครั้งนี้ ส่วนสิ่งที่เราควรทำก็คือ อดทนให้ผ่านช่วงนี้ไป ดูแลสุขภาพตัวเอง รู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น บริหารเงินให้ดี เดี๋ยวพอวิกฤตผ่านพ้นไป สิ่งที่ตามมาก็คือโอกาส
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา