22 มี.ค. 2020 เวลา 07:51 • การศึกษา
นายจ้างถูกทางการสั่งปิดร้านเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่?
แล้วเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เข้ามาถึงจุดที่ทางการต้องสั่งปิดสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเป็นระยะเวลาชั่วคราว
อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตลาด เนื่องจากสถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คน
โดยยกเว้นให้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร (เฉพาะสั่งกลับบ้าน) ยารักษาโรค
ซึ่งแน่นอนว่าการสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และอาจลุกลามเป็นโดมิโนได้
เพราะเมื่อนายจ้างไม่สามารถเปิดร้านเพื่อขายสินค้าหรือบริการได้ ก็ย่อมกระทบไปถึงรายได้ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายในกิจการของร้าน
และกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากเหตุการณ์นี้ก็คือ ลูกจ้างในร้านค้าเหล่านั้นนั่นเอง
ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนั้น ได้กล่าวถึงกรณีที่นายจ้างจะต้องหยุดกิจการไว้อย่างไรบ้างนั้น ผมขอแยกเป็นกรณีอย่างนี้นะครับ
1) ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นที่สำคัญอันมีผลต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
"ซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย"
และทำให้นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว
กรณีอย่างนี้กฎหมายบอกว่า....นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อลดลงมาก ทำให้หน่วยงานด้านการประกอบมีคำสั่งซื้อลดลง
นายจ้างจึงสั่งให้พนักงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน
ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างสามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6969/2548)
2) นายจ้างมีความจำเป็นจะต้องหยุดกิจการชั่วคราวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเหมือนกับกรณีที่ 1
โดยมีสาเหตุเกิดจาก..."เหตุสุดวิสัย"
ซึ่งในประเด็นนี้ยังไม่มีแนวคำพิพากษาฎีกาออกมาเป็นบรรทัดฐาน แต่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองโดยอ้างอิงจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กรณีเกิดโรคระบาดและทางการได้มีคำสั่งให้ปิดร้านชั่วคราวนั้น ย่อมส่งผลให้นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงเวลาที่กำหนด
จึงน่าจะถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถโทษนายจ้างได้
เพราะสาเหตุที่นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานได้ เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้แม้นายจ้างจะได้ใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม
และเมื่อนายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำโดยพฤติการณ์ที่จะโทษนายจ้างไม่ได้ นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิด จ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาที่หยุดกิจการชั่วคราว (หลัก no work no pay)
อย่างไรก็ตามหากนายจ้างรายใดจะให้ความช่วยเหลือลูกจ้างโดยให้สิทธิต่าง ๆ มากกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
และหากลูกจ้างรายใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ สามารถขอคำปรึกษาจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ได้
ปิดท้ายบทความนี้...ในวันที่วิกฤตไวรัส COVID-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกนั้น
ขอให้ตระหนักรู้ว่าไม่ใช่แค่เราเพียงคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
บรรดาผู้ประกอบการซึ่งเป็นนายจ้างก็คงไม่อยากจะปิดกิจการ เพราะธุรกิจคือแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงครอบครัวของพวกเขาเช่นเดียวกัน
ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจและร่วมมือกันเพื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปให้ได้
ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนี้ทุกฝ่ายคงหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวไปไม่ได้
ขึ้นอยู่แค่ว่าใครจะบอบช้ำมากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้น...
แต่สำคัญคือ "ต้องรอดไปด้วยกันให้ได้" แล้วนำเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนเพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
#รจรปดก 😁💪
references
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา