23 มี.ค. 2020 เวลา 05:44 • ธุรกิจ
บุกตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-border eCommerce ตอนจบ
หากอยากลงทุนนำสินค้าเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆของประเทศจีน ต้องมีค่าใช้จ่าย ลงทุนเท่าไรบ้าง ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีแพลตฟอร์มใดเป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้ ผู้เขียนได้ทำการสรุปมาดังนี้ค่ะ
ค่าใช้จ่ายและการลงทุนเบื้องต้นของแพลตฟอร์ม CBEC หลักๆ ในจีน
หากผู้ประกอบการต้องการที่จะเปิดร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ การลงทุนเบื้องต้นถือว่าเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร เพราะมีค่าใช้จ่ายหลากหลาย อาทิ ค่ามัดจำ 15,000-30,000 USD ค่ารายปี 1,000-10,000 USD ค่า platform commission ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มตามประเภทของสินค้า 2%-10% แต่สำหรับแพลตฟอร์มรายย่อยที่ไม่ได้ติด 70% ในส่วนแบ่งการตลาด ค่ามัดจำหรือค่ารายปีที่สูงก็มีราคาที่ต่ำลงมา ดังนั้นไม่ได้บอกว่า ผู้ประกอบการจำเป็นขายบนแพลตฟอร์มใหญ่เสมอไป นี่เป็นเพียง range ของราคาหากต้องการนำเข้าสินค้าไปบนแพลตฟอร์มที่มี traffic สูง
หากผู้ประกอบการต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือจ้าง TP ซึ่งจะเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศจีน จำเป็นต้องมีงบประมาณสำหรับค่าบริหารร้านรายเดือน ที่มีราคาสูงถึง 300,000-500,000 บาทหรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของแต่ละบริษัท และยังต้องเสียค่า commission ให้อีกในอัตรา 7%-10% ของยอดขายอีกด้วย นอกจากนี้ หากต้องการจะทำให้สินค้าคุณเป็นที่รู้จัก คุณจำเป็นต้องลงทุนในค่าการตลาด ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ อีกด้วย
ผู้เขียน ไม่ขอเจาะลึกไปถึงราคา ค่าบริการ เพราะจะมีรายละเอียดที่ต่างกันและมีชี้แจงบนแต่ละเวบไซต์ของแพลตฟอร์ซึ่งผู้เขียนได้แนบ link ไว้ในข้อมูลอ้างอิงแล้ว
มาทำความรู้จักกับผู้เล่นแพลตฟอร์ม CBEC ยักใหญ่ในจีนกัน
TMALL Global
แพลตฟอร์มนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ใหญ่ที่สุดในแง่ผู้ใช้งานและมูลค่าการซื้อขาย เนื่องจากจำนวนTraffic ของผู้ซื้อของออนไลน์ไม่ได้แยกขาดจากกันกับ Tmall แบบปกติที่มีผู้เล่นสูงถึง 654 ล้านคน (ตัวเลขเดือนมีนาคม 2019) ผิดกับบางแพลตฟอร์มที่จะเน้นแค่ผู้เล่น Haitao เท่านั้นซึ่งทั้งlandscape ของจีน ในปีที่ 2019 มีเพียง 153 ล้านคน จากภาพที่2ด้านบน (หากอ่านแล้วไม่เข้าใจความแตกต่าง สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ใน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2)
นอกจากนี้จะมีประโยชน์มากเวลามี campaign ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงวันคนโสด 11.11 ที่ Alibaba ทุ่มเทอย่างมากเพื่อสร้างยอด Gross Merchandise Volume (GMV) หรือยอดซื้อขายบน marketplace ให้เติบโตสูงขึ้นอย่างน่าตกใจขึ้นทุกปี
ภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) หรือลักษณะผู้ใช้งานบน Tmall Global เกือบครึ่งจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง เกินกว่าร้อยละ 50 มีอายุน้อยกว่า 27 ปี และ ร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง
ปัจจุบันบน Tmall Global มีสินค้าจากนานาประเทศมากกว่า 20,000 แบรนด์และทาง Alibaba ตั้งใจที่จะขยายเพิ่มไปถึง 40,000 แบรนด์ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ ล
Kaola
ก่อนที่จะมีการผนวกกับ Alibaba นั้น Kaola ถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของ CBEC ที่มีส่วนแบ่งการตลาดนำโด่งมาอันดับหนึ่งในหลายปีติดต่อกัน เพราะลักษณะเฉพาะของ Kaola ที่ แตกต่างจาก Tmall คือKaola เน้นเจาะเฉพาะตลาด CBEC เท่านั้น ไม่ได้ทำในแบบ normal trade เหมือนอย่างแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะผู้บริโภคจีนเองยังคงมีความไม่ไว้วางใจสินค้าที่ขายบนออนไลน์อยู่มาก แต่บนแพลตฟอร์ม CBEC อย่างเช่น Kaola ก็จะการันตีในการชดใช้ว่า “ถ้าเจอของปลอมยินดีชดใช้ให้ 10 เท่า (假一陪十)”
Demographic ของคนที่เล่นแพลตฟอร์มนี้คือ จะเป็น Haitao ที่เน้นซื้อแบรนด์จากต่างประเทศมีคุณภาพสูง ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคแบบ High-end โดยเป็นผู้หญิงกว่าร้อยละ 74 ที่อายุระหว่าง 20-45 ปี ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานของ Kaola และพบว่า 70% จะเป็นในรูปแบบของ B2B หรือการที่ Kaola คัดเลือก ซื้อขาดและบริหารสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศเอง หลังจากที่โดนรวบควบกิจการจาก alibaba ไปแล้วนั้น ตอนนี้ Kaola ก็ยังคงดำเนินการกิจการต่อไปอย่างปกติ อนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป
JD INTERNATIONAL
JD.com ถือเป็นผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีชื่อเสียงและข้อได้เปรียบอย่างสูงในการมีเครือข่ายการขนส่งและคลังสินค้าของตัวเองที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค มีบริการ Fulfillment และ เรื่องการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วและชื่อเสียงในการการันตีของแท้มาโดยตลอด เช่นเดียวกัน JD.com ก็เปิด JD international เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด CBEC เมื่อปี 2015
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการที่ JD ที่เน้นการขายของพวกอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทราบหรือไม่ว่า จริงๆแล้วมีหลายสินค้าที่เป็นที่นิยมซื้อขายเช่นกัน อาทิเช่น อาหาร แฟชั่น เครื่องสำอาง จากข้อมูล iiMedia ในปี 2019 พบว่า มีผู้บริโภคจีนกว่า 63.4% นิยมซื้อสินค้าอาหารนำเข้า (Imported food) ผ่าน JD International มากกว่า Tmall Global ด้วยซ้ำ
Demographic ของ JD International จากรายงานของ iiMedia ในปี 2017 พบว่า ร้อยละ 75 เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาปริญญาตรีหรือสูงกว่า ร้อยละ 69 มีอายุระหว่าง 26-45 และร้อยละ 70 เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง นอกจากนี้จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม JD International พบว่าชาว Haitao พอใจมากในเรื่องของการขนส่งสินค้าต่างชาติที่ว่องไว รวดเร็ว อย่างที่เคยเกริ่นไปในบทที่ 2 ความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค มีความสำคัญมากๆ ต่อการตัดสินใจในการซื้อ ตลอดจนถึงการซื้อซ้ำ
บทสรุป
การขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม CBEC ถือเป็นการชิมลางทดลองตลาดจีนก้าวแรกของผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีเงินทุน ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและศึกษาให้ถี่ถ้วน ต้องเข้าใจว่าควรเตรียมเงินลงทุนไว้สำหรับค่าอะไรบ้าง อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าไปแบบ Full Scale ผ่านการค้าแบบปกติ Normal Trade ก็ถือว่า ยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และมีความยุ่งยากน้อยกว่ามากในแง่ที่ไม่ต้องจัดตั้งบริษัทในจีนหรือหาบริษัทร่วมทุนที่ต้องใช้ความเชื่อใจสูงร่วมกัน การขอ อย.จีน หรือทำสลากเป็นภาษาจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ การลองชิมลางผ่าน CBEC ทำให้มีโอกาสในการวิเคราะห์ตลาดและเริ่มพอเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคชาวจีน การตั้งราคาที่ชาวจีนรับได้ การทำราคาเพื่อตอบรับกับ promotional campaign หรือ marketing event ต่าง ๆ ที่สำคัญของชาวจีน อาทิ 618, 11.11, 12.12 บริการ customers service อีกทั้งข้อกำหนดกฎระเบียบทางภาษี ศุลกากร การขนส่งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สำคัญมากต่อการทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถก้าวและเติบโตในประเทศจีนได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
ประวัติผู้เขียน
พิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจีน (Assistant Vice President), China Business Development สายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์
มีประสบการณ์ทางานในด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนมากว่า 10 ปี เคยทางานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่บริษัทพัฒนาซอฟแวร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ด้าน Start-up ที่มาดริด ประเทศสเปน
เป็นวิทยากรรับเชิญเพื่อพูดในหัวข้อ eCommerce, Social Media และเทรนด์เทคโนโลยีในประเทศจีน อาทิ Money Expo 2019, WeChat Conference และงานเพื่อผู้ประกอบการไทย SMEs เป็นต้น
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ2) จากคณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท MBA จาก IE Business School กรุงมาดริด ประเทศสเปน
หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์หรือทำซ้ำ หากต้องการตีพิพม์ต่อ กรุณาติดต่อผู้เขียน
โฆษณา