27 มี.ค. 2020 เวลา 01:33 • ปรัชญา
"คุณธรรมขัดแย้ง (Moral Dilemma)" กับ โรคโควิด-19 (Covid-19) เพื่อที่เราจะเข้าใจกัน..
ภาพถ่ายจากภาพโรงแรมใน Mt Hagen, Papua New Guinea
"ปิดประเทศเลย"... "ประกาศ Lockdown ไปเลย" ...."ประกาศปิดธุรกิจหลายๆ ที่เลย" "ห้ามออกจากบ้านช่วยชาติ"... "อยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร"..."ควรทำงานที่บ้าน"
นั่นคือสิ่งที่ควรทำเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส Covid-19
"ตกงาน"... "รายได้ไม่พอจ่ายเพราะหาเช้ากินค่ำ"..."ธุรกิจมีปัญหารุนเเรง".... "บ้านหลังเล็กนิดเดียวอยู่กัน 8 คน จะอยู่ห่างกันอย่างไร".. "ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง"... "บ้านไม่มีอินเตอร์เนต หรือ wifi ทำอย่างไร-ใครจ่าย"
และนี่ก็คือปัญหาของคนค่อนประเทศที่เกิดขึ้นทันทีหลังมีการประกาศ Lockdown แค่บางส่วน..
เมือง Antigua, Guatemala
วิกฤติจาก Covid-19 ได้กลายเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่สร้างปัญหาไปทั่วโลกในเวลานี้ และน่าจะเป็นอีกครั้งที่ประชาคมโลกได้เผชิญปัญหาใหญ่เดียวกันและพร้อมกันทั้งโลก
หลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว และสงครามเย็นที่จบลงในต้นปีทศวรรษที่ 90
หลังจากโรคนี้เริ่มที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ในประเทศจีนและระบาดต่อมาในเอเซีย จากนั้นโรคนี้ก็ไประบาดอย่างรุนแรงทั่วยุโรปโดยเริ่มจากอิตาลี (Italy)...และลุกลามไปทั่ว
Rome, Italy- Paris, France- Madrid, Spain-London, UK
ไวรัสตัวนี้ปัจจุบันทำให้สังคมเกือบทุกประเทศวุ่นวายไปตามๆกัน และที่สำคัญยังเป็นปัญหาที่ท้าทายผู้นำรัฐบาลในทุกประเทศด้วย...
เนื่องจากปัญหาของโรคระบาดครั้งนี้ได้กลายเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติทั้งในด้าน
- การแพทย์และการระงับโรคระบาด
- เศรษฐกิจ
- สังคม..
Italy lockdown, Panic Shopping ใน Australia, สนามบินที่ว่างเปล่าของกรุงเทพ และคนตกงานจาก ประเทศไทย ภาพจากกูเกิล
และสามอย่างข้างต้นนี่เอง ที่ทำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศบริหารไม่ได้ง่ายและเป็นความท้าทายอย่างมาก
วิธีการระงับการระบาดที่ดีคือการหยุดกิจกรรมต่างๆทางสังคมและให้คนเจอกันน้อยที่สุด โดยไม่รวมกลุ่ม ไม่เดินทาง เพื่อติดต่อคนอื่นๆ
แต่นั่นก็ส่งผลกระทบอย่างเเรงทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมยิ่งขึ้นไปอีก...
เพราะแค่ตอนระบาดในจีน ประเทศไทยก็เริ่มโดนพิษเศรษฐกิจอย่างจังแล้ว เพราะประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรงประมาณ 9% และถ้ารวมโดยอ้อมเเล้วอาจถึง 20% ของรายได้ทั้งประเทศ
ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน และต้าเหลียน
โดยจีนมีนักท่องเที่ยวมาไทยเป็น 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
นั่นก็ทำให้สังคมเริ่มมีมุมมองที่แตกต่างกัน ในการจัดการและบริหารของภาครัฐต่อสถานการณ์โรคระบาด Covid-19
เพราะคนในสังคมมีพื้นเพทางเศรษฐกิจ รายได้ ทางสังคม วัฒนธรรม ประสบการณ์ และความชำนาญที่ต่างกัน
ภาพจากกูเกิล
การตอบสนองต่อปัญหาและกฎเกณฑ์ที่กำหนดก็ต่างกัน นั่นก็ทำให้ปัญหาของ "คุณธรรมขัดเเย้ง (Moral Dilemma)" ก็เกิดขึ้น
นี่ก็ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศมีปัญหาเช่นเดียวกันในการบริหารจัดการวิกฤติครั้งนี้
ร้านรถเข็น กับ ตึกในกทม
ตัวอย่าง "คุณธรรมขัดแย้ง" ที่ผมเคยเล่ามาก่อนในบทความก่อนหน้านี้และเป็นเรื่องจริงก็คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบของรัฐบาล...
ปรากฎว่า "เจ๊บุญ" ร้านรถเข็นขายสมตำที่ขายอยู่หน้าร้านโชห่วยของ "เจ็กโซ่ย" หน้าปากซอยแห่งหนึ่งของ กทม ก็โดนไปด้วย..
และวันสุดท้ายที่ร้านเจ๊บุญจะได้ขายที่ปากซอยแห่งนี้ ก็มี "สาวจ๋า" ลูกค้าขาประจำของเจ๊บุญถามว่า "เจ๊ได้ที่ขายใหม่หรือยังคะ"
"ยังไม่ได้เลยและสถานที่ที่รัฐบาลจัดหาให้ก็ไม่ใช่แหล่งชุมชนไม่น่าขายได้ เนี่ยะเครียดอยู่เลยจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเล่าเรียนลูก 3 คน" เจ๊บุญตอบ
"โหย!!ทำไมรัฐบาลใจร้ายจัง เรื่องแบบนี้ควรจะหยวนๆเนี่ยะฝรั่งมาเที่ยวบ้านเราเขาก็ชอบกันไอ้ Street Food เนี่ยะ" สาวจ๋าพูด
"พรุ่งนี้เห็นเขานัดเเนะกันไปประท้วงที่ทำเนียบจ่ะ" เจ๊บุญพูดต่อ..
ชาวบ้านขายของข้างถนนในประเทศโตโก
ในเวลาเดียวกัน "นายหมง" นักศึกษาเทคนิคซึ่งบ้านอยู่ในซอยกำลังเเวะซื้อของร้าน "เจ็กโซ่ย"
"เจ็กร้านรถเข็นยังไม่เลิกขายไปอีกหรอผมได้ยินว่ารัฐบาลห้ามแล้วนี่....โคตรเห็นด้วยกับรัฐบาลเลยเนี่ยะฟุตบาทเราแทบไม่มีที่เดินเลย" นายหมงพูด
"มันก็มีดีมีเสียหน่า.... ถึงจะเกะกะหน้าร้านอั๊วแต่หลายครั้งลูกค้าที่มารอส้มตำก็มาแวะซื้อของร้านอั๊ว.. อั๊วว่ามันก็ win-win ว่ะ อาหมง แล้วอาบุญไม่ขายของที่นี่จะเอาเงินที่ไหนเลี้ยงลูกอี.." เจ็กโซ่ยตอบ
ก็จะเห็นว่าแม้เรื่องเดียวกันแต่มุมมองไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เจ๊บุญ สาวจ๋า นายหมง และเจ็กโซ่ย แต่ละคนก็มีมุมมองของตัวเองและก็คงตอบได้ยากว่าใครถูกใครผิด...และใครมีคุณธรรมมากกว่ากัน
ประเทศที่ขายแอลกฮอล์ผิดกฎหมาย การรักเพศเดียวกันผิดกฏหมายถึงประหารชีวิต และโสเภณีถูกกฎหมาย
นอกจากนี้กฎหมายหลายอย่างของแต่ละประเทศยังมี "ความคุณธรรมขัดเเย้ง" ในสังคม และยิ่งถ้าไปอยู่อีกบางประเทศจะยิ่งขัดแย้งมากขึ้น
อย่างเช่น กฎหมายโสเภณีถูกกฎหมาย กฎหมายการพนัน กฎหมายการุณฆาต กฎหมายรักเพศเดียวกัน กฎหมายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ กฎหมายทำแท้ง
กฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้าเอามาตั้งประเด็นในสังคมไทย.... เถียงกันเละ.... ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
และต่างฝ่ายต่างมีเห็นผลด้านคุณธรรมของตนเอง เพราะลักษณะทางสังคมที่ต่างกัน และคงหาถูกผิดได้ยาก...
สังคมใน ปาปัวนิกินี เกาหลีเหนือ ทาจิกิสถาน และบอสเนีย
พอมากลับมาที่ Covid-19 ซึ่งเมื่อมีการใช้มาตราการต่างๆ ที่กำจัดสิทธิการทำมาหากิน เพื่อยับยั้งโรคระบาด...
หลายคนที่สายป่านสั้น ซึ่งหมายถึงคนหาเช้ากินค่ำ คนที่มีเงินใช้เดือนชนเดือน คนที่มีค่าใช้จ่ายประจำเช่น ต้องเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน ต่างๆ แบบพอดี..
ได้ผลกระทบทันที และจะให้ทำตามกฎทุกอย่างก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะการอยู่บ้านเท่ากับการไม่มีรายได้เลย.. จะเอาอะไรกิน... หนี้ก็เต็ม....
นี่ถ้ารวมถึงปัญหาของชนชั้นกลางที่ทำงานเกี่ยวข้อง ทำงานสายการบิน การท่องเที่ยว โรงเเรม บริษัททัวร์ต่างๆ ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกายสนามกีฬา และอื่นๆ แม้กระทั่งคนเล่นหุ้น ก็ล้วนเจ็บตัวไปตามๆ กัน
คนต่างจังหวัดที่บริษัทปิดก็ต้องกลับบ้านเพราะไม่มีเงินพอค่าใช้จ่าย
ถึงจะรู้สึกไม่ถูกนักเพราะเป็นการเเพร่ระบาด แต่จะให้ทำอย่างไร... เงินไม่มี
นอกจากนี้คนบางกลุ่มกลัวและรีบไปซื้อของกักตุนจนเกินความจำเป็น...
บ้านเมืองใน กทม..
กลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการ พนักงานสาธารณสุข และคนสายป่านยาวหน่อย คือมีรายได้ใช้ได้ ก็คงอยากให้ปิดจริงๆ จังๆ คือเจ็บแต่จบ....
ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็คิดถูก เพราะถ้าผู้คนป่วยไม่หยุด คนป่วยก็พุ่ง ก็ส่งผลต่อคนด้านสาธารณสุข และถ้ายิ่งเหตุวิกฤติยังอยู่ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งสังคมและเศรษฐกิจก็ยิ่งมีปัญหาและแก้ได้ยากขึ้นไปอีก
อ้าว .... แล้วจะทำอย่างไรดี.....
คือว่า..ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็มีคนตำหนิอยู่ดีเพราะมันเกิดสภาวะคุณธรรมขัดแย้ง...
และถ้ามองตัวเราเอง... ไม่ว่ารัฐจะทำอะไรออกมาก็จะมีข้อตำหนิ เพราะสิ่งที่รัฐกำลังพยายามทำคือพยายามทำให้เกิดสมดุลของคุณธรรมขัดเเย้ง ในทางการแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจ
"และมันไม่มีทางสมดุลในมุมมองของปัจเจก หรือแต่ละคนครับ..."
นี่แหละครับคือปัญหาที่รัฐบาลหลายประเทศปวดหัว รวมถึงรัฐบาลไทย
ภาพจาก Art-Sheep และ Google
สิ่งที่รัฐต้องทำแน่ๆ ก็คือเริ่มใช้วิธี Lockdown และทำให้คนเจอกันให้น้อย (Social Distancing) เพื่อลดการระบาด
แต่รัฐบาลจะใช้มาตรการเข้มข้นแค่ไหน ความรวดเร็วแค่ไหน และบริหารเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปอย่างไร นั่นคือความท้าทาย...
ในส่วนตัวของผม..สิ่งรัฐบาลต้องทำก็คือ
-ชัดเจนกับแผนการและมาตรการ
-สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรมขัดแย้ง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจส่วนรวม
-ฟังและคิดให้รอบคอบ
-วางแผนฟื้นฟู และมีนโยบายฟื้นฟูให้ชัดเจน
-ปลุกความรู้สึกความสามัคคีในชาติและเสียสละ
-อดทนเพราะทำอะไรก็โดนด่าอยู่ดี..
นักการเมืองฝ่ายต่างๆ รวมถึงฝ่ายค้านต้องทำคือ
- ให้ข้อเสนอแนะแบบจริงใจ และเลิกเล่นการเมือง
- ช่วยทำให้เกิดความสามัคคีในชาติ
คนไทย...
ในส่วนสื่อสารมวลชน สิ่งที่ต้องทำก็คือ
- มีข้อมูลที่ถูกชัดเจน
- ไม่สร้างบรรยากาศเกินจริง และน่ากลัวเกินไปจนทำให้สังคมตระหนก
- ไม่ใส่อารมณ์ส่วนตัว
- มีความรู้ และการสัมภาษณ์นักวิชาการควรศึกษาเพิ่มเติม ก่อนสัมภาษณ์
สื่อจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างสมดุลในเรื่องคุณธรรมขัดเเย้ง และสามารถสร้างบรรยากาศทำให้สังคมมีความสามัคคีเท่าที่ทำได้
ในความคิดเห็นส่วนตัวผมว่า สื่อบ้านเราทำหน้าที่นี้น้อยมาก และนี่คือปัญหาของไทยหลักๆๆเลย
ส่วนที่ประชาชนต้องทำคือ
- พยายามร่วมมือกับภาครัฐให้มากที่สุด
- เข้าใจภาพกว้าง และรู้ว่าคุณธรรมขัดเเย้งกำลังเกิดขึ้น
- เข้าใจกัน รักกัน
- สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน และคิดถึงส่วนรวม
แต่อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่าสังคมไทย ยังเป็นสังคมเอื้ออาทรและช่วยเหลือกัน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ยอดเยี่ยม รวมถึงเราประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยา และเครื่องอุปโภคบริโภคแบบมีใช้อย่างสบาย..
ดังนั้นจริงๆ แล้วประเทศไทยสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ในระดับหนึ่งเลยครับ และเราจะผ่านไปด้วยกันครับ...อดทนนะครับ
อย่าเครียดกันจนเกินไปนะครับ...เดี๋ยวอะไรก็ดีขึ้น...
เลิกตำหนิ... เข้าใจกัน...แนะนำกัน....ช่วยเหลือกัน..
กทม สุโขทัย แม่ฮ่องสอน และ อยุธยา
#wornstory
โฆษณา