24 มี.ค. 2020 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
คาดการณ์ คนกรุงเทพฯติดเชื้อ COVID-19 ทะลุ 2 หมื่นคน!
อย่าเพิ่งตื่นตระหนก! อย่าเพิ่งตกใจ! ย้ำว่าเป็นแค่ “คาดการณ์” ว่าคนกรุงเทพฯมีโอกาสที่จะติดเชื้อ โควิด-19 ทะลุเกินกว่า 20,000 คน ซึ่งหากอัพเดทจำนวนล่าสุดถึง ณ ตอนนี้ (23 มีนาคม 2563 ) พบผู้ป่วยใหม่ในประเทศ 122 ราย รักษาหายแล้ว 52 ราย รักษาตัว 668 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 721 ราย อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง 10,955 ราย ซึ่งหากดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังห่างจาก 20,000 อยู่เยอะ แต่อย่าลืมว่าตัวเลขในเกณฑ์เฝ้าระวังนั้นคือ 10,955 ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนี้ไม่ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นผู้ป่วยทั้งหมดแต่ก็ต้องมีบ้างจะมากน้อยเท่านั้น
 
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมาอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อเริ่มมีมากขึ้น ลักษณะคล้ายกันกับที่อู่ฮั่นช่วงที่ระบาดหนักๆ ก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ส่วนมากหรือประมาณ 80% จะมีอาการไม่รุนแรง ขณะที่ผู้ติดเชื้ออีก 15% จะมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล และอีก 5% จะมีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 3%
และหากมามองดูตัวเลขคนติดเชื้อ โควิด-19 ในช่วง 5 วันที่ผ่านมาจะพบว่า
- 18 มีนาคม จำนวน 35 ราย
- 19 มีนาคม จำนวน 60 ราย
- 20 มีนาคม จำนวน 50 ราย
- 21 มีนาคม จำนวน 89 ราย
- 22 มีนาคม จำนวน 188 ราย
- 23 มีนาคม จำนวน 122 ราย
ภาพจาก THAI NEWS PIX
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศแค่ 30-40 คน และตัวเลขก็นิ่งอยู่แบบนั้นมาเป็นระยะเวลานาน คำถามคือ ทำไม? และ เกิดอะไรขึ้น? ตัวเลขในช่วงหลังถึงก้าวกระโดดได้อย่างน่าตกใจเช่นนี้
เหตุผลสำคัญคือ “สนามมวย” ที่ตอนนี้กลายเป็นแหล่งกระจายเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่นได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากติดตามข่าวว่าในสนามมวยวันนั้น มียอดคนเข้าชมกว่า 7,000 หรืออาจะมากกว่าและเมื่อเกิดการติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในสนามมวยก็ไม่รู้ตัว เมื่อออกจกสนามมวยก็ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และเริ่มนำมาสู่ปฐมบทแห่งการ “แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว” จนถึง ณ ตอนนี้
โอกาสติดเชื้อของคนกรุงเทพฯ มีโอกาสแตะ 20,000 ตามทฤษฏี 1:1.6
ภาพจาก bit.ly/3dpH1K0
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พูดถึงข้อมูลเรื่องการคาดการณ์ผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศไทย ด้วยสมมติฐานว่า คนติดเชื้อโควิด-19 โดย 1 คน แพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ 1.6 คน ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ 90% ที่เหลือ 10% กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยคาดว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ตัวเลขผู้ป่วยถึงจะเขยิบเทียบเคียงพื้นที่กรุงเทพ
 
โดยคาดว่าการระบาดจะพีคสุดในช่วงปลายเดือน เม.ย. - ต้นเดือน พ.ค. นี้ ในส่วนของกรุงเทพฯหลังมีจากมีมาตรการต่างๆ เข้ามาป้องกันทั้งการปิดชั่วคราวสถานที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ แต่ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนที่ของประชากรตามเทศกาลมากขึ้น อันจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ทำให้สุ่มเสี่ยงว่าคนกรุงเทพอาจจะได้รับเชื้อเกินกว่า 20,000 คน และตัวเลขในต่างจังหวัดหลังจากช่วงเวลานี้คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
คาดการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ในไทย 3 รูปแบบที่อาจจะต้องเจอ
ภาพจาก bit.ly/3bky4A1
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ระยะที่ 3 ในประเทศไทยเอาไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
 
1. รุนแรงที่สุด ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยทั้งหมด 16,700,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี (ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอีก 2.2 คน) โดยจุดที่พบผู้ป่วยสูงสุด จะอยู่ที่ 1,500,000 คน/สัปดาห์
 
2. ชะลอการระบาดได้ ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยทั้งหมด 9,900,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี (ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอีก 1.8 คน) โดยจุดที่พบผู้ป่วยสูงสุด จะอยู่ที่ 480,000 คน/สัปดาห์
 
3. ควบคุมโรคได้ดี ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยทั้งหมด 400,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี (ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอีก 1.6 คน) โดยจุดที่พบผู้ป่วยสูงสุด จะอยู่ที่ 20,000 คน/สัปดาห์
 
จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งไทยได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง การระบาดรุนแรง รูปแบบที่ 1 จึงไม่น่าเกิดขึ้น แต่การระบาดในรูปแบบที่ 2 และรูปแบบที่ 3 ยังมีความเป็นไปได้ทั้งคู่ ซึ่งถ้าไทยสามารถชะลอการระบาดได้ (รูปแบบที่ 2) โดยใช้มาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความร่วมมือจากประชาชน การระบาดเป็นวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 480,000 คน/สัปดาห์ ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 64 รวมทั้งประเทศจะมีผู้ป่วยประมาณ 9.9 ล้านคน ในระยะเวลา 2 ปี
ภาพจาก bit.ly/2vGrogj
แต่หากไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี (รูปแบบที่ 3) ใช้มาตรการเข้มข้น งดกิจกรรมรวมตัว งดการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก เช่น การเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดจากแพร่เชื้อจากคนใน กทม. ไปสู่ต่างจังหวัด รวมถึงป้องกันการระบาดในที่ทำงานและสถานศึกษา ถ้าทำได้ก็จะสามารถลดการแพร่เชื้อให้เกิดขึ้นน้อยลง โดยจุดพบผู้ป่วยสูงสุดจะอยู่ที่ 20,000 คน/สัปดาห์ รวมทั้งประเทศแล้วจะมีผู้ป่วยประมาณ 400,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี และโรคนี้จะกลายเป็นโรคที่เกิดตามฤดูกาล คล้ายไข้หวัดใหญ่
WHO เผย โควิด-19 เป็น Airborne
ภาพจาก bit.ly/3beXnmQ
ข้อมูลที่น่าตกใจอันใหม่ที่หัวหน้าฝ่ายโรคระบาดใหม่และโรคที่รับจากสัตว์ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า เชื้อโควิด 19 สามารถแพร่ระบาดผ่านละออง หรือของเหลวเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ผ่านทางการไอหรือจาม เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่ในละอองลอย เช่นในโรงพยาบาล อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเอนุภาคของละอองลอยเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่า ไวรัสสามารถอยู่ในอากาศได้นานขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งจากที่เราเข้าใจว่าถ้าอยู่ห่างกันในระยะ 1 เมตรจะป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ได้ หากเป็นจริงตามที่ว่านี้ก็เท่ากับไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เราอีกดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน อันจะเป็นการป้องกันได้ดีและพยายามหลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชน งดกิจกรรมรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 ให้ได้เร็วที่สุด
ภาพจาก bbc.in/2QC8yhR
อย่างไรก็ดีองค์การอนามัยโลกยังเผยว่า โควิด 19 แม้การแพร่ระบาดจะหนักหน่วงรวดเร็วแต่ สำหรับกรณีที่อาการป่วยปอดอักเสบขั้นรุนแรง อาจมีเพียง 1 ใน 400 เท่านั้น ซึ่งไม่ถึง 0.25% สมมติมีคนติดเชื้อ 100 คน ในจำนวนนี้ 80 คนจะไม่แสดงอาการ เหลือเพียง 20 คน ที่ป่วยเข้ารักษา โดยครึ่งหนึ่งหรือ 10 คน ถึงจะมีอาการปอดอักเสบ แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะอักเสบอย่างรุนแรง แต่ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง โควิด 19 ก็ได้ชื่อว่าเป็นความหายนะของคนทั้งโลกที่ตอนนี้ยังไม่ต้องไปคิดว่าหลังจากนี้จะทำยังไง เอาแค่ตอนนี้ควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ยับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ ถ้ายังทำไม่ได้มัวไปคิดเรื่องอื่นๆ ก็คงจะเสียเวลากันเปล่าๆ บางทีต้องถึงเวลาที่ภาครัฐ “ยอมเจ็บแต่จบ” ดีกว่าปล่อยให้ยืดยื้อต่อไปซึ่งไม่ดีแน่นอน
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaisme
อ้างอิงจาก - https://bit.ly/3bp69z4
โฆษณา