24 มี.ค. 2020 เวลา 11:55 • การศึกษา
พ.ร.ก. ฉุกเฉินคืออะไร มีผลอย่างไร และใครที่ได้รับผลกระทบ?
เนื่องจากวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงการณ์ว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
ทางเพจกฎหมายย่อยง่ายจึงได้สรุปใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้ทำความเข้าใจกันก่อนที่จะมีผลบังคับในวันที่ 26 มีนาคม 2563 หรือในอีก 2 วันที่จะถึงนี้
Cr. pixabay
1) พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีชื่อเต็มว่า “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
2) พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะนำมาใช้เมื่อ...
- มีสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ
- เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ
- อาจทำให้ประเทศ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ
- มีการก่อการร้าย การรบ สงคราม
3) ใครมีอำนาจประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน?
เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินและนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน
นายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับได้ทั่วประเทศ หรือบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์
ถ้านายกฯ ไม่สามารถขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วค่อยขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน
4) พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีกำหนดเวลาหรือไม่?
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกฯ กำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ แต่ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถขยายออกเป็นครั้ง ๆ ไป ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน
5) เมื่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้ประกาศใช้แล้ว จะมีผลบังคับอย่างไรบ้าง?
กฎหมายให้อำนาจนายกฯ สามารถออกข้อกำหนดในเรื่องต่อไปนี้ได้ (อยู่ที่ดุลพินิจ)
- ห้ามออกนอกบ้านภายในเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นคนที่ได้รับยกเว้น
- ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ
- ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย ทำให้แพร่หลาย ไม่ว่าจะผ่านหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่อใด ๆ ด้วยข้อความที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจนกระทบต่อความมั่นคง หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้
- ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
- ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
โดยข้อกำหนดนี้ จะกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรก็ได้
6) ถ้าฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะถูกจับกุมหรือไม่?
อาจถูกจับกุมได้ ถ้ามีการประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็น "สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง"
7) สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงหมายถึงอะไร?
คือ ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ได้มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
8) ในสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง นอกจากการจับกุมแล้วกฎหมายยังให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการอย่างอื่นได้ เช่น
- ออกคำสั่ง เรียกบุคคลมารายงานตัว หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ยึด หรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่สงสัยว่าได้ใช้ หรือได้ใช้เพื่อกระทำ หรือสนับสนุนการทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 26 มีนาคม 2563 - 30 เมษายน 2563
สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวตามกฎหมายฉบับนี้ ก็คงแนะนำว่าขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้อยู่ห่างไกลจากเชื้อไวรัส COVID-19 และลดความเสี่ยงต่อการการแพร่เชื้อและติดเชื้ออีกด้วยครับ
#รจรปดก 😁💪
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ
โฆษณา