29 มี.ค. 2020 เวลา 02:40 • สุขภาพ
การ Flatten the Curve เพื่อลดผลกระทบ COVID-19
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 (ห้องความดันลบ, ห้องแยกเดี่ยว/รวม) ในกรุงเทพฯ เพียง 516 เตียงเท่านั้น และที่เหลือทั้งประเทศอีกประมาณ 6,500 เตียง
นั่นหมายความว่า หากดูจากผู้ป่วยในปัจจุบันที่ถึงหลักพันไปเรียบร้อยแล้ว
ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อาจจะไม่มีเตียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วย COVID-19 ทั้งหมด
โดยหากอิงตามอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 33% ต่อวัน แล้วนำมาวาดเป็นกราฟ ก็คงจะกำลังสูงขึ้นเหมือนภูเขาลูกหนึ่งเลยทีเดียว
และถ้าหากเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แน่นอนว่าระบบสาธารณสุขจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมดในช่วงที่มีผู้ป่วยเกิดขึ้นพร้อมกัน และนั่นหมายถึงโอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยก็สูงขึ้นไปด้วย
ซึ่งหากเป็นแบบนั้น รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อรองรับผู้ป่วย ในขณะที่ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ Flatten the Curve หรือการทำให้ภูเขาลูกนั้นชันน้อยลงนั่นเอง
วลีสั้นๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นวลีที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาผลักดันเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 นี้ไปให้ได้
การ Flatten the Curve มีหลักการง่ายๆ คือ การทำ Social Distancing หรือการสร้างระยะห่างทางสังคม
พูดง่ายๆ ก็คือ
ห้ามชุมนุมเกิน 2 คน
ไม่ควรออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ซื้อของจำเป็นเท่านั้น
ห้ามไปนัดเจอเพื่อน
ทำงานที่บ้านหรือ Work from Home
สั่ง Food Delivery แทน
Cr. The Guardian
ในขณะที่ร้านค้า งานอีเวนต์ต่างๆ ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน
ถึงแม้จะดูเป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้มีหลายประเทศที่สามารถทำมันได้แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น จีนและเกาหลีใต้
โดยทั้งสองประเทศมีข้อแตกต่างกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ จีนมีการปิดเมือง
ส่วนเกาหลีใต้ไม่มีการปิดเมือง
แล้วทั้งสองประเทศนี้ทำได้อย่างไร
เราลองมาดูมาตรการกัน
เริ่มจากจีน
ที่ถึงขั้นต้องปิดเมือง และใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ในการทำ Social Distancing
อย่างในเมืองอู่ฮั่นที่เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาด
ทางรัฐบาลจีนก็ได้สั่งปิดเมืองนี้และเมืองอื่นๆ รวม 16 เมือง เพื่อเข้าจัดการการระบาด แน่นอนว่าทุกคนต้องกักตัว และไม่สามารถออกนอกเมืองได้ เที่ยวบินต่างๆ ถูกยกเลิก
อย่างที่เมืองอู่ฮั่นของจีนเองก็เป็นบทเรียนว่ายิ่งเริ่มลงมือช้า จะยิ่งทำให้ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปจนไม่มีโรงพยาบาลเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย จึงต้องสร้างโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นมา และใช้สถานที่อื่นในการพักฟื้น
Cr. Daily Mail
อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าจีนสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันจีนเหลือ Active Case อีกประมาณ 3,400 คนเท่านั้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 80,000 คน หรือรักษาหายแล้วกว่า 95%
ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้นเริ่มทรงตัวตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดก็ได้ประกาศยกเลิกแบนการเดินทางในมณฑลหูเป่ย์แล้ว เหลือแค่ห้ามเดินทางในเมืองอู่ฮั่น
ส่วนประเทศที่น่าสนใจต่อมา และดูเหมือนสถานการณ์ตอนแรกจะรุนแรงไม่แพ้กันก็คือ เกาหลีใต้
แต่วิธีการ Flatten the Curve นั้นต่างออกไปมาก
เพราะ ไม่ได้ปิดเมือง ไม่ได้ห้ามการเดินทางเข้าออก
แต่สิ่งที่เกาหลีใต้ทำในการ Flatten the Curve คือการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด
โดยปัจจุบัน ตรวจไปแล้วมากกว่า 350,000 ราย
และมีการแยกกักตัวผู้ป่วย
การ Tracking ที่มีประสิทธิภาพว่าผู้ป่วยได้ติดต่อใครบ้าง
ทำให้เกาหลีใต้สามารถลดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
Cr. Business Insider
ซึ่งตอนนี้ทั้งสองประเทศก็ไม่ได้เข้าขั้นวิกฤตเหมือนประเทศอื่นในยุโรปแล้ว
อย่างในจีนเริ่มยกเลิกการปิดเมือง
หลายโรงงานเริ่มกลับมาผลิตได้ตามปกติ
ส่วนเกาหลีใต้ก็มีผู้ติดเชื้อที่เป็น Active Case น้อยลงเช่นกัน
จากเรื่องทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า กระบวนการ Social Distancing ยิ่งได้ผลเท่าไร
ก็จะยิ่งทำให้ Curve ชันน้อยลง
และยิ่ง Curve ชันน้อยลงเท่าไร
ก็จะสร้างความเสียหายน้อยลงเท่านั้น
และเมื่อความเสียหายน้อย เศรษฐกิจก็จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
สิ่งที่สำคัญของเรื่องนี้คือ
จะทำอย่างไรให้ผ่านเรื่องนี้ไปอย่างราบรื่นที่สุด
จนกว่าจะมีตัวแปรสำคัญเกิดขึ้น
ที่สามารถหยุดวิกฤตโควิดนี้ให้สิ้นสุดลง
นั่นก็คือ วัคซีน..
โฆษณา