28 มี.ค. 2020 เวลา 04:48 • ความคิดเห็น
ว่าด้วย "ความสันโดษ"
ความสันโดษ คำนี้มีความหมายคือ ความพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ , มักน้อย ปรารถนาน้อย แต่การจะเข้าถึงความสันโดษ (ที่แท้จริง) ได้นั้นไม่ง่ายนัก
สถานการณ์ช่วงนี้ถือว่ากำลังประสบกับทุกข์ภัยคือโรคระบาดที่ทุกคนคงทราบกันดี และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าทุกข์ภัยนี้จะสร้างความสูญเสียมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าทุกข์ภัยนี้จบลงเมื่อไหร่ ?
ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนที่อ่านบทความนี้เป็นชาวพุทธ ถ้าเราเข้าใจการใช้ชีวิตในแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความสันโดษ เป็นผู้ว่าง่าย เอาตรง ๆ คือ ไม่ดื้อ เป็นผู้อยู่ง่าย กินง่าย ตามปัจจัย 4 ที่ตนมี สถานการณ์ที่เป็นทุกข์ภัยเช่นนี้ เราก็จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจมากนัก
แต่หากใครที่ดำเนินชีวิตโดยให้ตัณหาคือความอยากในการนำทาง เริ่มอยู่ยากแล้วครับ อยากไปเที่ยวก็ไม่ได้ไป อยากไปดูหนังก็ไปดูไม่ได้ อยากไปเดินห้างสรรพสินค้าห้างก็ปิด ให้อยู่แต่ในบ้าน โอ...ไม่ชินเลย
ใครเป็นแบบนี้บ้างครับ น่าจะอึดอัดพอสมควรครับ นั่นเป็นเพราะเราปล่อยให้ตัณหาที่มากเกินความจำเป็นครอบงำ ความรู้สึกที่ไม่ได้เสพสมในสิ่งที่เคยเสพ จะแสดงออกมานั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
กามทสูตร
ว่าด้วยกามทเทพบุตร
กามทเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมบำเพ็ญได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมบำเพ็ญได้ยากยิ่ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "กามทเทพบุตร ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นในศีลของพระเสขะ ผู้ตั้งตนไว้มั่นคงแล้ว ย่อมบำเพ็ญสมณธรรมที่บำเพ็ญได้ยาก ความสันโดษย่อมนำความสุขมาให้แก่บุคคลผู้ออกจากเรือนบวช"
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่ได้ยากนี้ คือ ความสันโดษ"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด ยินดีในความสงบทางใจ มีใจยินดีในการอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้สิ่งที่ได้โดยยาก"
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่ได้ยากนี้ คือ จิต"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด ยินดีในความสงบแห่งอินทรีย์ ชนเหล่านั้นย่อมตั้งจิตที่ตั้งมั่นได้ยากให้ตั้งมั่นได้ กามทเทพบุตร พระอริยะเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุได้"
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่สม่ำเสมอ"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "กามทเทพบุตร อริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไปได้แม้ในทางที่ไปได้ยาก ซึ่งเป็นทางที่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนผู้ไม่ใช่อริยบุคคลย่อมดิ่งศีรษะตกลงไปในทางที่ไม่สม่ำเสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยบุคคลทั้งหลาย เพราะอริยบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอในทางที่ไม่สม่ำเสมอ"
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
คำถามของกามทเทพบุตรดีมาก ๆ เลยนะครับ
สมณธรรม ทำได้ยาก แต่จะทำได้ง่ายถ้าผู้นั้นมี "ศีล" ดังนั้นการรักษาศีลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เบื้องต้นในระดับผู้ครองเรือนขอแค่ศีล 5 ก็พอแล้วครับ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการแย่งของรักของชอบใจของผู้อื่น เว้นจากการพูดโกหก เว้นจากการดื่มน้ำเมา เป็นต้น
ความสันโดษ ทำได้ยาก แต่จะทำได้ง่ายถ้าผู้นั้นมี "การอบรมจิต" จะสังเกตเห็นว่าพระพุทธเจ้าให้เราอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืนเลยนะครับ ดังนั้นความสันโดษ (ที่แท้จริง) ทำได้ยาก เราจึงต้องเริ่มจากมีความยินดีในความสงบทางใจ จึงจะนำไปสู่การอบรมจิต
การอบรมจิต ทำได้อยาก แต่จะทำได้ง่ายถ้าผู้นั้นมี "การสำรวมอินทรีย์" การสำรวมอินทรีย์ คือการสำรวมใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อุปมาเหมือนการจับสัตว์ 6 ชนิดมัดด้วยเชือกแล้วนำไปผูกไว้กับเสาหลัก
บทความ ว่าด้วย "ความสันโดษ" ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ 😊
ที่มา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๕๙ ข้อที่ ๒๓๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา