28 มี.ค. 2020 เวลา 12:06 • ความคิดเห็น
ทำไม...จึง (ให้) อ่านเพิ่มเติม... ?
(เนื้อหาในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคลในมุมมองที่เป็นกลาง ในฐานะที่เป็นคนเขียนและคนอ่าน)
ที่จริงผมเคยอ่านบทความหลาย ๆ เรื่อง ทั้งใน BD นี้และเว็บไซต์อื่น ๆ แล้วพบบทความที่ตอนท้ายใส่ลิงค์ ไม่ว่าจะเป็น Full link หรือ Hyperlink ให้คลิกตามไปอ่านเพิ่มเติมที่หน้าเว็บปลายทาง แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นประเด็นอะไร จนช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอ่านคอมเมนต์ท้ายบทความที่มีเพจนำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ในลักษณะที่ให้ไปอ่านเพิ่มเติมต่อที่เว็บไซต์หลักของเจ้าของเพจ แล้วผู้อ่านที่มาคอมเมนต์ได้แสดงความเห็นว่า ควรนำเสนอเนื้อหาให้ครบถ้วนดีกว่าให้คลิกตามไปอ่าน
ผมอ่านแล้วก็พอจะเข้าใจแนวคิดของทั้งสองฝ่าย เลยขอหยิบยกขึ้นมาคุยกันในบทความนี้
คิดว่าหลายท่านคงทราบจุดประสงค์ในการแนบลิงค์ลักษณะดังกล่าวว่า นอกจากจะเป็นการชี้ช่องให้ผู้อ่านที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีมากเกินกว่าจะนำเสนอได้หมดบนหน้าแสดงผลคอนเทนต์ที่ปรากฎในแพลตฟอร์มแล้ว จุดมุ่งหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็เพื่อเป็นการเพิ่ม Traffic ไปยังเว็บไซต์หลักของเจ้าของคอนเทนต์ อันจะเป็นการเพิ่มยอดวิวให้กับคอนเทนต์ในเว็บปลายทาง ซึ่งคงต้องยอมรับกันว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของคอนเทนต์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจหรือหารายได้จากบทความต่างให้ความสำคัญ เพราะยอดวิวเป็นสิ่งที่มีผล ทั้งต่อชื่อเสียงและรายได้ที่จะได้รับ ก็คงทำนองเดียวกับกับเพจที่เข้าสู่ระบบ Menetization ของ Blockdit นี่แหล่ะครับ
จากจุดมุ่งหมายดังกล่าว ถ้ามองในฝั่งของเจ้าของคอนเทนต์ ก็คงเป็นธรรมดาที่ต้องหาเทคนิค กลยุทธ์ในการนำพาผู้อ่านเข้าไปเยี่ยมชมคอนเทนต์ของตน ผมเองเคยฟังคำแนะนำของกูรู และอ่านบทความที่นำเสนอเทคนิคการทำให้มีคนเข้ามาอ่านบทความหรือชมคอนเทนต์ นอกเหนือจากการทำ SEO แล้ว การแชร์และการแปะลิงค์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพาผู้อ่านเข้าสู่หน้าเว็บที่เราต้องการ แม้แต่แพลตฟอร์มของ blockdit เอง ในการสร้างและแก้ไขบทความ ก็ยังมีฟังก์ชั่น Call To Action (CTA) ที่สามารถเพิ่มไอคอน "อ่านเพิ่มเติม" ได้
หันมามองในมุมของผู้อ่าน ก็เข้าใจได้แหล่ะครับว่า บนบรรณพิภพแห่งข้อมูลข่าวสารอันกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยคอนเทนต์คุณภาพมากมายทั้งที่ blockdit หรือที่อื่น ๆ ผู้อ่านก็ต้องการความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล แม้ว่าการคลิกเข้ามาอ่านแล้วต้องคลิกลิงค์อีกรอบอาจจะไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย โดยเฉพาะเมื่อมาเจอบทความที่โปรยปกหรือ Present ซะดึงดูดใจไม่แพ้ Trailer ภาพยนต์ก็พร้อมที่จะตามไปจนสุดทางอยู่แล้ว แต่บางครั้งการติดตามไปก็อาจประสบกับสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ เช่น การเชื่อมต่อไปยังเว็บปลายทางใช้เวลานานไปหน่อย หรือเมื่อเข้าสู่เว็บปลายทางแล้ว ไปจ๊ะเอ๋กับรูปแบบหน้าเว็บที่ไม่เข้ากับความชอบของผู้อ่าน เช่น มีโฆษณาละลานตาเกินไป แบบอักษร ภาพ อ่านยาก เป็นต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหน้าเพจหรือแพลตฟอร์มต้นทางแล้วน่าอ่านมากกว่า ก็จะเป็นข้อพิจารณาที่ว่า นำเสนอเนื้อให้ครบถ้วนตั้งแต่ต้นทางหรือกลางทาง โดยไม่ต้องให้คลิกตามไปอ่านจะได้ (หรือดีกว่า) มั้ย?
เมื่อดูเหมือนว่ารายละเอียดรูปแบบที่นำเสนอไม่ค่อยตรงกับที่ผู้บริโภค(ข้อมูล) ต้องการ เหมือนอุปทานไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ (ว่าไปนั่น!) ผมในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้เขียนและคนอ่าน ก็เลยมานึกถึงว่าอะไรคือทางสายกลางที่จะตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้
แล้วจึงเห็นแนวทางหนึ่งคือ ในเมื่อผู้อ่านต้องการความครบถ้วนของเนื้อหาเป็นสำคัญ ผู้เขียนก็ควรตอบสนองด้วยการนำเสนอเนื้อหาให้ครบก่อน อย่างน้อยก็ให้ได้ใจความ Who What Where When Why How โดยอาจเป็นเนื้อหาโดยสังเขปก่อนก็ได้ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นการขยายความให้ชัดเจน สมบูรณ์ขึ้น ผู้เขียนก็สามารถเชิญชวนผู้อ่านให้ตามไปอ่านเพิ่มเติมที่เว็บปลายทางตามความมุ่งหมาย โดยแทรกลิงค์ไว้ตอนท้ายของเนื้อหาที่นำเสนอครบถ้วนแล้วนั้น โดยให้เป็นสิทธิในการตัดสินใจของผู้อ่านที่จะไป (อ่านเพิ่มเติม) ต่อหรือพอซ่ำนี้ (พอแค่นี้ เผื่อใครแปลไม่ออก ^^) ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม อย่างไรซะก็ต้องมีคนคลิกตามเข้าไปอยู่ดี ผมคิดว่าลักษณะแบบนี้ก็น่าจะวิน ๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เหมือนร้านค้าที่มีสินค้าตัวโชว์อยู่หน้าร้านโดยระบุคุณสมบัติเบื้องต้นของสินค้าไว้ครบแล้ว แต่หากลูกค้าสนใจรายละเอียดหรือจะเยี่ยมสินค้าเพิ่มเติมก็เข้าไปดูในร้านได้
ย้ำอีกทีว่า ที่กล่าวมานี่คือแนวคิดส่วนบุคคลในฐานะทีี่เป็นผู้เขียนและผู้อ่าน (และที่สำคัญคือ เป็นกลาง!) นะครับ มิได้ผูกพันหรือมีเจตนาพาดพิงผู้ใด ท่านใดคิดเห็นเป็นประการใดแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้นะครับ ^^
โฆษณา