28 มี.ค. 2020 เวลา 09:50 • สุขภาพ
New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลัง COVID-19
สิ่งที่เราทำในช่วง COVID-19 ระบาดตอนนี้ อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal)
แม้ว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุดลงไปแล้ว
จากนโยบายการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home
ที่มีการพูดถึงกันมาช่วงหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่เกิดอย่างจริงจังเสียที
แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นมาตรการที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายภายในเวลาไม่ถึงเดือน
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น
เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ต้องเปลี่ยนมาสอนผ่านช่องทางออนไลน์
จากที่พ่อแม่ของเรา ชอบไปซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต
แต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้พวกเขาทดลองสั่งของให้มาส่งที่บ้านแทน
จากที่พ่อแม่ของเรา ชอบไปทานอาหารนอกบ้านในร้านอาหาร
แต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้พวกเขาเริ่มสั่งอาหารมาทานที่บ้าน
และแม้ว่าการระบาดจะจบลงแล้ว
คนเราก็อาจจะคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ จนทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ไปแล้ว
หลายคนอาจมองว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วแม้จะไม่มีโควิด-19
แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมเดิมๆ ก่อนหน้านี้
ซึ่งพอมีปัจจัยโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นการบังคับไปในตัวว่าถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จะมีหลายธุรกิจที่เกิดใหม่ และได้ประโยชน์
หลายธุรกิจที่รอ “เวลา” ในการ Disruption จะ Disrupt ได้เร็วขึ้น โดยมีโคโรนาไวรัสเป็น “ตัวเร่งเวลา”
ในขณะเดียวกัน ก็จะมีอีกหลายธุรกิจที่ถูกเร่งให้โดน Disrupt เร็วขึ้น
และจะมีอีกหลายธุรกิจที่คิดผิด คิดว่าหลังเหตุการณ์นี้ ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม แต่มันจะไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิด เพราะมีโคโรนาไวรัสเป็นตัวที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนไป
หรือแม้พฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยน ก็จะมีอีกหลายธุรกิจที่ทนไม่ไหวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้ล้มหายตายจากไปเสียก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ก่อหนี้ไว้มาก หรือธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูง
นอกจากนั้นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่น่าจะกำลังตามมาก็คือ “การตามติดชีวิตตัวเอง”
จริงๆ แล้วช่วงที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็เริ่มได้รับความสนใจบ้างแล้ว
สังเกตได้จากตลาดอุปกรณ์สวมใส่ติดตัวหรือ Wearable ที่โตระเบิด
ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง สมาร์ตวอตช์ หรือสายรัดข้อมืออัจฉริยะ
โดยในปี 2019 ทั่วโลกมีการขายอุปกรณ์เหล่านี้เกือบ 340 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นถึง 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน
Cr. Huawei
เรานอนวันละกี่ชั่วโมง นอนเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือเปล่า
เราวิ่งได้ระยะทางแค่ไหน ทำความเร็วได้เท่าไร
เรารับประทานอะไรเข้าไปบ้าง คิดเป็นกี่แคลอรี แล้วเบิร์นหมดหรือยัง
อัตราการเต้นของหัวใจเราเป็นอย่างไร ตอนนี้มีความเครียดหรือไม่
และเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น การตามติดชีวิตตัวเอง ก็เข้มข้นขึ้นตามไปด้วย
ในแต่ละวันเราไปไหนมาบ้าง
ตอนนี้ร่างกายของเราอุณหภูมิเท่าไร มีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเราที่สนใจ..
ในสถานการณ์แบบนี้ การควบคุมการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อาจหมายถึงการที่รัฐบาลต้องสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งการตามติดชีวิตของประชาชนเพื่อระบุความเสี่ยง
หรือลงโทษคนที่ไม่ทำตามข้อบังคับ
ถ้าเป็นสมัยก่อน รัฐบาลอาจต้องจัดหาเจ้าหน้าที่เป็นล้านคนเพื่อติดตามคนทั้งประเทศ
แต่ตอนนี้โลกของเรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาจนสามารถทำงานเหล่านี้แทนได้แล้ว
และเรื่องนี้ก็กำลังเกิดขึ้น..
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีน ที่ควบคุมประชาชนอย่างใกล้ชิดผ่านสมาร์ตโฟน และกล้องตรวจจับใบหน้าทั่วประเทศ
Cr. Financial Times
การบังคับให้ประชาชนรายงานอุณหภูมิร่างกายและอาการทางสุขภาพเป็นประจำ
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยให้จีนสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว
จีนสามารถระบุได้ทันทีว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยบ้าง
นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีไม่แพ้กัน เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน
ก็มีการติดตามข้อมูลการเดินทางของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงต่อการติดโรค
Cr. Smart Cities World
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลประเทศอื่นก็จะเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการติดตามประชาชนของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
ยิ่งติดตามได้ลึกเท่าไร รัฐบาลก็จะยิ่งควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น
ก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตรัฐบาลอาจต้องการให้ประชาชนทุกคนสวมสายรัดข้อมืออัจฉริยะ
ที่คอยตรวจอุณหภูมิของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และนำข้อมูลเหล่านี้มาเข้าสู่ระบบประมวลผล
ในแง่หนึ่ง มันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะความเสียหายจากโรคระบาดก็อาจจะไม่รุนแรงเท่านี้
เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็แปลว่า ความเป็นส่วนตัวของประชาชนก็จะถูกลดทอนไปด้วย
Cr. AP
รัฐบาลในแต่ละประเทศ จะไม่เหมือนเดิม ความเข้มงวดน่าจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องคิดสำหรับประเทศที่มีการปกครองโดยเน้นเสรีภาพ
ไม่ว่าจะอย่างไร
เหตุการณ์ในครั้งนี้ คงไม่ได้เป็นบทเรียนกับแค่ประเทศจีน อิตาลี หรือ สหรัฐอเมริกา
แต่มันจะเป็นตัวจุดประกายย้ำเตือนมนุษยชาติว่า
ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่สามารถทำลายล้างมนุษย์ได้โดยไม่สนใจสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาว่าเขามีชนชาติอะไร สีผิวอะไร มีความมั่งคั่งแค่ไหน
ในขณะที่มนุษย์ยังมีความบาดหมาง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก่อสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามอาวุธ หรือสงครามการค้า
แต่หารู้ไม่ว่า ศัตรูที่แท้จริงของพวกเขา อาจไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง
ดังนั้น New Normal ที่ควรจะเป็นมากที่สุดสำหรับโลกนี้ก็คือคำว่า “สันติภาพ”
สันติภาพ และความร่วมมือกัน เป็นสิ่งท้าทายที่มนุษย์ทุกคนบนโลกควรมีไว้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าวันนี้
เพราะไม่มีอะไรมารับประกันว่า ในอนาคตจะไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรงถึงขีดสุดกว่าวันนี้
แต่ก็อย่างที่รู้กัน
คำว่าสันติภาพดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากสุด ในการทำให้เป็น New Normal ของโลกนี้เช่นกัน..
โฆษณา