28 มี.ค. 2020 เวลา 12:30 • สุขภาพ
กรณีศึกษา อาชีพใหม่ช่วงวิกฤต รับจ้างลงทะเบียนเงินเยียวยา COVID-19 จากรัฐบาล
หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาให้กับลูกจ้างนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 ด้วยการเเจกเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วันเเรกที่มีการเปิดรับลงทะเบียนปรากฎว่ามีชาวบ้านจำนวนมากไปยืนรอต่อคิวกันหน้าธนาคารกันอย่างเเออัด ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า “การที่รัฐเเจกเงินด้วยวิธีเเบบนี้ มันจะยิ่งทำให้เชื้อไวรัสเเพร่ระบาดหนักกว่าเดิมหรือเปล่า ?”
หลังจากนั้นไม่นานก็มีประกาศว่า ผู้ที่ประสงค์จะรับเงินเยียวยาสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เเล้ว ตั้งเเต่เวลา 18.00 น. ของ วันที่ 28 มีนาคม เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทางธนาคารยังเน้นย้ำให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์เท่านั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเเพร่ระบาดของไวรัส
เเต่ถ้าลองมาดูสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เเห่กันไปลงทะเบียนที่ธนาคารกันจริงๆ มันอาจไม่ใช่เเค่ “ช่องทาง” การลงทะเบียนอย่างเดียว เเต่เป็นเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ “ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไม่เป็น” บางคนยังใช้โทรศัพท์ Nokia3310 อยู่เลย โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen x เเละ Baby Boomer
นั่นจึงทำให้คนที่เห็นโอกาสจากช่องว่างตรงนี้ ได้สร้างอาชีพใหม่ขึ้นมา โดยการเปิดให้บริการรับจ้างลงทะเบียนรับเงินเยียวยา โดยมีค่าบริการตั้งเเต่ 100-500 บาท เเถมยังเคลมอีกว่าถ้าลงทะเบียนไม่สำเร็จยินดีคืนเงิน
ถ้ามองในเเง่ธุรกิจ ในเมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถเเก้ปัญหาให้กับคนที่ลงทะเบียนไม่เป็นได้ ฝ่ายหนึ่งได้รับเงินเยียวยาตามต้องการ ส่วนอีกฝ่ายได้รับเงินค่าจ้าง ก็ถือว่า Win Win ทั้งคู่
เเต่ถ้ามองในเรื่องความปลอดภัย ก็มีความเสี่ยงที่ผู้รับจ้างจะนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทะเบียนไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้องได้
เเต่อีกมุมหนึ่ง ก็จะให้ทำยังไงละ ? ในเมื่อฉันลงทะเบียนผ่านเว็บไม่เป็นฉันก็ต้องจ้างคนที่เขาทำเป็นมาทำเเทน…
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ผมจะไม่ขอตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะในช่วงเวลาเเบบนี้ต่างคนต่างก็เจอวิกฤตกันทั้งนั้น คนหนึ่งก็เจอวิกฤตจึงต้องขอรับเงินจากรัฐบาล ในขณะที่อีกคนอาจจะตกงาน เมื่อเห็นโอกาสการทำเงินจากการรับจ้างลงทะเบียนจึงต้องรีบคว้าเอาไว้
สุดท้ายเเล้ว มันไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก เเต่ขอเเค่อยู่ในกรอบของคุณธรรมจริยธรรม อย่าฉวยโอกาสทำสิ่งไม่ดีบนความทุกข์ร้อนของผู้อื่นก็พอ...
โฆษณา