30 มี.ค. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
เบิร์ต เทราต์มันน์ : ทหารนาซีที่โดนจับเป็นเชลยศึกก่อนจะเป็นตำนานเพราะ “ฟุตบอล”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความโหดร้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลังสงครามสงบ ผู้คนพากันโกรธและเกลียดคนที่เกี่ยวข้องกับนาซี รวมไปถึงชาวเยอรมัน จากสิ่งที่ผู้นำของพวกเขาได้ทำเอาไว้
อย่างไรก็ดี กลับมีอดีตทหารของฮิตเลอร์นายหนึ่ง ที่สามารถสร้างชื่อในดินแดนของศัตรูคู่สงครามอย่างอังกฤษโดยใช้เกมลูกหนังพิสูจน์ตัวเอง เขาคนนั้นมีชื่อว่า เบิร์ต เทราต์มันน์
และนี่คือเรื่องราวของเขา
พลร่มกองทัพอากาศนาซี
เบอร์นาร์ด คาร์ล “เบิร์ต” เทราต์มันน์ เกิดในปี 1923 ในครอบครัวของชนชั้นแรงงานในเมืองเบรเมน ทางตอนเหนือของเยอรมัน เขาเป็นลูกชายของพนักงานในโรงงานผลิตปุ๋ยแถวท่าเรือของเมือง และเติบโตขึ้นมาในช่วงที่พรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นมาครองอำนาจ
Photo : wwos.nine.com.au
ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของ เทราต์มันน์ ไม่ต่างจากเด็กเยอรมันทั่วไปในยุคนั้น เมื่อเขาต้องเข้าร่วมกลุ่ม “ยุวชนฮิตเลอร์” ซึ่งจะปลูกฝังอุดมการณ์แบบชาตินิยมนาซีที่มองว่าชาวอารยันคือเผ่าพันธุ์ที่ดีที่สุด ตั้งแต่อายุ 10 ปี
“การเติบโตในเยอรมันของฮิตเลอร์ คุณจะไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง” เทราต์มันน์กล่าวกับ The Guardian เมื่อปี 2010
และดูเหมือนว่าโครงการยุวชนฮิตเลอร์ จะได้ผลสำหรับเขา เมื่อตอนอายุ 17 เขาตัดสินใจสมัครเข้าเป็นทหารของพรรคนาซี โดยได้สังกัดเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ “ลุฟวัฟเฟอ” หรือกองทัพอากาศของเยอรมัน
“ผมเป็นอาสาสมัครตอนผมอายุ 17 ผู้คนต่างถามว่า ‘ทำไม?’ แต่ตอนที่คุณยังเด็ก สงครามเป็นเหมือนการผจญภัย” เทราต์มันน์กล่าวต่อ
“หลังจากนั้นเมื่อคุณต้องเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ มันต่างออกไป คุณได้เห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้น ความตาย ซากศพ ความหวาดกลัว คุณไม่สามารถควบคุมตัวเอง ร่างทั้งร่างจะสั่นไปหมด และคุณจะทำของเสียเลอะกางเกง (หมายถึงปัสสาวะหรืออุจจาระรดกางเกง)”
เทราต์มันน์ ถือเป็นทหารที่มีฝีมือ เขาเริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่วิทยุ ก่อนจะได้เลื่อนขั้นไปเป็นพลร่ม และถูกส่งไปประจำการที่แนวรบตะวันออกและตะวันตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้รับเหรียญรางวัลมากมาย รวมไปถึงเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross)
เขายังขึ้นชื่อในเรื่องความอึด หลังเฉียดตายมาแล้ว 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโดนระเบิดขณะถอยทัพกลับตอนที่ประจำการอยู่แนวหน้าที่โซเวียต หรืออยู่ในตึกที่โดนเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ฝรั่งเศส ในช่วงท้ายของสงคราม
อย่างไรก็ดี สุดท้ายเขาก็มาจนมุมตอนถูกส่งไปอยู่ที่แนวรบตะวันตก หลังถูกจับได้โดยทหารอเมริกัน ตอนแรก เทราต์มันน์ คิดว่าชีวิตเขาคงจะจบลงตรงนี้ และน่าจะโดนยิงเป้า แต่สุดท้ายยังคงได้รับการปราณี
“ตอนที่พวกเขาได้ตัวผม (หลังจากที่กระโดดข้ามรั้วและซุ่มโจมตี) สิ่งแรกที่พวกเขาพูดคือ ‘สวัสดี ฟริตซ์ ชาสักถ้วยมั้ย’”
เขาเป็นหนึ่งในทหาร 90 นายจาก 1,000 นายของนาซี ที่รอดชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนแรกเขาถูกจำคุกที่เบลเยียม ก่อนจะถูกส่งเข้ามาอยู่ในค่ายกักกันที่อังกฤษ และถูกย้ายไปอยู่ในค่ายเชลยศึกอีกหลายครั้ง ก่อนจะมาลงเอยที่ค่ายเชลยศึกที่เมืองแอชตันอินเมกเกอร์ฟิลด์ แถบแลงคาเชียร์ของอังกฤษ
และที่แห่งนี้ก็ทำให้เขาได้เจอโลกอีกใบ
เชลยศึก
อันที่จริง เทราต์มันน์ เริ่มข้องใจกับอุดมการณ์ของพรรคนาซี มาตั้งแต่ตอนที่บังเอิญเห็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยชุทสตัฟเฟิล (หน่วย SS) สังหารหมู่ชาวยิวในป่า ตอนถูกส่งไปรบที่ยูเครน
Photo : www.mirror.co.uk
“ตอนนั้นผมอายุ 18 สิ่งแรกที่ผมคิดคือ ‘คนประเทศผมทำแบบนี้ได้อย่างไร’ แต่ฮิตเลอร์คือระบอบเผด็จการที่โหดร้ายที่สุด” เทราต์มันน์ย้อนความหลังกับ The Guardian
“ในตอนแรกคุณจะไม่คิดถึงข้าศึกในฐานะมนุษย์ หลังจากนั้นเมื่อคุณคุมตัวนักโทษ คุณจะได้ยินพวกเขาร้องไห้หาพ่อหรือแม่ของพวกเขา คุณพูดว่า ‘โอ้’ ตอนที่คุณเจอข้าศึก เขาจะเป็นมนุษย์จริงๆ”
“เมื่อสงครามดำเนินไปอย่างยาวนาน คุณจะเริ่มสับสน แต่ฮิตเลอร์ เป็นระบอบเผด็จการ คุณจะไม่สามารถพูดในสิ่งที่ต้องการได้ ในกองทัพเยอรมัน คุณแค่รับคำสั่งแล้วทำตาม ถ้าคุณไม่ทำคุณจะถูกยิง”
อย่างไรก็ดี มันมาตอกย้ำตอนที่เขาเป็นเชลยศึก เมื่อเขาได้มีโอกาสทำหน้าที่คนขับรถให้กับนายทหารชาวยิวในค่ายเชลยศึก โดยเฉพาะกับจ่า เฮอร์มันน์ บลอช ที่ทำให้เขาได้เห็นความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่างออกไปจากที่เขาโดนล้างสมองมาตั้งแต่เด็ก
“ผมเริ่มเห็น บลอช และคนยิวคนอื่นในฐานะมนุษย์ ตอนแรกผมก็อารมณ์เสียกับเขาในบางครั้ง แต่ในที่สุด ผมได้คุยกับเขาในฐานะที่เขาเป็นแค่ทหารอังกฤษคนหนึ่ง ผมชอบเขา”
Photo : www.telegraph.co.uk
นอกเหนือจากการเป็นคนขับรถ ในค่ายเชลยศึก เทราต์มันน์ ยังมีโอกาสได้เล่นฟุตบอล กีฬายอดฮิตของค่าย และเป็นกีฬาที่เขาเล่นมาตั้งแต่เด็ก ในตอนแรกเขาเล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ แต่เปลี่ยนมาเล่นเป็นผู้รักษาประตูด้วยความบังเอิญ หลังได้รับบาดเจ็บในเกมหนึ่ง
1
และมันก็ทำให้พรสวรรค์ในการเป็นเทพปกปักษ์ได้เฉิดฉายออกมา ด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่และบึกบึน จากส่วนสูง 189 เซนติเมตร บวกกับฝีไม้ลายมือการเซฟประตูที่ยอดเยี่ยม ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วทั้งค่าย
ผลงานดังกล่าวทำให้ เทราต์มันน์ ตัดสินใจที่จะเอาดีทางด้านฟุตบอล ทำให้หลังถูกปล่อยตัวออกจาก ค่ายเชลยศึกในปี 1948 เขาปฏิเสธการถูกส่งกลับเยอรมนี และเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในฐานะนักเตะของ เซนต์ เฮเลน ทาวน์ สโมสรนอกลีกทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ
เขาเล่นให้กับ เซนต์ เฮเลน อยู่สองฤดูกาล ก่อนที่ฝีไม้ลายมือของเขาจะไปเตะตาทีมดังในลีกสูงสุด จนกลายเป็นนักเตะเนื้อหอม แต่เป็น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ว่องไวจับเขาเซ็นสัญญาได้ก่อนใคร
อย่างไรก็ดี ชีวิตในดินแดนของอดีตศัตรูก็ไม่ง่ายขนาดนั้น
ชาวยิวต่อต้าน
ด้วยแนวคิดแบบขวาจัดอย่างสุดโต่งของพรรคนาซี ทำให้พวกเขาปลูกฝังอุดมการณ์แบบชาตินิยมที่ยกย่องชาวอารยัน (ชาวนอร์ดิก ผมสีทองตาสีฟ้า) ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์
Photo : www.manchestereveningnews.co.uk
ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต่อต้านเผ่าพันธุ์อื่น โดยเฉพาะชาวยิว ที่มองว่าเป็นผู้กุมเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปต้นตอที่ทำให้เยอรมนี พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยการจำกัดสิทธิ์ ลามไปถึงการกำจัดในระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำให้ชาวยิวต้องสังเวยชีวิตไปกว่า 6 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
มันจึงทำให้ตอนที่ แมน ซิตี้ เซ็นสัญญาคว้าตัว เทราต์มันน์ มาร่วมทีม เกิดเสียงต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนถึง 20,000 คนในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งเมืองที่มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ตั้งอยู่
เพราะไม่เพียงแต่เทราต์มันน์ จะเป็นชาวเยอรมัน เขายังเป็นอดีตทหารของนาซี กองทัพที่เคยเข่นฆ่าพี่น้องของพวกเขาอย่างทารุณในช่วงสงครามโลก และเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เพิ่งจะผ่านไปไม่กี่ปี ซึ่งทำให้พวกเขายากจะทำใจรับได้
“เมื่อผมนึกถึงคนยิวเป็นล้านคนที่โดนทารุณและโดนฆ่า ผมได้และประหลาดใจต่อความคิดที่โง่เขลาของแมนเชสเตอร์ ซิตี้” จดหมายจากประชาชนที่ตีพิมพ์ใน Manchester Evening News
“ผมเป็นแฟนซิตี้มา 45 ปีแต่ถ้าคนเยอรมันคนนี้ได้เล่น ผมจะร้องเรียนไปที่กองทหารอังกฤษ และสโมสรของอดีตเจ้าหน้าที่ชาวยิวเพื่อคว่ำบาตรซิตี้” อีกฉบับหนึ่งระบุ
อย่างไรก็ดี อเล็กซานเดอร์ อัลท์มันน์ อาจารย์ของชุมชนชาวยิวในเมืองแมนเชสเตอร์ กลับคิดต่างออกไป เขาวิงวอนขอให้ชาวยิวในเมืองให้โอกาสผู้รักษาประตูคนใหม่ของ แมนฯ ซิตี้ และมองว่าบุคคลไม่ควรถูกลงโทษ เพราะความผิดบาปที่ประเทศได้ก่อเอา
“สมาชิกแต่ละคนของชุมชนชาวยิวต่างมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้มีการดำเนินการในชุมชนเพื่อสนับสนุนข้อเสนอนี้ (บังคับให้เทราต์มันน์ออกจากสโมสร)” อัลท์มันน์ กล่าวในตอนนั้น
“แม้ว่าเราจะเผชิญกับความเลวร้ายแสนสาหัสจากชาวเยอรมัน แต่เราจะพยายามไม่ลงโทษชาวเยอรมันเป็นส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนี้ และควรอยู่เหนือจากความเกลียดชัง”
“ถ้านักฟุตบอลคนนี้เป็นเด็กหนุ่มที่ใช้ได้คนหนึ่ง ผมจะบอกว่าเขาไม่มีอันตรายใดๆ แต่ละคนก็ควรตัดสินจากความดีของเขา”
Photo : www.edp24.co.uk
การออกมาพูดของ อัลท์มันน์ ทำให้ เสียงต่อต้านของเทราต์มันน์ เริ่มซาลงไป ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะตัดสินใจไปอธิบายเรื่องนี้ต่อคนในชุมชนชาวยิวด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
“ต้องขอบคุณ อัลท์มันน์ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนทุกคนก็ลืมเรื่องนี้ไปหมด” อดีตผู้รักษาประตูแมนซิตี้ กล่าวกับ The Guardian
“หลังจากนั้น ผมได้ไปที่ชุมชนชาวยิว และพยายามอธิบายทุกอย่าง ผมพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ของคนเยอรมันในทศวรรษที่ 1930s และสถานการณ์ที่เลวร้าย”
“ผมถามพวกเขาว่าถ้าพวกเขาอยู่ในจุดเดียวกัน ภายใต้ระบอบเผด็จการ พวกเขาจะปฏิบัติอย่างไร พอได้คุยแบบนั้น ผู้คนก็เริ่มเข้าใจ”
ก่อนที่มันจะทำให้เขาจะกลายเป็นที่รักของแฟนบอล
ตำนานแห่งเอฟเอคัพ
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะโดนปรามาส และยังมีเสียงต่อต้านอยู่บ้างจากแฟนบอลบางกลุ่ม แต่ทันทีที่พวกเขาได้เห็นฝีไม้ลายมือในเกมนัดแรกของ เทราต์มันน์ มันก็ทำให้พวกเขาเห็นว่านักเตะคนใหม่คนนี้มีความสำคัญของทีมขนาดไหน
Photo : www.newstalk.com
นายด่านเยอรมัน ป้องกันประตูไว้ได้หลายจังหวะ และช่วยให้ แมน ซิตี้ เอาชนะ เบอร์มิงแฮมไปอย่างขาดลอย 4-0 ที่ทำให้เขาเปลี่ยนสถานะจากอดีตทหารศัตรูมาเป็นที่รักของแฟนบอลซิตี้ ในเวลาไม่นาน
หลังจากนั้น เขาได้เปลี่ยนสถานะจากศัตรู มาเป็นนักเตะขวัญใจแฟนบอลของแมน ซิตี้ และสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นนักเตะที่ขาดไม่ได้ของเรือใบสีฟ้า เขาไม่เพียงโดดเด่นในจังหวะการเซฟประตู แต่ยังกล้าและบ้าบิ่น
แต่สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำได้มากที่สุดคือเกมเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศกับเบอร์มิงแฮมที่เวมบลีย์ในปี 1956
มันเป็นเกมนัดชิงฯ เอฟเอคัพ ปีที่สองติดต่อกันของ ซิตี้ หลังปีที่แล้วพวกเขาต้องอกหักในการพบกับ นิวคาสเซิลหลังพ่ายด้วยสกอร์ 1-3 ทำให้ปีนี้พวกเขามุ่งมั่นเป็นพิเศษ และเทราต์มันน์ ก็ได้รับโอกาสนี้อีกครั้ง
เกมเริ่มอย่างสนุกท่ามกลางผู้ชมกว่า 100,000 คนในสนาม โดยเรือใบสีฟ้า ทำได้ดีกว่า เมื่อเป็นฝ่ายออกนำตั้งแต่นาทีที่ 3 จากจังหวะที่ รอย คลาก เปิดบอลเข้าไปในเขตโทษ รอน เดวีส์ ตอกส้นให้ โจ เฮย์ส ยิงเข้าไปอย่างไม่อยากเย็น
แต่เบอร์มิงแฮมก็ไม่ยอมแพ้ นาทีที่ 16 พวกเขาก็มาได้ประตูตีเสมอ จากจังหวะขลุกขลิกในกรอบเขตโทษ บอลมาถึง โนล คินเซย์ ก่อนจะซัดเช็ดเสาเข้าไป สุดปัญญาที่ เทราต์มันน์ จะรับได้ ทำให้เกมกลับมาเป็น 1-1 และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นั้น
ทว่าครึ่งหลังกลายเป็น แมนฯ ซิตี้ ที่เดินหน้าเข้าใส่ ก่อนที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จ หลังได้สองประตูรวดภายในสองนาทีจาก แจ็ค ไดสัน ในนาทีที่ 62 และ บ็อบบี้ จอห์น สโตน ในนาทีที่ 64 นำห่างเป็น 3-1
อย่างไรก็ดีในช่วง 16 นาทีสุดท้าย ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ปีเตอร์ เมอร์ฟี กองหน้าของเบอร์มิงแฮม ได้บอลในกรอบเขตโทษ ในขณะที่ เทราต์มันน์ ก็พยายาม ออกมาเอาบอล แต่โชคร้ายที่เข่าของเมอร์ฟี กระแทกเข้าไปที่ศีรษะผู้รักษาประตูชาวเยอรมันอย่างจังจนล้มฟุบ
หลังจากพยายามปฐมพยาบาลในสนาม อาการของเทราต์มันน์ ก็ยังไม่ดีขึ้น แถมในตอนนั้นยังไม่มีกฎเปลี่ยนตัว ซึ่งหมายความว่าหากเขาเล่นไม่ไหว แมนฯ ซิตี้ ต้องเหลือ 10 คน และจะไม่มีผู้รักษาประตูอาชีพเฝ้าเสา
แต่ เทราต์มันน์ ก็ตัดสินใจกัดฟันเล่นต่อทั้งที่ยังเจ็บ ทั้งที่น่าจะเจ็บปวดมากๆ เพราะหลังเกมผลเอ็กซเรย์บอกว่าเขาคอหักไปแล้วตั้งแต่ในเกม และเสี่ยงถึงขั้นอัมพาตและเสียชีวิต
“ผมยังคงเจ็บถ้าขยับหัวโดยไม่ตั้งใจ แต่ผมโชคดีมาก ศัลยแพทย์บอกผมว่าผมอาจจะตายหรือเป็นอัมพาต” เทราต์มันน์กล่าว
ก่อนที่ความทุ่มเทของเขาจะสัมฤทธิ์ผล เมื่อการมีเขาอยู่ในสนาม ช่วยให้เรือใบสีฟ้ารักษาสกอร์ไว้ได้ เอาชนะไปด้วยสกอร์ 3-1 พร้อมทั้งคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพสมัยที่ 3 ไปครอง และเป็นแชมป์เมเจอร์สมัยแรกของนายด่านเลือดดอยช์
นอกจากนี้จิตวิญญาณนักสู้ของเขาดังกล่าวยังทำให้ เทราต์มันน์ ได้รับเลือกเป็นนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของสมาคมนักเตะอาชีพในปี 1956 โดยเป็นผู้เล่นต่างชาตินอกเกาะอังกฤษ และผู้รักษาประตูคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
และมันก็ทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งนักเตะในตำนานของเอฟเอคัพ และเรือใบสีฟ้า
มรดกที่เหลือเอาไว้
“เมื่อคนถามผมเกี่ยวกับชีวิต ผมบอกว่าการศึกษาผมเริ่มต้นตอนที่มาอังกฤษ ผมได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ความอดกลั้น และการให้อภัย” เทราต์มันน์กล่าวกับ The Guardian
Photo : www.mancity.com
หลังนัดชิงชนะเลิศ 1956 เทราต์มันน์ ยังคงเล่นให้แมน ซิตี้มาจนถึงปี 1964 เขาลงเล่นให้เรือใบสีฟ้ารวมทุกถ้วยไปถึง 545 นัด ตลอด 15 ฤดูกาลในถิ่นเมน โรด ถือนักเตะลำดับต้นๆ ที่ลงเล่นให้ทีมมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
แม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสเล่นให้ทีมชาติเยอรมัน หลังค้าแข้งในอังกฤษ แต่เขาก็ได้รับการยกย่องในฐานะสุดยอดผู้รักษาประตูแห่งยุค ถึงขนาดครั้งหนึ่ง เลฟ ยาชิน นายด่านระดับตำนานของโซเวียตยังชื่นชม
“มีผู้รักษาประตูระดับเวิลด์คลาสแค่สองคนในโลก คนหนึ่งคือ เลฟ ยาชิน และอีกคนคือเด็กเยอรมันที่เล่นให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ยาชินกล่าว
นอกจากนี้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี ในปี 2004 จากการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและเยอรมัน
Photo : wikipedia.org
ในขณะที่เรื่องราวของเขายังได้นำถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ The Keeper ที่นำแสดงโดย เดวิด ครอส นักแสดงชื่อดังชาวเยอรมัน และออกฉายไปเมื่อปี 2019 แต่น่าเสียดายที่ เทราต์มันน์ ไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้ หลังอำลาโลกไปตั้งแต่ปี 2013 ด้วยวัย 89 ปี
เทราต์มันน์ คือคนที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า แม้อดีตจะเคยเกลียดกันถึงขั้นห้ำหั่นกัน หรือเป็นคู่สงครามแค่ไหน แต่ “ฟุตบอล” ก็ทำให้ความรู้สึกนี้จางลงได้ หากทั้งสองฝ่ายรักในสิ่งเดียวกัน
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมฟุตบอลจึงสวยงาม
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
โฆษณา