30 มี.ค. 2020 เวลา 09:33 • ประวัติศาสตร์
เครื่องบินประวัติศาสตร์ " นางสาวสยาม " กับ น.อ. เลื่อน พงษ์โสภณ (ลินด์เบิร์กแห่งสยาม/นายเลื่อนกระดูกเหล็ก)
3
รูปภาพถ่ายนายเลื่อน กับ" นางสาวสยาม "เมื่อประมาณปี พ.ศ.2470 (Cr:guitarthai.com)
.....สยามประเทศของเรานั้น ในอดีตมีบุคคลที่เก่งมากๆคนหนึ่ง มีความสามารถโดดเด่น ที่น่าศึกษาชีวประวัติของท่าน ด้วยมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องบินที่ตัวท่านเอง ตั้งชื่อน่ารักๆว่า "นางสาวสยาม " ซึ่งเป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย และได้ทำการบินจากดอนเมืองไปฮ่องกงได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
😀 อยากจะชวนกันมาทำความรู้จักกับสุภาพบุรุษท่านนี้กับเครื่องบินของท่านกันเลยค่ะ
😊 ในอดีตราวๆ 90 ปีที่แล้ว ชาวบางกอก ไม่มีใคร ไม่รู้จัก นายเลื่อน พงษ์โสภณ กับฉายา " นายเลื่อนกระดูกเหล็ก " เพราะก่อนที่ท่านจะกลายมาเป็นนักบินและได้รับพระราชทานยศนั้น ท่านสร้างความดังจาก การเป็นนักบิดมอเตอร์ไซด์ รุ่นบุกเบิกของเมืองไทยมาก่อน
....ท่านเป็นคนไทยคนแรก ที่ขี่มอเตอร์ไซด์โชว์ไต่ถัง(ทำได้แบบที่พวกฝรั่งเข้ามาแสดงโชว์) และได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันต่างๆราว 200ใบ
😊 นอกจากนั้น ท่านยังได้สร้างคุณูปการให้แก่เมืองไทย อาทิ เช่น การประดิษฐ์ " รถสามล้อ" ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รถลากที่มักเรียกกันว่า " รถเจ๊ก " ที่นิยมใช้ในสมัยก่อน นอกจากนั้นยังประดิษฐ์ กระเช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเล็กและเครื่องเล่นออกร้านอีกหลายอย่าง รวมถึงเป็นเป็นผู้ถ่ายทำภาพยนต์ 16 มม.สำเร็จเป็นคนแรกในประเทศไทย
นายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 (เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2441 )บิดามารดา มีอาชีพค้าขาย มีร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อ " ร้านจำหน่ายของสยาม " และทำธุรกิจโรงเลื่อยด้วย
ด้วยความที่เป็นลูกเจ้าของโรงเลื่อย ทำให้นายเลื่อน สนใจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องยนต์กลไกต่างๆมาตั้งแต่เด็ก
ยุคสมันนั้นพอเริ่มมีมอเตอร์ไซด์เข้ามาในเมืองไทย ดูเป็นของใหม่ เพิ่งมีไม่กี่คัน นายเลื่อนก็ไดเป็นเจ้าของฮาเลย์เดวิดสัน 3 สูบคันหนึ่ง
สมัยนั้นมีการแข่งขันประลองความเร็วกันที่สนามหลวง นายเลื่อนก็เข้าร่วมแข่งขันทุกครั้ง ด้วยความกล้าใจถึง บิดไม่กลัวเจ็บ กลัวตาย ทำให้นายเลื่อนชนะเป็นที่ 1 ทุกครั้งไป จนได้ฉายา " นายเลื่อนกระดูกเหล็ก " ไปครอง
ต่อมาบิดาอยากให้นายเลื่อนไปเรียนด้านกฎหมาย แต่เจ้าตัวกลับยืนกรานที่จะสมัครเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ในวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ.2460 ไทยได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เตรียมส่งทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร นายเลื่อนซึ่งในขณะนั้นเรียนใกล้จะจบโรงเรียนนายร้อยอยู่แล้ว กลับตัดสินใจลาออกกลางคัน แล้วเข้าร่วมเป็นทหารอาสาไปรบที่ยุโรป (เข้าอยู่ในหน่วยยานพาหนะ)
ภาพที่หาดูได้ยาก:ในสมัยรัชกาลที่ 6 ราชอาณาจักรสยาม ได้ประกาศสงครามกับต่อเยอรมันนี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 และตัดสินใจส่งทหารอาสาจำนวน 1,284 นายไปร่วมรบที่ฝรั่งเศส(cr:www.clipmass.com)
เมื่อสงครามสงบ ทางราชการให้ทุนสนับสนุนทหารอาสาที่สนใจเรื่องเครื่องยนต์ไปเรียนต่อที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส นายเลื่อนสอบคัดเลือกเข้าได้เป็นอันดับหนึ่ง จึงได้ไปเรียนต่อจนจบหลักสูตรช่างยนต์
ต่อมาในปีพ.ศ.2473 นายเลื่อนได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ไปเรียนด้านการบินที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกาอีกเป็นเวลา 3 ปี
(Cr:www.moomnangsue.com)
ระหว่างที่เรียนอยู่นั้น นายเลื่อนได้ไปรับจ้างแสดงโชว์การบินผาดโผนตามรัฐต่างๆหลายรัฐ เป็นที่ชื่นชอบของคนดู จนสามารถเก็บเงินซื้อเครื่องบินที่ชอบได้ลำหนึ่ง ในราคา 6,000 บาท ตั้งใจจะนำกลับมาเมืองไทย โดยตั้งชื่อให้ว่า " นางสาวสยาม " หรือ "Miss Siam "
ภาพในอดีต นายเลื่อนกับ " นางสาวสยาม" (cr:www.chiangmainews.co.th)
โดย " นางสาวสยาม " เป็นเครื่องบิน 2 ที่นั่ง แบบเทรเวล แอร์ โครงลำตัวทำด้วยเหล็ก ห่อหุ้มด้วยผ้า ขนาดยาว 24 ฟุต 7 นิ้ว
โครงสร้างของปีกภายในเป็นไม้ ใบพัดทำด้วยไม้ เครื่องยนต์ curtis ox-5 กำลัง 90 แรงม้า 1,450 รอบต่อนาที ความเร็วสูงสุด 110 ไมล์ต่อชั่วโมง
ช่วงแรกที่นายเลื่อนกลับมาเมืองไทย ยังไม่ได้รับการเชื่อถือจากทางราชการ จึงยังหางานทำไม่ได้ (ช่วงนั้นกองทัพไทยมีเครื่องบินใช้แล้ว ตั้งเป็นกรมอากาศยาน สังกัดกองทัพบก โดยสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส 8 ลำ โดยส่งทหารไทยไปฝึกบินกับบริษัทผู้จำหน่ายและมีนักบินครบแล้ว)
นายเลื่อนคิดหาทางที่จะโชว์ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยและได้ทำประโยชน์ในด้านเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยการขับ " นางสาวสยาม " บินไปฮ่องกง
นายเลื่อนจึงทำหนังสือ ยื่นขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหม โดยแจ้งไปทางนายพลโทพระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพไทยผู้นำทหารอาสาไปรบในยุโรป ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกสมาคมสหายสงคราม(ซึ่งนายเลื่อนเป็นสมาชิกอยู่ด้วย) ขอให้สมาคมนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ
ต่อมานายเลื่อนได้รับหนังสือของ เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ส่งมาถึงบ้าน โดยใจความสรุปว่า...
" เรื่องนายเลื่อน พงษ์โสภณ จะทำการบินจากสยามไปฮ่องกง เพื่อเชื่อมความสามัคคีนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลฯแล้วมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯว่า ความคิดนี้ดีมาก เพราะการบินนี้จะเป็นประโยชน์ให้ความรู้แก่บริษัทเดินอากาศ ถ้าได้ผลอย่างไร พบเหตการณ์อย่างไร ให้แจ้งผลให้แก่กระทรวงพานิชย์และคมนาคมทราบด้วย และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพร ให้ทำการบินสำเร็จโดยเรียบร้อย "
เมื่อดำเนินเรื่องทุกอย่างพร้อมแล้ว เที่ยวบินแห่งประวัติศาสตร์กำลังจะเริ่มขึ้น ......เมื่อถึงเวลาตามกำหนด นายเลื่อนจึงทำการบินแบบฉายเดี่ยว ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินทางได้รับการสนันสนุนหลักๆจาก สโมสรสามัคคีจีนสยาม
ในการเดินทางครั้งนี้นายเลื่อน ไม่มีอาวุธ ไม่มีกล้องถ่ายภาพใดๆ ที่ทำให้เกิดข้อสงสัย อันอาจใช้เป็นเครื่องมือจารกรรม รวมทั้งสิ่งของต้องห้ามในการบินทั้งหลาย
การเดินทางโดย" นางสาวสยาม " ของนายเลื่อนครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวครึกโครม และตั้งฉายาให้เขาว่า " ลินด์เบิร์กสยาม " ตามชื่อของ ชาร์ล ลินเบิร์ก วีรบุรุษนักบินอเมริกันผู้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ.2470
ชาร์ล ลินเบิร์ก นักบินคนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ(cr:www.dek-d.com)
การเดินทางของนายเลื่อน จะต้องลงจอดเพื่อพักเครื่องและเติมน้ำมันเป็นระยะๆ เช่น แวะที่...นครราชสีมา ร้อยเอ็ด นครพนม ฮานอย(เวียดนาม) เมืองมองเก (เวียดนาม) เมืองไทปิง(จีน) และสุดท้ายไปถึงฮ่องกงแวะพัก 3 คืน จึงเดินทางกลับเส้นทางเดิมกลับมาถึงสนามบินดอนเมืองวันที่ 3 กรกฎาคม
1
ในระหว่างที่เดินทาง นายเลื่อนได้ส่งข่าวโดยโทรเลข หนังสือพิมพ์ได้เสนอข่าวทุกเส้นทางที่นายเลื่อนบอกเล่าถึงอุปสรรค สภาพอากาศและภูมิประเทศต่างๆที่เป็นปัญหา
แม้ว่าประเทศไทยจะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นข่าวใหญ่เต็มหน้าหนึ่ง แต่ด้านในของหนังสือพิมพ์ก็ไม่ลืมที่จะ ติดตามลงข่าวเส้นทางการบินของนายเลื่อนอย่างสม่ำเสมอ
ในระหว่างการเดินทาง จากการบอกเล่าของนายเลื่อน มีหลายครั้งหลายคราวที่เจออุปสรรคทั้งสภาพอากาศ ภูมิประเทศ และปัญหาทางเทคนิคต่างๆ จนบางครั้งก็เฉียดตาย เกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในที่สุด นายเลื่อนก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ พา " นางสาวสยาม " เดินทางกลับมายังเมืองไทยได้ปลอดภัย
ชีวิตหลังจากนั้น นายเลื่อนได้เข้าทำงานกับบริษัทเดินอากาศไทย ประจำอยู่จ.นครราชสีมา ต่อมาได้เป็น สส.ของโคราช 4 สมัย ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 6 รัฐบาล และได้รับพระราชทานยศนาวาอากาศเอก
หลังจากที่นายเลื่อนเสียชีวิต เมื่อ 29 กรกฏาคม พ.ศ.2519 ทายาทได้มอบ " นางสาวสยาม " ให้แก่ศูนย์การบินทหารบก จ.ลพบุรี นำไปติตั้งที่พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ ฯ
ต่อมามูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ได้ขอ " นางสาวสยาม " ไปบูรณะเพื่อให้กลับมาบินใหม่อีกครั้งภายใต้โครงการที่ชื่อว่า " โครงการฟื้นฟูเครื่องบินนางสาวสยาม "
โดยโครงการนี้จะนำ " นางสาวสยาม " บินย้อนรอยประวัติศาสตร์ที่นายเลื่อนกระดูกเหล็กเคยบินมาก่อน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 70 ปี การบินครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2475 นำโดยนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยศริน
พ.ศ.2545 เครื่องบิน " นางสาวสยาม " ได้รับการปรับปรุงและอนุรักษ์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้เครื่องยนต์เดิม ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย(cr:www.th.m.wikipedia)
" นางสาวสยาม " (นางเอกของงาน)นิทรรศการการบินพลเรือน พ.ศ. 2552 ณ.ท่าอากาศยานดอนเมือง
🌸🌸 ขอจบเรื่องราวของคนไทยที่กล้าหาญ ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งมีฉายาว่า " ลินเบิร์กสยาม" หรือ " นายเลื่อนกระดูกเหล็ก " หวังว่าเรื่องราว ชีวประวัติของบุรุษท่านนี้คงจะเป็นประโยชน์และได้ความรู้เสริมบ้างนะคะ 😍😍.....ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ🙏🏼🙏🏼
❤️ หากชอบสาระ& ความรู้
😍😍 ฝาก กด like &share
🙏🏼🙏🏼 กดติดตามด้วยนะคะ
ขอบพระคุณค่ะ
Dent-jasmine เรียบเรียง
(ขอบคุณข้อมูลจาก...)
Reference
-www.th.wikipedia.org/wiki/นางสาวสยาม
-www.mgronline.com/onlinesection/detail/9590000063937
-www.talk.mthai.com/inbox/376642.html
โฆษณา