31 มี.ค. 2020 เวลา 11:45
รู้จักสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ "หัวลำโพง"
ก่อนย้ายไปใช้สถานีรถไฟกลางบางซื่อ
ในต้นปี 2564 เราจะได้เห็นสถานีรถไฟกลางบางซื่อที่กำลังจะเปิดใช้งาน ซึ่งจะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกให้แก่ประชาชน
ในส่วนของสถานีหัวลำโพงยังคงเปิดใช้บริการเหมือนเดิมเพียงแต่จะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีน้อยลงและจะปรับพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้
‘เจาะเวลาหาอดีต’พาท่านผู้อ่านย้อนไปรู้จักความเป็นมาของสถานีรถไฟหัวลำโพงแห่งนี้กันครับ
ภาพจาก:https://travel.mthai.com/blog/214576.html
สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า หัวลำโพง ก่อสร้างช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบัน 104 ปี
อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพงออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกผู้ออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง
พระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี
โดยแท้จริงแล้วสถานีรถไฟกรุงเทพกับสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้นแยกส่วนกัน
เพียงแต่ตั้งอยู่ใกล้กัน สถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย ส่วนสถานีรถไฟหัวลำโพง มีชื่อเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ เป็นทางรถไฟเอกชน ที่สัมปทานได้โดยโดยชาวเดนมาร์ก แต่ก็ปิดการบริการลงไปในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503
ภาพจาก:https://travel.mthai.com/blog/214576.html
อย่างไรแล้วผู้คนยังนิยมเรียกสถานีกรุงเทพ ว่าสถานี "หัวลำโพง" ตามชื่อคลองและถนนในบริเวณใกล้เคียง
คำว่า "หัวลำโพง" เป็นชื่อที่ไม่ปรากฏหลักฐานที่มาของชื่อชัดเจน มีผู้สันนิษฐานที่มาของชื่อหลายอย่าง เช่น บางท่านสันนิษฐานว่าคำ "หัวลำโพง"น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า 'วัวลำพอง'
โดยอ้างที่มาของ'คำวัวลำพอง' ว่า ท้องทุ่งแถบนี้เคยเป็นบริเวณทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงวัวของแขก แขกเจ้าของวัวมักปล่อยให้วัวหาหญ้ากินเองโดยไม่ได้ผูก วัวที่เลี้ยงในทุ่งนี้มีที่กว้างจึงมักวิ่งเล่นกันอย่างคึกคะนอง
เป็นที่มาของคำว่า 'วัวลำพอง' และได้กลายเป็น "หัวลำโพง"ในที่สุด
แต่ก็มีผู้แย้ง เช่น คุณพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) มีข้อมูลมาชี้แจงคำว่า "หัวลำโพง"ไม่ได้เพี้ยนมาจากคำ'วัวลำพอง'
แต่มีความหมายของตัวเองคือ หมายถึง ส่วนเริ่มต้นของลำเหมืองหรือลำรางที่มีโพงน้ำเข้าไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูก
1
ด้วยเหตุว่าพื้นที่ในบริเวณนั้นได้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากจึงมีส่วนที่เรียกกันว่า “หัวลำโพง”
ขุนวิจิตรมาตรา ผู้ประพันธเพลงชาติ
ทางด้าน ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวเกี่ยวกับชื่อหัวลำโพงว่า บริเวณทุ่งนี้น่าจะมีทั้งชื่อ 'วัวลำพอง' และ "หัวลำโพง" เพราะในแผนที่เก่านอกเขตคลองผดุงกรุงเกษมเป็นทุ่งโล่ง มีคลองเล็กคลองน้อยขุดผ่านมากมาย คลอง
หนึ่งมีชื่อระบุว่า 'วัวลำพอง'
โดยชื่อ'วัวลำพอง' จึงอาจเป็นชื่อทุ่งนาตอนหนึ่งส่วนชื่อหัวลำโพงน่าจะเป็นทุ่งส่วนที่อยู่ใกล้กัน โดยมีคลองถนนตรงเเบ่ง ทุ่งนี้น่าจะเรียกตามชื่อต้นไม้ที่มีขึ้นซุกชุมในบริเวณนี้คือ ‘ต้นลำโพง’
การเรียกทั้ง 2 ชื่อสับสนกันไปมา คือเรียกทั้งวัวลำพองและหัวลำโพง จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 หน้า 148 พ.ศ. 2440 ว่า วัวลำพองกับหัวลำโพงไม่ใช่สถานที่เดียวกัน
สมเด็จพระปิยมหาราชพร้อมสมเด็จพระราชินีนาถทรงเปิดรถไฟสายแรกของสยาม
ต่อมาในปี พ.ศ.2454 พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งทรงมีไปยัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เจ้ากรมตรวจการศึกษา ในกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ร.ศ.129 หรือ พ.ศ.2454 พระราชหัตถเลขานี้ทรงแสดงถึงความห่วงใยในการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ มีความตอนหนึ่งว่า
“...ชื่อเมืองที่เคยมีในภาษาไทย ให้ใช้ภาษาไทย อย่าให้จดหมายเหตุแลพงศาวดารแตกสูญเสียได้จะดี ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไป จะหลงไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่าๆที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเมืองในเรื่องพระอภัยมณีไปหมด ทำให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องควรฟาดเคราะห์จริงๆ...”
ตามบันทึกที่กล่าวมา คำว่า “หัวลำโพง” เป็นชื่อดั้งเดิม แต่ฝรั่งเรียกเพี้ยนเป็น “วัวลำพอง”
มีหลายข้อสันนิษฐานครับแต่ผมจะขอยึดเอาพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นหลักฐานอันสิ้นสุด
ต่อมาเมื่อทุ่งกว้างบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป หมดสภาพการเป็นทุ่งเลี้ยงวัว'คำวัวลำพอง'
จึงหายไปเหลือแต่คำ"หัวลำโพง" เมื่อมีการ
ตัดถนนผ่านบริเวณนั้นได้เรียกชื่อถนนว่า ถนนหัวลำโพง
ต่อมาเพื่อความเหมาะสมจึงเปลี่ยนชื่อถนนหัวลำโพงเป็นถนนพระราม 4 และนี่คือตำนานของหัวลำโพงสถานีรถไฟที่กำลังจะกลายเป็นตำนานแห่งการรถไฟของประเทศไทยในเร็วๆนี้
❤️กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- หนังสือ ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ
โฆษณา