2 เม.ย. 2020 เวลา 22:16 • ปรัชญา
“ฝืนความอยาก”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๓ เมษายน ๒๕๖๓
คำว่าพอนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหยุดความอยากต่างๆ พอหยุดความอยากต่างๆ แล้วความพอมันก็ปรากฏขึ้นมาเอง ความอิ่มมันก็ปรากฏขึ้นมาเอง เพราะความพอกับความอยากมันเป็นเหรียญ ๒ ด้าน ถ้าเราหงายเหรียญขึ้นมาด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็อยู่ข้างล่าง มันจะโผล่ขึ้นมา ๒ ด้านพร้อมกันไม่ได้ เหมือนกับความมืดกับความสว่าง มันก็โผล่ขึ้นมาพร้อมกันไม่ได้ ความสุขกับความทุกข์ก็เกิดจากความอยากและความไม่อยากนั่นเอง หรือเกิดจากความอิ่มนั่นเอง เวลามีความอยากก็เกิดมีความทุกข์ขึ้นมา ความอิ่มก็หายไป พอเวลาไม่มีความอยากความอิ่มก็โผล่ขึ้นมา นี่วิธีที่จะทำให้ใจของเราอิ่มนี้ไม่ใช่ไปทำตามความอยาก ถึงแม้ว่าจะอิ่มแต่อิ่มเดี๋ยวเดียว อิ่มแล้วเดี๋ยวก็หิวใหม่ ทำตามความอยากความอยากก็จะสงบตัวลงชั่วคราว แล้วเดี๋ยวความอยากก็โผล่ขึ้นมาใหม่ วิธีที่จะทำให้ความอยากมันสงบแบบไม่โผล่กลับขึ้นมาก็คืออย่าไปทำตามความอยาก ฝืนมัน มันอยากสูบบุหรี่ก็อย่าไปสูบมัน เดี๋ยวสักพักหนึ่งความอยากมันหมดแรงแล้วมันก็จะไม่มีความอยากจะสูบบุหรี่ ช่วงที่จะฝืนมันถ้าเราทรมานเราก็ใช้ยาหม่องของพระพุทธเจ้ามาแก้ความทรมานได้ ยาหม่องก็คือการใช้สติทำใจให้สงบนั่นเอง
ดังนั้น ก่อนที่เราจะมาต่อสู้กับความอยากได้ด้วยปัญญาเราจึงต้องมีสมาธิก่อน สมาธินี่เป็นเหมือนกับยาที่จะมาช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานใจเวลาที่เราฝืนความอยากเวลาที่เราไม่ทำตามความอยาก พอมันอยากเราก็เข้าสมาธิไป หรือมองมุมกลับมองให้เห็นว่าการที่เราไปหาความสุขจากสิ่งที่เราอยากได้นั้นมันอาจจะกลายเป็นความทุกข์ก็ได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางทีอยากได้แต่พอไปหามากลับไม่ได้ก็ผิดหวังเสียใจอีก แต่ถ้าไม่อยากได้ก็จะไม่มีวันผิดหวังไม่มีวันเสียใจ หรือถ้าได้สิ่งที่ได้มาแล้วเดี๋ยวมันอาจจะจากเราไปก่อนก็ได้ ไม่มีใครรับประกันได้ว่าสิ่งที่เราได้มานั้นจะอยู่กับเราไปตลอดเวลา จะต้องมีวันพลัดพรากจากกันไม่ช้าก็เร็ว ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่จากกันตอนเป็นก็ต้องจากกันตอนตาย พอเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
นี่คือเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในการต่อสู้กับความอยากต่างๆ ต้องสู้ด้วยการใช้เหตุผลใช้ปัญญาใช้ความจริงว่าถ้าทำตามความอยากแล้วจะไม่มีวันสิ้นสุด จะต้องทำอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่อยากจะทำตามความอยากก็ต้องมองเห็นผลที่จะเกิดว่าสิ่งที่เราได้มานั้นมันอาจจะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาแทนการเป็นความสุขก็ได้ พอเห็นว่าเป็นความทุกข์แล้วก็เปลี่ยนใจไม่เอาดีกว่า อย่างบางคนแต่งงานกันแล้วถึงมาเสียใจในภายหลัง รู้อย่างนี้ไม่แต่งดีกว่า เพราะก่อนที่จะอยู่ร่วมกันก็ดีแสนดี พอมาอยู่ร่วมกันไม่กี่วันกลายเป็นพยามารขึ้นมาเสียแล้ว เกิดสงครามขึ้นมาในบ้านเสียแล้วโดยไม่คาดฝัน อันนี้เพราะเราไม่ได้คิดล่วงหน้าไว้ก่อน ไม่ได้มองเห็นด้วยปัญญาว่าไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีการรับประกันว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีจะดีกับเราเสมอไป วันดีคืนดีก็อาจจะพลิกกลายเป็นของไม่ดีไป จากการเป็นมิตรก็จะกลายเป็นศัตรูขึ้นมาก็ได้ ต้องคิดแบบนี้เรียกว่าคิดด้วยปัญญา แล้วมันจะทำให้ความอยากนี้มันหดตัวลง มันจะไม่กล้าทำตามความอยาก จะไม่อยากทำตามความอยาก นี่คือวิธีการของพระพุทธเจ้าในการแสวงหาความสุขของพระนิพพาน คำว่า “นิพพาน” ก็คือใจที่ได้ชำระความอยากต่างๆ ให้หมดสิ้นไปนั่นเอง
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา