3 เม.ย. 2020 เวลา 07:50 • ข่าว
#สหรัฐกับอิหร่านกับทางผ่านไวรัส
#บททดสอบมนุษยธรรม
Cr. Aljazeera
หลังจากที่โลกเข้าสู่วิกฤติเชื้อไวรัสเป็นเดือนที่ 4 เราก็ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย
จากประเทศจีน ที่เคยเป็นศูนย์กลางการระบาด และมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกถึง 8 หมื่นคนในช่วงแรก จนไม่คิดว่าจะมีใครมาทำลายสถิติได้
แต่หลังจาก 4 เดือนผ่านไป ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดกลายเป็น สหรัฐอเมริกา ด้วยตัวเลขเป็น 3 เท่าของจีน
ศูนย์กลางการแพร่ระบาดในยุโรป คือ อิตาลี
ส่วนประเทศที่หนักที่สุดในเอเชีย ต้องยกให้ อิหร่าน
ทุกประเทศที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส ไม่ว่าจะมาก หรือน้อย ล้วนเจอปัญหาด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม และการดูแลประชาชนที่ได้รับ
ผลกระทบ
แค่ในภาวะปกติ ประเทศทั่วไปยังเอาตัวกันแทบไม่รอด
แล้วกับอิหร่าน ที่โดนทั้งวิกฤติไวรัส และมาตรการคว่ำบาตรแบบจัดเต็มจากสหรัฐ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ในช่วงวิกฤติอย่างนี้ เขาจะรับมือกันอย่างไร 😓
Cr. Aljazeera
ต้องยอมรับว่า นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของอิหร่าน ที่เคยใจแข็ง อดทนต่อมาตรการ sanction ของสหรัฐมานานหลายปี แต่มาวันนี้ อิหร่านจำเป็นที่ต้องยอมกัดฟัน เอ่ยปากขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้จาก IMF
เพราะตอนนี้ ในอิหร่าน ขาดแคลนเวชภัณฑ์ และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างหนัก แม้แต่ชุดป้องกันไวรัส และหน้ากาก N95 สำหรับหมอ และพยาบาล ที่อยู่ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยยังไม่มีใช้
ลองจินตนาการดูว่า ขนาดสหรัฐอเมริกา ที่มีงบประมาณมหาศาล สามารถเปิดใบออเดอร์ สั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใดก็ได้ ก็ยังมีไม่พอ จนหมอ และ พยาบาลต้องออกมาประท้วง แล้วกับอิหร่าน เขาจะลำบากขนาดไหน
Cr. Prospect.org
แต่ถึงขนาดนี้แล้ว สหรัฐก็ยังกัดจมเขี้ยว ไม่ยอมปล่อย ในการเพิ่มมาตรการ sanction อิหร่าน เพราะอาจถือว่านี่คือนาทีทอง ที่จะบีบอิหร่านให้ยอมศิโรราบให้กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐโดยไม่มีเงื่อนไข
จากปัญหาที่ยังคาราคาซังกันอยู่ตอนนี้ ทั้งจีนและรัสเซีย ได้เคยออกหน้าพูดให้สหรัฐ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านได้แล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ ความคิดเห็นนี้ ได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิกใน EU เวลานี้ ควรคำนึงถึงชีวิตของเพื่อนร่วมโลกเป็นสำคัญ
แต่ทางสหรัฐก็บอกว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐไม่เกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยา และเวชภัณฑ์ ถ้าอิหร่านต้องการก็ซื้อเอาสิ
แต่จะซื้อยังไง ในเมื่ออิหร่านขาดแคลนเงินสำรองต่างประเทศเพราะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
จากเงื่อนไขการคว่ำบาตรของสหรัฐ กำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ หรือ เป็นคู่ค้าของสหรัฐ ห้ามทำการซื้อ-ขาย ทำธุรกรรมกับอิหร่านโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยเงินสกุลใดของโลก หรือผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยวิธีใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอุปสรรคกับอิหร่าน ที่จะสั่งซื้อชุดอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ และเมื่อไม่มีรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก แล้วจะไปหาเงินสดสกุลต่างประเทศที่ไหนไปซื้อเขา
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาตรการ เพิ่มวงเงินกู้กว่า 5 หมื่นล้านเหรียญให้กับประเทศยากจนที่มีปัญหาในการควบคุมสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าให้เป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ อิหร่านจึงจำเป็นต้องขอกู้เงินกองทุนนี้เป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านเหรียญ
แต่ทว่า ตะกร้าเงิน IMF มีสัดส่วนเงินลงทุนของสหรัฐอยู่กว่า 41% และด้วยข้อกำหนดจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ จึงคาดการณ์ได้ว่า สหรัฐจะขออำนาจ Veto การกู้ยืมเงินของอิหร่าน
และหากประเทศอื่นๆที่ร่วมกองทุนนี้ ได้แก่ EU จีน ญี่ปุ่น และ อังกฤษ จะยอมปล่อยเงินกู้ให้อิหร่าน คงต้องหักดิบกับสหรัฐ ซึ่งไม่มีใครอยากจะหาเรื่องกันเองในวิกฤติเช่นนี้
นี่เป็นบททดสอบด้านมนุษยธรรมของโลกชัดๆ
หากถามความเห็นของรัฐบาลสหรัฐ เรื่องวิกฤติไวรัสในอิหร่าน ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศบอกเลย มันไม่ใช่ความผิดของสหรัฐ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา อิหร่านนั้นทำตัวเอง
เพราะในขณะที่ทั่วโลกตัดเส้นทางการเดินทางกับจีน ตั้งแต่เกิดวิกฤติไวรัสโคโรน่า สายการบิน Mahan Air ของอิหร่านยังคงเปิดเส้นทางบินทั้งไป และ กลับ จีน แถมยังลงจอดที่เมืองอู่ฮั่นอีกต่างหาก จะไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้อย่างไร
Cr. Bild.de
แต่ทางการอิหร่านแย้งว่า สายการบิน Mahan Air เป็นเพียงสายการบินเอกชน และเป็นเส้นทางเดียว ที่อิหร่านติดต่อกับโลกภายนอกได้ในตอนนี้ ที่ใช้สำหรับขนเสบียงอาหาร เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และสิ่งของจำเป็นจากประเทศจีน มายังอิหร่าน เราจึงจำเป็นต้องเปิดเที่ยวบิน
ซึ่งทางสหรัฐแย้งว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ Mahan Air ไม่ได้ขนแค่สินค้าอย่างเดียว แต่รับผู้โดยสารด้วย ดังนั้นจึงผิดมาตรการกักกันเชื้อโรคตั้งแต่แรกแล้ว
แต่ทางรัฐบาลอิหร่านก็โต้แย้งว่า ทางสหรัฐจะมาหยุมหยิมอะไรกับเรื่องนี้ ในเมื่ออิหร่าน ก็มีนักศึกษาของตัวเองในเมืองอู่ฮั่นเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการอพยพกลับบ้านเกิดในช่วงสถานการณ์เลวร้าย และมีนักธุรกิจชาวจีนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องบินโดยสารอพยพผู้คน มันผิดที่ตรงไหน?
หรือผิดตรงที่ เจ้าของสายการบิน Mahan Air คุณ Hamid Arabnejad เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาหน่วย Iran’s Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) ที่ทางสหรัฐประกาศว่าเป็นหน่วยงานก่อการร้าย ที่สหรัฐหมายหัว??
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเช่นใด ตอนนี้ทั้งสหรัฐ และอิหร่าน ต่างก็เป็นประเทศศูนย์กลางการระบาดของเชื้อ Covid-19 ในระดับอันตราย และพร้อมจะแพร่กระจายจนคุมไม่อยู่เมื่อใดก็ได้
หากนาทีนี้ จะยอมวางอัตตาทางการเมือง แล้วเปิดพื้นที่สำหรับมนุษยธรรมกันบ้าง จะไม่ได้เชียวหรือ
กับประเทศที่มีทุกอย่าง ทั้งเงิน ทั้งอำนาจ คุณจะมาเบียดเบียนอะไรกับอีกประเทศที่ตอนนี้เขาขาดแคลนทุกอย่าง โดยใช้ชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเดิมพัน แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา นอกจากความสะใจ
หากเอาเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง แล้วเราจะไม่เห็นความแตกต่างของสีผิว เชื้อชาติ ศาสนาใดๆ นอกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น นะคะ
แหล่งข้อมูล
โฆษณา