6 เม.ย. 2020 เวลา 08:50 • ธุรกิจ
การปิดเมือง กระทบรายได้ของ รถไฟฟ้า BTS มากแค่ไหน?
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเกิด เหตุการณ์ หรือ วิกฤติอะไร
สิ่งหนึ่งที่ยังจำเป็นในชีวิตของคนกรุงก็คงเป็น ระบบขนส่งมวลชนที่เป็นรถไฟฟ้า
เพราะทุกคนต้องการใช้เพื่อเดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ
ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองอะไร ก็อาจกระทบการเดินรถของ BTS เพียงชั่วคราว หรือบางส่วน บางเส้นทางเท่านั้น
แต่ตอนนี้เจ้าโควิด-19 เป็นเหมือน ฝันร้ายที่คาดไม่ถึงว่า จะสร้างผลกระทบกับ BTS ขนาดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
เกือบทุกสถานีที่แทบไม่มีคนเลยในเวลานี้
แม้กระทั่งสถานีสยาม
สถานีหมอชิต
สถานีอโศก
สถานีสะพานตากสิน
เรื่องนี้ เริ่มมาจากความหวาดระแวงในการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในเดือนกุมภาพันธ์อัตราการติดเชื้อเริ่มสูงขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 40 คนในช่วงสิ้นเดือน
หลายบริษัทก็เริ่มมีมาตรการต่างๆ ผู้โดยสารหลายคนเริ่มป้องกันตัวเองมากขึ้น
เรื่องนี้ได้ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารรวมในเดือนกุมภาพันธ์นั้น หายไปกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
จนกระทั่งต่อมามีคำสั่ง ปิดห้างสรรพสินค้า และยกเลิกสถานที่ชุมนุมทุกประเภทเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม จนถึงวันที่ 12 เมษายน
ทำให้หลายบริษัท เปลี่ยนให้พนักงานทำงานที่บ้านอย่างจริงจังมากขึ้น การปิดห้างสรรพสินค้าทำให้เหตุผลที่จะออกจากบ้านน้อยลงไปด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมานั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
และล่าสุด รัฐบาลก็ประกาศขยายช่วงเวลาปิดไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน
นั่นก็หมายความว่า จะปิดเมืองทั้งหมดเป็นเวลา 40 วัน..
แล้วเรื่องนี้จะกระทบรายได้ของ BTS แค่ไหน?
เราลองมาดูตัวอย่างยอดผู้โดยสารกัน
ในเดือนมกราคม BTS มีผู้โดยสารเฉลี่ย 617,000 เที่ยวคน ต่อวัน
(เที่ยวคน คือ การแตะบัตรเข้าและแตะบัตรออก จะนับเป็น 1 เที่ยวคน)
นั่นหมายความว่า ใน 40 วันปกติจะมีผู้โดยสารทั้งหมดประมาณ 24,680,000 เที่ยวคน
และปัจจุบันมีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 29 บาทต่อเที่ยว
หากลองคิดเล่นๆ ว่า ใน 40 วันนี้ ยอดผู้โดยสารหายไป 50%
จำนวนผู้โดยสารจะเหลือ 12,340,000 เที่ยวคน
หมายความว่า รายได้จะหายไป 357.9 ล้านบาท
Cr. Prachachat
หรือหากกรณีที่แย่ที่สุดคือ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แล้วมีการสั่งปิดระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดหลังจากนี้
ก็อาจจะทำให้ BTS สูญเสียรายได้ประมาณ 620 ล้านบาท
หรือคิดเป็น 9% ของรายได้ปี 2562 เลยทีเดียว
และด้วยความกังวลนี้ก็ทำให้ ราคาหุ้นของ BTSGIF (ผู้รับรายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมดของ BTS) ตกลงไปถึง 26.6% นับตั้งแต่ต้นปี 63
อย่างไรก็ตาม BTS ยังใจดีในท่ามกลางรายได้ที่ลดลง โดยล่าสุด BTS ได้ออกมาตรการเยียวยา สำหรับผู้โดยสารที่ซื้อบัตรรายเดือนไปแล้ว โดยผู้โดยสารสามารถนำเที่ยวที่ไม่ได้ใช้ไปขอเงินคืนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
สำหรับปีนี้ก็คงจะเป็นปีที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับ BTS เอง
รวมถึงเพื่อนร่วมทางอย่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น MRT ทางด่วน รถเมล์ รถไฟ
Cr. Khaosod
ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง คนจะไม่อยากเดินทาง
วันหนึ่ง รัฐบาลจะรณรงค์ให้คนอยู่บ้าน
วิกฤติโควิดนี้แตกต่างกับวิกฤติเศรษฐกิจทั่วไปอย่างมาก เพราะถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่กิจกรรมอื่นๆ ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้
ในขณะที่วิกฤติโควิดนี้ ทุกคนต้องหยุดเคลื่อนไหว และการอยู่บ้านถือเป็นเรื่องที่ปลอดภัยมากที่สุด
ปีนี้ก็คงจะเป็นปีที่เหนื่อยไม่น้อยของระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ
แต่ถ้าหากเราผ่านวิกฤตินี้ไปได้
จะทำให้เรามองความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ได้ดีมากขึ้น
และนำประสบการณ์มาปรับใช้ให้เราแข็งแกร่งขึ้นในที่สุด..
โฆษณา