6 เม.ย. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
บริษัทยักษ์ใหญ่ กำลังทยอยตกจากสวรรค์
คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ลงสู่ระดับขยะ (Junk)
แต่เหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 กำลังทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่
เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม ปิดเมือง หรือปิดประเทศ
ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ต่อการดำเนินงานของหลายธุรกิจ
รู้หรือไม่ว่า บริษัทที่เคยมีพื้นฐานดี แต่กลับถูกลดความน่าเชื่อถือจนเหลือระดับ Junk
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถูกเปรียบเทียบให้เป็นเหมือน “Fallen Angel” หรือ เทวดาที่ตกสวรรค์
แล้วตอนนี้ใครเป็นเทวดาตกสวรรค์บ้าง? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยทั่วไป สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กลุ่ม Investment Grade ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ได้เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB
2. กลุ่ม Speculative Grade ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง ได้เรตติ้งตั้งแต่ BB จนถึง D
หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่า ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท Speculative Grade
จะถูกเรียกว่า ตราสารหนี้ระดับขยะ หรือ Junk Bond
แต่ถ้าหากกลุ่ม Investment Grade โดนปรับเรตติ้งลงสู่ระดับขยะ
ตลาดจะเรียกตราสารหนี้ของบริษัทเหล่านี้ว่าเป็น Fallen Angel
ในปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แพร่กระจายไปยังเมืองสำคัญทั่วโลก
ทำให้แต่ละประเทศต้องประกาศมาตรการป้องกันต่างๆ รวมทั้งแนะนำให้คนอยู่บ้าน
เรื่องนี้ส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจ มีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง
และเพิ่มความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถจ่ายคืนภาระดอกเบี้ยได้
ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จนบริษัทเทวดากำลังค่อยๆ ตกจากสวรรค์..
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจนอันดับแรกๆ คือ สายการบิน
Delta Air Lines สายการบินชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าบริษัท 534,000 ล้านบาท
Lufthansa สายการบินใหญ่สุดของเยอรมนี ที่มีมูลค่าบริษัท 140,000 ล้านบาท
ทั้งคู่ถูกปรับลดเรตติ้งเป็นระดับ Junk เพราะการจำกัดเที่ยวบิน ทำให้รายได้หายไปในพริบตา
Cr. Lufthansa
นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินอย่าง Boeing ที่มีมูลค่าบริษัท 2,655,000 ล้านบาท
ก็ถูกปรับลดเรตติ้งมาอยู่ระดับ BBB ซึ่งเป็น Investment Grade ขั้นสุดท้าย
ธุรกิจต่อมาที่ถูกกระทบไม่แพ้กันคือ อุตสาหกรรมยานยนต์
Ford Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าบริษัท 623,000 ล้านบาท
ได้ถูกปรับลดเรตติ้งสู่ระดับ Junk หลังจากบริษัทต้องปิดโรงงานหลายแห่งทั่วโลก
Cr. Auto News
ขณะที่ Renault ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ที่มีมูลค่าบริษัท 176,000 ล้านบาท
ก็โดนลดเรตติ้งเป็นระดับ Junk เพราะมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่
รายต่อมาคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห้างร้าน
Macy’s ห้างสรรพสินค้าใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าบริษัท 47,000 ล้านบาท
Kraft Heinz แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอันดับต้นๆ ของโลก ที่มีมูลค่าบริษัท 960,000 ล้านบาท
ทั้งคู่ถูกปรับลดเรตติ้งเป็นระดับ Junk เนื่องจากช่วงนี้ผู้คนไม่ออกมาเดินซื้อสินค้าข้างนอกบ้าน
อีกธุรกิจที่ต้องจับตาคือ การท่องเที่ยวและสถานบันเทิง
Royal Caribbean ผู้ให้บริการเรือสำราญ จากประเทศนอร์เวย์ ที่มีมูลค่าบริษัท 178,000 ล้านบาท
MGM Resorts เจ้าของโรงแรมและกาสิโนหลายแห่ง ที่มีมูลค่าบริษัท 192,000 ล้านบาท
ทั้งคู่ถูกปรับมุมมองต่อธุรกิจเป็นเชิงลบ จึงมีแนวโน้มสูงที่เรตติ้งจะลดลงในอนาคต
เพราะคงยังไม่มีใครกล้าไปแหล่งชุมนุมคนหลายเชื้อชาติ อย่างบนเรือหรือกาสิโน
นอกจากนั้น ธุรกิจพลังงาน ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน
ความต้องการใช้พลังงานมีน้อยลง ตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งอุตสาหกรรม ยังถูกภาวะสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย กดดันซ้ำสองอีกด้วย
2
ExxonMobil บริษัทพลังงานรายใหญ่ของโลก ที่มีมูลค่าบริษัท 5,250,000 ล้านบาท
ถูกปรับลดเรตติ้งมาอยู่ที่ระดับ AA เท่ากับช่วงราคาน้ำมันตกต่ำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
แม้ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยมีเรตติ้งระดับสูงสุด มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1949-2016
Cr. BIC Magazine
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีตราสารหนี้ที่เป็นเทวดาตกสวรรค์ มูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท
และมีการคาดการณ์ ตอนสิ้นปี ตัวเลขอาจพุ่งขึ้นไปสูงถึง 7 ล้านล้านบาท
ซึ่งความเสียหายต่อบริษัทเหล่านี้คือ ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป
และอาจส่งผลให้การฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปัจจุบัน อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ระดับขยะ อยู่ที่ราว 3%
แต่มีการวิเคราะห์กันว่า อัตราดังกล่าวอาจเพิ่มเป็น 10% เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19
ไม่แน่ว่าตอนนี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ ล้มละลายมากสุดในประวัติศาสตร์ก็เป็นได้..
โฆษณา