6 เม.ย. 2020 เวลา 11:23 • การศึกษา
Intelligent Lockdown Concept
Lockdown เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมาก เดี๋ยวประเทศนั้นก็ Lockdown ประเทศนี้ก็ Lockdown แต่คำว่า Intelligent Lockdown อาจจะได้ยินกันไม่บ่อยนัก แล้วมันคืออะไร ตอนนี้ประเทศที่ใช้วิธี Intelligent Lockdown ที่เห็นชัดๆ คือ Netherlands และ UK ซึ่งคือ สองประเทศที่ออกมาพูดถึง Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ และโดนถล่มมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา แต่สุดท้ายเราอาจจะหนีแนวทางนี้ไม่พ้นก็เป็นได้
ทุกวันนี้หลายๆ ประเทศอาจจะเห็นว่าจีนใช้วิธี Lockdown เมือง อู่ฮั่น ที่เป็นจุดระบาดที่แรกของโลกแล้วได้ผล ด้วยการห้ามคนออกมานอกบ้าน หรือ ออกมาก็ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ร้านค้า บริษัท และ การเดินทางทั้งหลายต้องหยุดชะงักไปหมด ทำให้หลายๆ ประเทศ ลังเล ที่จะทำตาม ทั้งที่ WHO ก็บอกให้ดูจีนเป็นตัวอย่าง ว่าจัดการกับปัญหาอย่างไร
หลายประเทศยังคงตั้งข้อสงสัยถึงการ Totally Lockdown ว่ามันได้ประสิทธิผลแค่ไหน เนื่องจากต่อให้ปิดประเทศจนไม่มีคนติดเชื้อไวรัสในประเทศแล้ว แต่ถ้าประเทศอื่นยังคงระบาดอยู่ ก็ยังคงไม่สามารถติดต่อค้าขายหรือเดินทางไปมาระหว่างกันได้อยู่ดี หรือ เปิดประเทศเมื่อไร ก็ติดอีกทันที เนื่องจากคนในประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ถ้าระบาดอีกจะยัง Lockdown อีกรอบมั้ย แล้วจะอยู่กันอย่างไร ในแง่เศรษฐกิจจะต้องเจ็บตัวกันอีกกี่ครั้ง สุดท้าย คนอาจจะยอมติดไวรัสมากกว่ายอมอดตาย จนเกิดจลาจลจนคุมไม่อยู่ได้
ตราบใดที่ยังคงไม่มีวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพ หรือ ถึงมีวัคซีนแล้ว การที่จะผลิตให้ได้จำนวนมากจนพอสำหรับคนทั้งโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยังคงต้องใช้เวลาอีกอาจจะถึง 1-2 ปี แล้วเราจะสามารถปิดประเทศได้ยาวนานขนาดนั้นหรือ อันนี้เป็นคำถามที่หลายๆ ประเทศ ต้องคิดหนัก โดยเฉพาะประเทศที่ทำการ Totally Lockdown ไปแล้ว ว่าหลังจากมันผ่านจุดสูงสุดของการระบาดแล้ว จะเปิดประเทศอย่างไร
เส้นสีแดงคือไม่ทำอะไร เส้นสีเหลืองคือ Totally Lockdown เส้นสีฟ้าคือพอเปิดประเทศ พีค ก็กลับมาใหม่
ดังจะเห็นได้จากกรณีของจีน ที่ถึงแม้การระบาดจะอยู่ในจุดที่ควบคุมได้แล้ว แต่กลับมีกรณี Imported Cases หรือ เคส ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสุ่มเสี่ยงที่จะกลับมาระบาดอีกรอบ แล้วจะต้องปิดประเทศกันอีกกี่รอบ
โดยเฉพาะประเทศที่ต้องอาศัยเงินตราจากต่างชาติอย่างเช่นประเทศไทยที่เงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ยิ่งไม่สามารถปิดประเทศได้นาน
Intelligent Lockdown คือการ Lock down แบบใช้สมอง ไม่ใช่เอะอะ ก็ปิดทุกอย่าง ประกาศ เคอร์ฟิว แล้วห้ามคนออกจากบ้าน เลย แบบนั้นคือ Totally Lockdown กันอยู่ในบ้านหมด แต่ Intelligent Lockdown คือ การปิด ที่ๆ ควรจะปิด เปิดที่ๆ ควรจะเปิด เคร่งครัด บ้าง ผ่อนคลายบ้าง เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ และ ประชาชนยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้
รถแทรมยังคงวิ่ง แต่ไม่มีคน แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามให้ออกนอกบ้าน
เช่น
ยังคงให้ประชาชนออกมานอกบ้านได้ และไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิวแต่อย่างใด แต่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งจับและปรับ คนที่ไม่ยอมรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
การขอความร่วมมือให้บริษัทห้างร้านทั้งหลายที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ก็ให้ทำงานที่บ้าน
การปิด รร ปิด มหาวิทยาลัย โดยให้มีการจัดสอนออนไลน์แทน
การปิดร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก
การห้ามไม่ให้มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น มากกว่าห้าสิบหรือร้อยคน
การอนุโลมให้ร้านอาหารยังคงเปิดบริการ แต่ให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว
การปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่มักจะมีคนไปรวมตัวกัน เช่น ชายหาด สวนสาธารณะ
การเปิดบางสถานที่ไว้ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก ที่จะช่วยให้คนที่เป็นบุคลากรด้านการแพทย์ ยังคงไปทำงานได้ ไม่ใช่ต้องหยุดอยู่บ้านดูลูก ซึ่งทำให้กำลังคนอาจจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือต้องเอาลูกไปฝากปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง
เนื่องจากเป็นมาตรการเหล่านี้ เป็นการกระทบคนในวงกว้าง จึงต้องมีการออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจใหักับคนที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งต้องออกมาให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและต้องเร็ว ไม่งั้นจะเกิดกระแสตีกลับและคนขัดขืนทันที
Study of Social Distancing in UK
มาตรการเหล่านี้ ล้วนเป็นมาตรการช่วงแรกที่เกิดการระบาด เนื่องจากมันระบาดในวงกว้าง จนระบบสาธารณสุข ตั้งตัวไม่ทัน จึงต้องออกมาตรการค่อนข้างเข้มข้น เพื่อที่จะกดจำนวนคนติดเชื้อลงไปให้อยู่ในปริมาณที่ระบบสาธารณสุขควบคุมได้ หรือค่อยๆ ทยอยกันติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องมีการทำ Totally Lockdown
และผลพลอยได้ของมันก็คือ Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะค่อยๆเกิดขึ้นเองในระยะยาว หรือเป็นการสร้างวัคซีนในสังคมด้วยตัวของมันเอง
ซึ่งตอนนี้อย่างในเนเธอร์แลนด์หลังจากออกมาตรการนี้มาประมาณ 3 อาทิตย์ ก็เริ่มค่อนข้างเห็นผล คือจากเมื่อสามอาทิตย์ที่แล้วมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกสามวัน หรือ วันละ 33% ผ่านไปสามอาทิตย์ลดลงมาเหลือ เพิ่มขึ้นสองเท่าทุกสิบวัน หรือ วันละ 10% ซึ่งต้องคุมไปอีกระยะจนกว่าจะอยู่ในระดับที่คุมอยู่
เมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียงอย่างเบลเยี่ยมที่ทำ Totally Lockdown ห้ามคนออกมานอกบ้าน กลับมีจำนวนคนติดเชื้อไวรัส ไม่แตกต่างกันเท่าไร แถมมีจำนวนคนตายมากกว่าอีก ทั้งที่มีจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักต่อประชากรสูงกว่า และปิดจนกระทั่งการดำเนินชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจมันสะดุดไปหมด
แนวทางนี้กลับทำให้นายกรัฐมนตรี Mark Rutte ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นจากสภาวะปกติถึง 3% โดยมีคนดัชให้ความเชื่อมั่นกับแนวทางนี้ถึงมากกว่า 90%
กราฟคนติดเชื้อหักหัวลงเรื่อยหลังมาตรการ Intelligent Lockdown
หลังจากนั้น คำถามตามมา คือ แล้วจะกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้อย่างไร ?
ตอนนี้มี 2 Scenarios ที่เสนอโดย Erasmus Medical Centre จากเนเธอร์แลนด์ และ Imperial College จาก UK ซึ่งทั้งสองสถาบันถือเป็นสถาบันการแพทย์ระดับท้อปของโลก ที่มีหมอจากไทยเดินทางไปศึกษาต่อทุกปี
แนวทางของ Imperial College จาก UK คือ Switch on , Switch off คือ เมื่อเริ่มควบคุมได้ก็ผ่อนคลายมาตรการ ให้คนกลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา โดยจะต้องมีเส้นขีดจำกัด หรือ Threshold อยู่ที่ระดับหนึ่งเป็นระดับ Warning คือ เมื่อจำนวนคนติดเชื้อมันวิ่งขึ้นไปถึงระดับนั้น จะต้องยกมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมขึ้นมาใช้อีก (Switch On) เพื่อ Flatten the curve ลงไป จนไปอยู่ระดับที่ควบคุมได้
จากนั้นก็ผ่อนคลายมาตรการอีก (Switch off) ดังนั้นกราฟมันก็จะวิ่งขึ้นวิ่งลงเป็นลูกคลื่นไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ได้ตามมาก็คือ Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ ที่จะค่อยๆ สร้างขึ้นในประชาชนจนถึงจุดที่มันหยุดระบาดไปเอง
Switch on / Switch off Concept
แนวทางของ Erasmus Medical Centre จากเนเธอร์แลนด์ คือ ทีละโซน โดยเค้าจะแบ่งประเทศเป็น 10 โซน จากนั้นจะค่อยๆ ยกมาตรการมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมออกทีละโซน โดยเมื่อยกโซนที่หนึ่งออก คนก็จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ แต่ก็อาจจะมีการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ซึ่งจะต้องเตรียมเตียงคนป่วยฉุกเฉินและเครื่องช่วยหายใจของโซนอื่นไว้รองรับสำหรับโซนที่ปล่อยให้ระบาดหนักไว้ให้เพียงพอ
เมื่อโซนที่ปล่อยระบาดถึงจุดหนึ่ง คนจะมี Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ จนหยุดระบาดไปเอง จากนั้นก็ไปยกมาตรการมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมของโซนที่สองออกเพื่อปล่อยให้ระบาด จนเกิด Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ จนหยุดระบาด ทำไปเรื่อยๆ จนครบสิบโซน เค้าคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงมากกว่า 2 ปี ถึงจะหยุดระบาดไปเอง
ซึ่งต้องบอกว่าแนวทางของดัชอาจจะเหมาะกับประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรจำนวนไม่มาก (เนเธอร์แลนด์มีประชากรประมาณ 17ล้านคน)
ทั้งสองแนวทางล้วนอยู่ในแนวทางอุดมคติ ที่อาศัยโมเดลทางคณิตศาสตร์ในการประมาณ ซึ่งยังไม่ได้มีการนำมาใช้แต่อย่างใด และล้วนอยู่บนแนวทางที่ยังไม่สามารถจะผลิตวัคซีนออกมาได้ หรือ ผลิตได้ไม่เพียงพอกับจำนวนคนทั้งโลก
ซึ่ง Prof. Sake de Vlas จาก Erasmus MC ให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจว่า Covid-19 นั้นไม่เหมือน SARS ที่สามารถใช้วิธิ ติดตาม ทดสอบ กักกัน และ รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันจะแพร่เชื้อเมื่อมีอาการ ในขณะที่ Covid-19 นั้นสามารถแพร่ได้ ทั้งที่ไม่มีอาการ หรือ หรือ Mexican Flu ที่ตอนที่ระบาดในเนเธอร์แลนด์ที่รู้ชัดเจนว่าวัคซีนจะพร้อมในอีกหกเดือนข้างหน้า
Prof. Sake de Vlas บอกว่าอย่าตั้งความหวังกับ วัคซีนไว้มาก ถ้ามันมาช้า เราจะไม่สามารถอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ได้ ที่คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตลอดไป หรือ ระยะเวลานานเกินไป หรือ แม้กระทั่ง วัคซีน มันอาจจะไม่มีเลยก็ได้ โดยเค้าบอกว่า เช่น เชื้อ HIV เราก็ไม่เคยมีวัคซีน ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักมันมากนานกว่า 40 ปี แล้วก็ตาม
ก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ส่วนไทยจะไปทางไหน อันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป ก็หวังว่าจะหาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศได้
Ref.
โฆษณา