7 เม.ย. 2020 เวลา 04:48 • ท่องเที่ยว
สัปดาห์ก่อนแนะนำโครงการเมืองใหม่ วันนี้มีโครงการปรับปรุงเมืองเก่ามาเล่าสู่กันฟังระหว่างเก็บตัวกันครับ คือ "โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม"
ภาพจำลองแสดงแนวคิด และบรรยากาศโครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม
"โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม"
สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มีโครงการนำเสนอแนวคิดการออกแบบพื้นที่บริเวณคลองคูเมืองเดิม เสนอต่อกรุงเทพมหานคร โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม
ทางสมาคมภูมิสถาปนิกฯ ได้สำรวจ วิเคราะห์พื้นที่ และออกแบบแนวคิดของให้ออกมาเป็นลักษณะทางกายภาพ ภายใต้ชื่อ“โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม เฉลิมพระเกียรติฯ” ซึ่งเป็นที่มาของการถ่ายทอดเรื่องราวโดยเน้นภูมิทัศน์วัฒนธรรมของ "รากรัตนโกสินทร์"
ภาพรวมของโครงการฯ ตลอดแนวคลอง เป็นการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ โบราณสถานคลองคูเมืองเดิม และองค์ประกอบภูมิทัศน์โบราณได้แก่ สภาพน้ำและขอบคลอง, สะพาน, ท่าเรือเก่า, ต้นไม้ใหญ่เดิม รวมถึงซากโบราณสถานกำแพงเมืองที่ยังฝังอยู่ใต้พื้นดิน ไม่ปรากฎให้เห็นในสภาพปัจจุบัน และเพื่อการพัฒนามุ่งสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของรัตนโกสินทร์ ที่เชื่อมโยงย่านต่างๆกับกิจกรรมปัจจุบันของคนในเมืองเก่าเข้าด้วยกัน รวมทั้งปรับปรุงระบบนิเวศน์ พืชพรรณที่สื่อความหมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สร้างองค์ประกอบสื่อความหมายแนวใหม่ ที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและส่งเสริมการใช้งานของพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
ผังแสดงบริเวณต่างๆ ของโครงการฯ
จากการออกแบบ จำแนกพื้นที่ตลอดแนวคลองคูเมืองเดิม ออกเป็น 3 ส่วน
ได้แก่
1.
พื้นที่เฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณคลองด้านทิศเหนือ ติดถนนราชดำเนินที่เป็นถนนสายหลักไปสู่พระบรมมหาราชวัง โดยได้ปรับปรุงพื้นที่และสร้างสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ ขี้นเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางเท้าที่จำเป็นระหว่างสนามหลวง-ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม-คลองหลอด รวมถึงจัดปรับปรุงบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อเป็นจุดเริ่มการค้นหาเรื่องราวของกำเนิดรัตนโกสินทร์ โดยใช้เทคนิคการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในการสื่อความหมาย
ภาพจำลองแสดงแนวคิด และบรรยากาศของโครงการฯ บริเวณที่ 1
2.
พื้นที่มรดกรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ช่วงกลางของคลอง ครอบคลุมส่วนที่ตัดกับถนน 2 สาย ซึ่งเชื่อมต่อพระบรมมหาราชวัง วังเก่า วัดประจำ 2 รัชกาล สุสานหลวง และ โบราณสถานซากกำแพงเมืองเก่า โดยทางโครงการฯจะทำการอนุรักษ์พื้นที่และโบราณสถานกำแพงเมืองรัตนโกสินทร์ชั้นใน และอาคารสำคัญในอดีต ที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวระดับดินปัจจุบัน และพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างจิตสำนึก เห็นถึงความสำคัญของอดีต การพัฒนาเมือง และเพื่อรองรับกิจกรรมนันทนาการ เรียนรู้และการท่องเที่ยว
ภาพจำลองแสดงแนวคิด และบรรยากาศของโครงการฯ บริเวณที่ 2
3.
พื้นที่ประตูสู่บางกอก บริเวณคลองด้านทิศใต้ ติดปากคลองตลาด โรงเรียน และท่าเรือหลักของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งต้นของย่านเศรษฐกิจ การค้า และวิถีที่ไม่เคยหยุดนิ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยได้ปรับปรุงลาน พื้นทาง และขนาดสะพาน เพื่อรองรับกิจกรรมสาธารณะของเมืองในอนาคต เอื้อต่อการสัญจรเชื่อมต่อรองรับคนจากท่าเรือและระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ส่งเสริมการพบปะของผู้คน ในบรรยากาศเทศกาลงานเมือง โดยการจัดพื้นที่โล่งเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างทางเดินมีหลังคาคลุม กำแพงประดับและประติมากรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเล่าเรื่องความเป็นมา ชีวิตของผู้คนในย่านปากคลอง ให้เป็นแหล่งนันทนาการและเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งในรัตนโกสินทร์
ภาพจำลองแสดงแนวคิด และบรรยากาศของโครงการฯ บริเวณที่ 3
เป็นอีกโครงการพัฒนา/อนุรักษ์ที่น่าสนใจครับ
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันนะครับ
ขอบคุณทุกๆคนที่กดให้กำลังใจ และติดตามครับ
[ที่มา]
- สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
TALA Thai Association of Landscape Architects Facebook Fanpage
โฆษณา