7 เม.ย. 2020 เวลา 07:53 • การศึกษา
ถูกฟ้องบังคับจำนองแต่ขายทรัพย์สินได้ไม่พอชำระหนี้ จะต้องใช้ส่วนต่างหรือไม่?
ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้แล้วยังมาเจอวิกฤติไวรัส COVID-19 เล่นงานซ้ำอีก ยิ่งเป็นสาเหตุทำให้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับคนที่มีหนี้สิน เวลานี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือลูกจ้างต่างก็ได้รับผลกระทบกันกันถ้วนหน้า
โดยเฉพาะคนที่นำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ไปประกันการกู้ยืมเงินนั้น (เช่น สินเชื่อบ้าน) เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ก็คงไม่พ้นที่จะถูกฟ้องร้อง บังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
ถ้าบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินและได้ราคาครอบคลุมกับยอดหนี้ที่ค้างชำระ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าขายทอดตลาดแล้วยังไม่พอชำระหนี้ที่เหลืออยู่ ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชอบในส่วนต่างที่เหลือหรือไม่?
เรื่องนี้คงต้องพิจารณาตามลำดับอย่างนี้ครับ
1) กฎหมายกำหนดให้กรณีที่บังคับจำนองและได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าไหร่ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
2) แต่เนื่องจากกฎหมายข้อนี้ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น คู่สัญญาจึงสามารถตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้
เราจึงมักจะเห็นอยู่เป็นประจำว่า สัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาจำนองนั้นมักจะมีข้อความยกเว้นข้อกฎหมายดังกล่าว เช่น “ถ้าบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ที่ค้างชำระ ลูกหนี้ยินยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่น ๆ ได้จนกว่าจะครบถ้วน”
เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้เมื่อบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดและได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ได้อีก
3) แต่สำหรับการจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันการชำระหนี้ของคนอื่นนั้น (เช่น ก.
กู้เงินธนาคาร โดย ข. นำเอาที่ดินของตัวเองไปจำนองเป็นประกันให้)
กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า
ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด
และหากมีข้อตกลงหรือสัญญาที่แตกต่างไปจากนี้ กฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับได้
ดังนั้น สำหรับคนที่นำทรัพย์สินของตัวเองไปจำนองเพื่อประกันหนี้ให้คนอื่นนั้น หากเจ้าหนี้ได้บังคับจำนองแล้วได้เงินมาเท่าใด บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป
แต่ข้อนี้จะไม่นำมาใช้ในกรณีที่นิติบุคคล (บริษัท ห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ ) เป็นลูกหนี้ และบุคคลที่มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้น (เช่น กรรมการผู้จัดการ) ได้จำนองทรัพย์สินของตัวเองเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่นิติบุคคล และได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่างหากอีกสัญญา
โดยปกติแล้ว การฟ้องร้องบังคับคดีมักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เจ้าหนี้จะใช้ดำเนินการ เพราะนอกจากเรื่องระยะเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นศาลแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาอีกพอสมควร
การเจรจาเพื่อขอลดหนี้ หรือขอพักชำระหนี้ ภายใต้พื้นฐานของความจริงใจของทั้งสองฝ่ายจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมอีกทางหนึ่งครับ
อ้างอิง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6188/2561
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 727/1 และมาตรา 733

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา