9 เม.ย. 2020 เวลา 00:00 • กีฬา
[ #ใครกันที่เห็นแก่ตัว ? ]
ไม่นานมานี้ แม็ตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ออกมาเปิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องบริจาค จนกลายเป็นอีกปมดราม่าที่ร้อนแรงบนโซเชี่ยล
แฮนค็อก พยายามจี้ให้บรรดานักเตะอาชีพทั้งหลาย ซึ่งเชื่อว่ามีรายได้มหาศาลลดเงินค่าจ้างลง 30 เปอร์เซนต์ เพื่อเอาส่วนนั้นมาจุนเจือพนักงานสโมสรที่น่าจะส่งผลกระทบหนัก
หรือจะบริจาคเข้า NHS (National Healthcare Service) หน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโอวิด-19 ก็ได้
พอได้ยินอย่างนี้เข้า เวย์น รูนี่ย์ รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก แฮนค็อก พูดเหมือนพวกแข้งอาชีพต้องออกมารับผิดชอบด้วยในสถานการณ์แบบนี้
อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษเขียนลงคอลัมน์ประจำใน ซันเดย์ ไทส์ม แยกแยะชำแหล่ะให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม่ใช่พูดลอยๆขึ้นมาแล้วนักเตะกลายเป็นฝ่ายผิดไป ทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่องอะไรเลยสักนิดเดียว
ปมแรกคือเรื่องของศักยภาพการเงินของนักเตะอาชีพ ไม่ได้หมายความทุกคนจะต้องมีรายได้ดีเสมอไปหรืออีกจำนวนหนึ่งแม้จะรับสูง แต่อาจมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากมาย
จากคำพูดที่คล้ายบีบบังคับ ควรเปลี่ยนเป็นขอความร่วมมือดีกว่าหรือเปล่า เอาตามความสมัครใจ ไม่ใช่ไปเจาะจงกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เพราะในสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นนี้ หากคนประเภทผู้นำพูดอะไรออกมา มันย่อมดึงดูดความสนใจและโน้มน้าวให้คนที่ฟังคล้อยตามเห็นด้วยได้ง่ายขึ้น
นักบอลจึงกลายเป็นเหยื่อหรือแพะอย่างช่วยไม่ได้ โดนประณามถูกตั้งข้อหาน่ารังเกียจ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยสักนิดเดียว
ในความรู้สึกของพวกคนทั่วไปหรือแฟนบอลบางส่วนอาจจะคิดไปไกลว่า บรรดาแข้งอาชีพทั้งหลายมีวันนี้ได้ดิบได้ดี เงินทองกองมากมาย ชื่อเสียงกระจายไปไกล เพราะแรงสนับสนุนจากกองเชียร์เป็นสำคัญ
ถ้าไม่มีแฟนบอล นักบอลเองก็เหมือนคนพิการ ต่อให้ฝีเท้าเลอเลิศแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์
นั่นคือที่มาของวลีอันคลาสสิกที่เปรียบเปรยไว้ว่า "แฟนบอลคือพระเจ้า" มันสะท้อนให้เห็นความสำคัญของพวกเขาที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด
นักเตะทุกคนถูกสอนมาอย่างนี้ ต้องมีน้ำใจกับกองเชียร์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม เพื่อเป็นการตอบแทนคืนบ้าง
เรื่องนี้สโมสรทั้งหลายก็รู้ดี เพราะต้องพึ่งพาระบบชุมชนผู้คนในท้องถิ่น ฉะนั้นเราจึงได้เห็นกิจกรรมหรืออีเวนท์ต่างๆที่ช่วยเหลือองค์กรการกุศลหรือพวกผู้ยากไร้ ที่สโมสรเป็นโต้โผจัดการเอง
เทศกาลสำคัญประจำปีอย่างคริสต์มาสหรือว่าปีใหม่ เราจะได้เห็นนักเตะแต่ละทีมยกพลกันไป สถานสงเคราะห์เด็กพิการ เด็กกำพร้า พวกผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว เพื่อมอบของขวัญให้เสมอ
นอกจากนี้ยังมีแจกลายเซ็น ร่วมถ่ายรูป พูดคุยเป็นกันเองด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
จริงๆเราไม่รู้หรอกว่านักเตะทุกคนต้องการทำแบบนี้หรือเปล่า อาจมีใครที่ไม่เต็มใจบ้าง แต่ไม่สามารถเลี่ยงได้และต้องพยายามตีสีหน้าให้มีความสุขเข้าไว้
แต่นี่เป็นรายละเอียดหนึ่งที่ถูกระบุในสัญญา สโมสรจะร่างไว้เลยว่า นักเตะทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งอาจมีการกำหนดจำนวนครั้งในแต่ละปีด้วย
ในความรู้สึกของแฟนบอล โดยเฉพาะกลุ่มรุ่นเยาว์จำนวนมาก พวกเขายกย่องนักเตะอาชีพที่ตัวเองหลงใหลเป็นไอดอล มากกว่าจะไปชื่นชมพวกผู้นำประเทศหรือนักการเมืองด้วยซ้ำ
มุมของ แฮนค็อก อาจเป็นไปได้ว่ามองตรงนี้ นักเตะอาชีพเปรียบเสมือนฮีโร่ที่มีอำนาจและอิทธิพลมากพอจะชี้นำผู้คนได้
นอกจากชื่อเสียงและเงินทองแล้ว รายได้ยังมากมายโดดไปจากเส้นแบ่งปกติของยูเคอีกต่างหาก
รายได้เฉลี่ยของชาวยูเคอยู่ที่ประมาณ 42,000 ยูเอสดอลลาร์ต่อปี บวกลบไม่ต่างจากนี้สักเท่าไร
แต่ถ้าแข้งอาชีพนับที่เล่นในพรีเมียร์ลีกหลักๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านดอลลาร์ต่อปี จะเห็นว่าช่องว่างนั้นมากเหลือเกิน
แฮนค็อก จึงคิดว่าพวกนี้มีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือได้ ฉะนั้นจึงออกมาตีปี๊บเรียกร้อง ซึ่งอาจจะใช้คำพูดไม่เหมาะสมและมองเพียงแค่ด้านเดียวเท่านั้น
จะว่าพลาดก็ใช่ แต่เจตนาหรือเปล่า คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ รูนี่ย์ พยายามจะชี้แจงและขอความเป็นธรรมให้กับแข้งอาชีพ เราก็ต้องรับฟังด้วย
ในฐานะที่ แฮนค็อก เป็นถึงรมต.มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเรื่องสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บของประชากรเกือบ 70 ล้านคน เขาควรจะจัดการเรื่องระบบสาธารณให้เข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่
เห็นกันชัดอยู่แล้วว่ายอดติดเชื้อหลักหมื่นและเสียชีวิตอีกนับพันในยูเค นั่นคือหน้าที่โดยตรงของ แฮนค็อก ต้องรีบหาทางหยุดการกระจายของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด
ไม่ใช่ออกมาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้นักเตะอาชีพต้องมารับผิดชอบอะไรอย่างนี้ด้วย มันเหมือนโยนภาระและให้คนพวกนี้กลายเป็นแพะโดนจับบูชายัญ
นอกจากนี้ รูนี่ย์ ยังยืนยันด้วยว่าหากทางรัฐบาลต้องการให้ตัวเขาช่วยเหลือจริง ก็พร้อมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเรื่องของทุนทรัพย์หรือจิตอาสาต่างๆ แต่อย่าเหมาแบบเทกระจาดว่าต้องนักเตะทุกคน
เขาย้ำส่งท้ายในคอลัมน์ด้วยว่า หากนักเตะพร้อมใจกันลดเงินตัวเอง 30 เปอร์เซนต์ตามที่เรียกร้องแล้ว รัฐบาลควรจะแจกแจงว่าเอาเงินส่วนนั้นไปใช้ทำอะไรบ้าง
ที่สำคัญสุดเลยก็คือเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนักเตะอาชีพใหม่และให้เข้าใจว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ต้องบากบั่นฝ่าฟันอุปสรรคมาขนาดไหน
ไม่ใช่ว่าดวงดีมีโชคจับสลากมาเป็นเลย พวกเขาต้องแลกกับความสะดวกสบายมาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อก้าวมาให้ถึงจุดสูงสุด
ถ้าเห็นว่านักฟุตบอลอาชีพมีรายได้ที่งดงาม บรรดาศิลปินหรือผู้คนในแวดวงบันเทิงต่างๆ รวมทั้งอีกหลากหลายสาขาอาชีพก็มีฐานะการเงินมั่นคงมากมาย ควรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยกันถึงจะถูก
ไม่ว่าจะมองแบบกว้างหรือบีบให้แคบลงมาอีก ศึกนี้ แฮนค็อก ซึ่งเป็นถึงรมต.เสียรังวัดให้กับ รูนี่ย์ เรียกว่าพ่ายแพ้แบบราบคาบเลยด้วยซ้ำ
อย่างที่บอก แฮนค็อก อาจไม่มีเจตนามากไปกว่าที่อยากได้รับความช่วยเหลือจากแข้งอาชีพ โดยมองว่าดูจะเทคแอกชั่นหรือแสดงตัวในเรื่องนี้น้อยเกินไป
แต่ลืมคิดไปว่าตัวเขาอยู่ในสถานะไหน บทบาทครอบคลุมอย่างไร
แถมยังมองแค่ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงอนาคตเลยด้วยซ้ำ
ทันทีที่ แฮนค็อก เสนอไอเดียนี้ออกไป สมาคมนักฟุตบอลอาชีพหรือพีเอฟเอก็จัดการสอนมวยเข้าให้อีกดอก
หากคุณขอร้องหรือบังคับให้นักฟุตบอลหักเงิน 30 เปอร์เซนต์เพื่อช่วยเหลือวิกฤตไวรัสระบาดครั้งนี้ ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษีที่จะมีผลกระทบตามมาด้วย
เพราะเงินจำนวนที่บริจาคไปหรือเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล ไม่อาจนำมารวมเป็นรายได้ เพื่อคิดภาษีบุคคลตามปกติอีก
สิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือนักฟุตบอลอาชีพที่เล่นในลีกอังกฤษ จ่ายภาษีตามแบบอัตราก้าวหน้า
เอาเป็นว่าบรรดานักเตะที่รับเกิน 1.5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์จะต้องจ่ายถึง 45 เปอร์เซนต์ สมทบประกันอีก 2 เปอร์เซนต์ ต่างจากกลุ่มที่เสียแบบนิติบุคคลธรรมดา
อย่างในฤดูกาล 2013/14 นักเตะในพรีเมียร์ลีกจ่ายภาษีรวมกันถึง 891 ล้านปอนด์ ซึ่งตัวเลขนี้นับรวมถึงรายได้ทางอื่นที่ไม่ใช่รับจากสโมสรอย่างเดียวอีก ไม่ว่าสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน พรีเซนเตอร์หรือลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์ที่แยกออกมา
ถ้าอย่างนั้นปัจจุบันที่แข้งเหล่านี้มีเรตรายรับที่พุ่งสูงจากเดิมทุกอย่าง ตัวเลขคงทะลุ 1,000 ล้านปอนด์อย่างแน่นอน
เงินที่ถูกหักเพื่อการบริจาคหรือช่วยเหลือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั้งหลาย รวมถึงในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของไวรัสอย่างนี้ จะถูกหักไปเลยทันที ไม่มีการนำมาคิดภาษีอีก
รายได้ที่เข้ารัฐบาลจะหายไปอีกอื้อ ซึ่งลองทบทวนดูดีๆหลังหยุดยั้งโควิด-19 ได้ คงต้องใช้เงินอีกมากเพื่อมาบูรณะปะผุประเทศกันใหม่ในหลายเรื่อง
มุมมองและประเด็นอันแหลมคมนี้ช่วยให้ รูนี่ย์ ซึ่งแม้ตอนนี้จะเล่นอยู่กับดาร์บี้ในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ได้รับคะแนนนิยมไม่น้อย
เขาเป็นเหมือนคนที่ออกมาพูดแทนเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งหลายคนน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้แหล่ะ แต่อาจกระอักกระอ่วนใจ หากพูดอะไรออกมาอาจโดนวิจารณ์ว่าเห็นแก่ตัว
ตอนนี้กลายเป็นว่า แฮนค็อก ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลกลับกลายเป็นฝ่ายเห็นแก่ตัวซะเอง
ขอความร่วมมือกันดีๆก็มีคนช่วยเหลือ ไม่เห็นต้องพยายามชี้นำสังคมอย่างนี้เลย
นักฟุตบอลอาชีพไม่ใช่เทวดาก็จริง แต่พวกเขาก็เป็นคนเหมือนกัน
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา