10 เม.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
ยุคสมัยที่ถูกเรียกว่า Greatest Generation
หากพูดถึงกลุ่มประชากรที่เกิดในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์
เราอาจคุ้นเคยกับชื่อ Baby Boomers, Generation X, Generation Y
แต่รู้หรือไม่ว่า มีคนจากอีกยุคสมัยหนึ่ง ได้ถูกยกย่องให้เป็น “Greatest Generation”
ซึ่งไม่ใช่เพราะความสามารถที่เหนือกว่ายุคอื่นๆ
แต่มีสาเหตุจากความยอดเยี่ยมในการเอาตัวรอด จนผ่านพ้นวิกฤติมาแล้วทุกรูปแบบ
เรื่องราวชีวิตของคนเหล่านี้เป็นอย่างไร
แล้วพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอะไรกันมาบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Greatest Generation เป็นคำใช้เรียกแทนกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1901-1927
ขณะนั้น โลกมีประชากรอยู่ราว 1,750 ล้านคน โดยประเทศที่ประชากรมากสุด 5 อันดับแรก คือ
1. จีน 419 ล้านคน
2. จักรวรรดิอังกฤษ 391 ล้านคน
3. จักรวรรดิรัสเซีย 172 ล้านคน
4. สหรัฐอเมริกา 96 ล้านคน
5. จักรวรรดิฝรั่งเศส 80 ล้านคน
ส่วนประเทศไทย อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มีประชากรอยู่ประมาณ 8.1 ล้านคน
และเพิ่งมีการประกาศพระราชบัญญัติเลิกทาสไปไม่นาน
ในวัยเด็ก..
คนยุคนี้ต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อสงคราม
ในช่วงปี 1914-1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปยุโรป ระหว่าง
ฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย
กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง นำโดย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมัน และบัลแกเรีย
งบประมาณที่ถูกใช้ในการทำสงครามนี้ รวมกันทั้งหมดอยู่ที่ 6.1 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันเท่ากับ 105 ล้านล้านบาท
ซึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มีพลังทำลายล้างสูงกว่าอดีต
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งทหารและพลเรือนกว่า 17.6 ล้านคน
ที่น่าเศร้าใจคือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้น เป็นหัวหน้าครอบครัวของเด็กยุค Greatest Generation
3
ต่อมาเมื่อสงครามทำท่าใกล้ยุติลง ก็ดันเกิดปัญหาใหม่ขึ้น นั่นคือเหตุโรคระบาด
 
ในช่วงปี 1918-1920 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพร่ระบาดไปทั่วโลก
แม้ไม่มีหลักฐานถึงจุดเริ่มต้น แต่เนื่องจากสเปนรายงานข่าวเป็นแห่งแรกๆ โรคจึงถูกเรียกว่า ไข้หวัดสเปน
Cr. Vox
เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 50 ล้านคน
ทั้งนี้ ไวรัสได้ระบาดถึงประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าติดมาจากทหารที่เดินทางไปร่วมรบในฝรั่งเศส
ซึ่งทำให้คนไทยป่วยถึง 2.3 ล้านคน และเสียชีวิตราว 80,000 คน
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น..
ทุกคนเริ่มมีความหวังกับชีวิต หลังจากวิกฤติได้ผ่านพ้นไป
ในทศวรรษ 1920 เศรษฐกิจโลก กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่ทำให้ภาคธุรกิจสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น
ส่งผลให้สินค้าหรู มีราคาถูกลง เช่น รถยนต์ที่บริษัท Ford และ General Motors ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่
ขณะที่การเดินทางบนท้องฟ้า เริ่มไปได้ไกลขึ้น
โดยมีการทดสอบเครื่องบินจากนิวยอร์ก ข้ามมหาสมุทรไปลงที่กรุงปารีส แบบไม่หยุดพักได้สำเร็จ
Cr. Wired
นอกจากนี้ สื่อวิทยุยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้มีการคิดค้นโทรทัศน์ขึ้นมา
ทำให้เกิดการแพร่หลายทางวัฒนธรรมไปในวงกว้าง
ดูเหมือนว่า ทุกคนกำลังเห็นโลกในอนาคต ขยับใกล้เข้ามา แต่แล้วทุกอย่างก็ล่มสลายในพริบตา
ในปี 1929 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่เติบโตร้อนแรงมายาวนาน
ก็ได้เกิดฟองสบู่แตกอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression
เพียงแค่ 3 ปีให้หลัง มูลค่า GDP ของโลก หายไปถึง 15% และมีคนตกงานราว 1 ใน 4 ของประชากร
แม้แต่ประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเริ่มมีการส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศมากขึ้น
ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับกระแสทางสังคมและการเมือง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1932 หรือ พ.ศ. 2475
ต่อมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่..
ฝันร้ายของคนยุคนี้ยังไม่จบลง เพราะสงครามได้กลับมาหลอกหลอนพวกเขาอีกครั้ง
ในช่วงปี 1939-1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เปิดฉากขึ้นทั่วทุกภูมิภาค ระหว่าง
ฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ รัสเซีย และจีน
กับฝ่ายอักษะ นำโดย เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
ทุกประเทศได้ทุ่มกำลังทหารและงบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อเอาชนะสงคราม
โดยใช้เงินรวมกันทั้งหมด 42 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 607 ล้านล้านบาท
และคราวนี้ ผู้คนจากยุค Greatest Generation ได้กลายเป็นทหารในสนามรบ
หรือไม่ก็ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
ซึ่งด้วยสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งทหารและพลเรือนสูงถึง 73 ล้านคน
Cr. The National WWII Museum
ขณะที่ประเทศไทย เดิมทีเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศ จนบ้านเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ ได้รับความเสียหายไม่น้อย
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ที่คนยุคสมัยนั้น ต้องฝ่าฟันกันมาตลอด
แต่ทุกอย่างได้หล่อหลอมให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีความอดทน ขยันขันแข็ง และรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด
ที่สำคัญ คนเหล่านี้คือพ่อแม่ของเด็กยุค Baby Boomers ที่คอยสั่งสอนบทเรียนชีวิตให้กับลูกหลาน ได้นำไปใช้สร้างเป็นรากฐาน จนเศรษฐกิจและสังคมสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง หลังสงครามสิ้นสุดลง
จากเรื่องราวนี้ เราอาจจะเห็นได้ว่า
มีบางสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่คล้ายคลึงกับช่วง Greatest Generation เหมือนกัน
โลกกำลังอยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีพัฒนาไปได้รวดเร็วสุดขีด
แต่ในทางกลับกัน ประเทศมหาอำนาจ ก็มีปัญหาขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง
และล่าสุด มนุษย์ต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัส COVID-19
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โลกยังคงหมุนต่อไปในทุกวัน
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นบททดสอบชั้นดีให้กับเรา
ให้ดูคนยุค Greatest Generation เป็นตัวอย่าง
ถ้าคนรุ่นเราสามารถผ่านมันไปได้
เราก็น่าจะถือได้ว่าเราเป็นคนรุ่นที่แข็งแกร่ง ไม่แพ้ คนรุ่นไหนในประวัติศาสตร์เช่นกัน..
1
โฆษณา