9 เม.ย. 2020 เวลา 13:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
🔺2 ค่าย 2 ขั้ว แห่งการกำจัดขยะพลาสติก
ฝ่ายแดง “กุ้งล็อบสเตอร์” -VS- ฝ่ายน้ำเงิน “แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรม”
ฝ่ายแดงกับฝ่ายน้ำเงินของเรา จะมีวิธีในการกำจัดขยะพลาสติกต่างกันอย่างไรบ้าง
🔺ติดตามในไดโนสคูลตอนนี้เลยค่ะ 💖💙
🔺งานวิจัยตีพิมพ์ ในวารสารACS (American Chemical Society) Environmental Science & Technology เมื่อวานนี้ (8 เมษายน 2020)
ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ ได้รู้ว่ากุ้งล็อบสเตอร์นั้น นอกจากจะกินปลาปูกุ้งหอย สัตว์ทะเลที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหารแล้ว
ยังสามารถกินและย่อยเม็ดไมโครพลาสติก (Microplastics) ได้อีกด้วย โดยNephrops norvegicus หรือ นอร์เวย์ล็อบสเตอร์ (Norway Lobsters) เป็นตัวต้นเรื่องของเราค่ะ
🔺กุ้งล็อบสเตอร์ เป็นสัตว์น้ำที่มี 2 กระเพาะค่ะ (คุณรู้มาก่อนมั้ย.. นกเพิ่งทราบค่ะ แห่ะๆ)
โดยกระเพาะแรก อยู่ที่บริเวณด้านหลังลูกตา เป็นจุดแรกที่ย่อยอาหาร เมื่อย่อยแล้ว จะส่งต่อไปในกระเพาะที่อยู่ถัดไปค่ะ
🔺เขาพบว่า มันย่อยจนกระทั่งได้เป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก แล้วขับถ่ายออกกลายเป็น “ไมโครพลาสติกมือสอง” (Secondary microplastics)
ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กกว่ามาก คืนสู่สิ่งแวดล้อม จึงทำให้สัตว์น้ำอื่น ๆ สามารถกินและย่อยต่อได้!!!
🔺ถือว่าเป็นวิถีแห่งธรรมชาติ ที่กุ้งล็อบสเตอร์สามารถจัดการกับขยะไมโครพลาสติกได้อย่างเหลือเชื่อ
และนับเป็นอีกหนึ่งความสามารถเฉพาะตัวของกุ้งล็อบสเตอร์ ที่ทำให้พวกมันสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความผันผวนได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอีกหลายสายพันธุ์
🔺นอกจาก พรสวรรค์ในการสลัดก้ามและขาทิ้ง ถ้าจำเป็นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากนักล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า
ที่สามารถสร้างก้ามใหม่ไฉไลกว่าเดิม มาแทนที่หลังจากลอกคราบด้วยนะคะ
🔺ยังมีเกร็ดเพิ่มเติมอีกหน่อยค่ะ เคยมีคนจับกุ้งล็อบสเตอร์ตัวที่ใหญ่ที่สุด น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัมนะคะ (เท่ากับสุนัขขนาดกลาง ๆ ตัวนึงได้เลยค่ะ)
และกุ้งล็อบสเตอร์ในทะเลส่วนใหญ่ ก็จะมีสีเทาผสมส้มน้ำตาลใช่ไหมคะ แต่ที่หายากกว่าชนิดน้อยกว่า 0.0001% ก็คือ พันธุ์สีน้ำเงิน สีเหลือง แล้วก็สีขาวไข่มุกค่ะ
และนี่ก็คือ คุณสมบัติอันโดดเด่นของฝ่ายแดง กุ้งล็อบสเตอร์ ของเรานะคะ
🔺ส่วนอีกฟากหนึ่ง ฝ่ายน้ำเงิน ที่มีความสามารถย่อยขยะพลาสติกได้ ก็คือ เจ้าแบคทีเรียที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมค่ะ
โดยแบคทีเรียชนิดนี้ จะย่อยขยะพลาสติกกลุ่ม PET ที่ย่อมาจากพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate) ค่ะ
ถ้าคุณมีขวดน้ำอยู่ข้างตัว ลองยกดูก้นขวดค่ะ จะปั้ม “PET” และเลข 1 ในรูปสามเหลี่ยมรีไซเคิล
ซึ่งหมายถึง การเป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ประเภทที่ 1 ค่ะ
ขยายความค่ะ : พลาสติกที่รีไซเคิลได้ มีอยู่ 7 ประเภท มีเลขประจำหมวดตั้งแต่ 1 2 3 จนถึงเลข 7 ซึ่ง PET เป็นประเภท 1 ค่ะ... นั่นจึงเป็นเหตุที่ว่าเราควรแยกขยะแต่ละชนิด เพื่อให้สะดวกต่อกระบวนการรีไซเคิลค่ะ
PET เป็นพอลิเมอร์ ที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีเอสเทอริฟิเคชัน (Esterification) ระหว่างสารแรกคือ Terephthalic acid (TPA) กับ สารที่สอง คือ Ethylene glycol (EG) ค่ะ
ซึ่งพลาสติก PET ถูกใช้ในการทำขวดบรรจุหลากหลาย ทั้งขวดน้ำดื่มขนาดพกพา กล่องพลาสติกใส่อาหาร ขวดใส่เครื่องปรุงอย่างซอสมะเขือเทศ น้ำปลา น้ำมัน ขวดใส่น้ำอัดลม ฯลฯ
เนื่องจาก PET มีความสามารถเก็บกักแก๊สเอาไว้ภายในได้ดี จึงใช้ใส่น้ำอัดลมต่าง ๆ
และป้องกันน้ำหรือไขมันจากภายนอกซึมผ่านได้ จึงใช้บรรจุอาหาร-เครื่องดื่มนานาชนิดค่ะ
นอกจากนี้ PET ยังใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เสื้อแจ็คเก็ต พรมเช็ดเท้า ชิ้นส่วนในรถยนต์ ฯลฯ ได้ด้วย
PET จึงเป็นพลาสติกที่แทรกซึมในชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก และหากจะใช้เวลาย่อยสลายแบบธรรมชาติ Thermodegration ต้องใช้เวลาราว 450 ปีค่ะ!!!
นวัตกรรมดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรีย ให้สร้างเอนไซม์มาย่อย PET ได้นี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำอัดลมชื่อดัง คือ PEPSI และบริษัทเครื่องสำอางระดับโลก อย่าง L'Oreal ค่ะ
และได้ตีพิมพ์แล้วในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ “Nature” ในวันนี้เลยค่ะ (9 เมษายน 2020)
โดยทำการดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรีย ในตำแหน่ง “201-F6” เพื่อให้มันสร้างเอ็นไซม์จำเพาะย่อยพลาสติก PET เท่านั้นค่ะ
และตั้งชื่อเอ็นไซม์ที่ผลิตออกมาอย่างเก๋ไก๋ว่า “PET hydrodase” สื่อถึงคุณสมบัติเด่น...เอ็งเกิดมาเพื่อย่อยพลาสติก PET จริงๆ👍👍👍
ในด้านประสิทธภาพนั้น หายห่วงค่ะ ย่อยสลายได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเพียงแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ💢
สมมติมีขยะพลาสติกประเภท PET 10 ตัน ก็ย่อยเหลือแค่ 1 ตันใน 10 ชั่วโมง.... ปรบมือให้เลยจ้ะ👏👏👏💓
สำหรับคนที่สงสัยว่ากำเนิดของแบคทีเรียนี้มายังไง
เขาพบมาตั้งแต่ปี 2012 ค่ะ จากการสังเกตว่าต้องมีแบคทีเรียผลิตเอนไซม์บางอย่างย่อยเศษใบไม้ที่ทับถมอยู่ในถัง จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ เพาะเลี้ยงแยก และตัดต่อพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการจนได้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นชมออกมาเช่นนี้ค่ะ
และทีมวิจัยคาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า “PET hydrodase” จากแบคทีเรียที่ดัดแปลงพันธุกรรมนี้ จะถูกใช้แพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพลาสติกนี้นะคะ
🔺เป็นยังไงบ้างคะ กับ 2 ค่าย ฝ่ายแดง (กุ้งล็อบสเตอร์) กับฝ่ายน้ำเงิน (แบคทีเรีย)
คุณชอบแนวทางไหนคะ❓❓
ที่แน่ ๆ คือ เราต้องช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรโลกโดยไม่จำเป็นทุกสิ่งอย่าง ใช้อย่างมีเหตุมีผล ไม่ว่าเป็นของธรรมชาติหรือสิ่งสังเคราะห์
เพื่อลดภาระแก่คน สัตว์ กระบวนการ ฯลฯ ที่ต้องตามมา เก็บปัญหาของพวกเรานะคะ
นกไดโนสคูล
โฆษณา