12 เม.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
ธุรกิจ MAKRO กับ COVID-19
นับจากต้นปีดัชนี SET ลดลงไปแล้ว 23% ขณะที่มูลค่าตลาดลดลงไป 3.7 ล้านล้านบาท หุ้นของหลายบริษัทมีราคาลดลง แต่มีหุ้นอยู่ตัวหนึ่งที่ราคายังเพิ่มขึ้น นั่นคือหุ้นของ MAKRO
ที่เป็นแบบนี้ เพราะนักลงทุนบางส่วนอาจคิดว่า วิกฤติ COVID-19 คงไม่มีผลกระทบอะไรมากต่อ MAKRO เนื่องจากบริษัทขายสินค้าจำเป็น
ในทางกลับกันอาจจะส่งผลดีต่อ MAKRO ด้วยซ้ำจากปรากฏการณ์คนจำนวนมากไปแย่งกันซื้อของเพื่อตุนเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ถ้าวิกฤตินี้ลากยาวไปเรื่อยๆ
เราอาจต้องกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่ ว่า MAKRO ได้ประโยชน์จริงหรือไม่
ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
MAKRO เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (Cash and Carry) ในประเทศไทยนั้นมี MAKRO บริษัทเดียวที่ดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ MAKRO ขายนั้นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
MAKRO เปิดสาขาแรกในประเทศไทยในปี 2532 และขยายสาขามาอย่างต่อเนื่องนับจากนั้น โดยในปัจจุบัน MAKRO มีลูกค้าสมาชิกมากกว่า 3.0 ล้านราย
สิ้นปี 2562 MAKRO มีสาขาในประเทศไทย 134 สาขา โดย 26% จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 74% จะตั้งอยู่ในต่างจังหวัด
ขณะที่ MAKRO มีสาขาอยู่ในต่างประเทศจำนวน 7 สาขาคือ ที่กัมพูชา อินเดีย และจีน
อย่างที่หลายคนรู้ ในปี 2556 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ MAKRO เมื่อ CPALL ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 ได้เข้ามาซื้อหุ้นจากบริษัท SHV จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่าการซื้อกิจการในครั้งนั้นสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท และนับเป็นหนึ่งในดีลประวัติศาสตร์การซื้อกิจการในประเทศไทยเลยทีเดียว
ที่ผ่านมารายได้ของ MAKRO มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายสาขา
รายได้และกำไรของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 186,754 ล้านบาท กำไร 6,178 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 192,930 ล้านบาท กำไร 5,941 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 210,627 ล้านบาท กำไร 6,244 ล้านบาท
Cr. แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ
การที่ธุรกิจของ MAKRO มีการเติบโตนอกจากการขยายสาขาแล้วนั้น อีกส่วนยังเกิดจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า HORECA (โฮเรก้า)
ลูกค้ากลุ่มนี้หมายถึง ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) รวมไปถึง การจัดเลี้ยง (Catering)
รู้ไหมว่า ปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่ม HORECA มีสัดส่วนประมาณ 27% ของรายได้ของ MAKRO หรือเกือบ 57,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า หลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ทำให้ตลาดลูกค้ากลุ่ม HORECA เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังไปได้ดี กลับต้องมาสะดุดครั้งใหญ่ เพราะการระบาดของ COVID-19..
ตอนนี้ ลูกค้ากลุ่ม HORECA กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ซึ่งเป็นผลจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงอย่างน่าใจหาย
จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 7.3 ล้านคน
จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 5.8 ล้านคน
แค่ 2 เดือนแรก นักท่องเที่ยวลดลงไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน หรือประมาณ 20% แต่หลังจากเดือนมีนาคม ที่รัฐบาลประกาศปิดหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวในเดือนเมษายน ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะลดลงไปอีกอย่างไม่ต้องสงสัย
Cr. SCMP
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้โรงแรมหลายแห่งไม่มีนักท่องเที่ยวมาพัก
งานอาหารและจัดเลี้ยงต้องถูกยกเลิก เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก
ร้านอาหารหลายแห่งที่ไม่มีบริการจัดส่งเริ่มขายลำบากมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าไม่ออกจากบ้าน
แน่นอนว่า ตลอด 31 ปีที่ผ่านมา MAKRO ฝ่าฟันวิกฤติมานับครั้งไม่ถ้วน
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติการเมืองในประเทศไทย วิกฤติโรคระบาดอย่างซาร์สและไข้หวัดนก ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทุกครั้ง
จนมาครั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ
ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป
ก็น่าคิดว่า แล้ว MAKRO จะฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ดีเหมือนครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมาได้แค่ไหน
ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่า
การเพิ่มขึ้นจากการกักตุนสินค้าที่จำเป็น
กับการหายไปของลูกค้ากลุ่ม HORECA
อย่างไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด และเราจะได้เห็นตัวเลขกันเร็วๆ นี้ว่า MAKRO จะได้ประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้กันแน่..
References
-แบบฟอร์ม 56-1 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
-แบบฟอร์ม 56-1 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา