15 เม.ย. 2020 เวลา 02:13
ความยอมรับของชาวต่างชาติ
ชาวต่างชาติยอมรับเรื่องสมาธิและเรื่องหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนเรื่องบุญบาป หรือเรื่องกฎแห่งกรรม เขาจะค่อย ๆ ศึกษา ทำความเข้าใจหลังจากนั่งสมาธิแล้ว
อย่างที่บอกไว้ว่าอย่าเพิ่งไปยัดเยียดให้เขา เริ่มด้วยการให้เขารู้สึกว่านั่งสมาธิแล้วดี พอใจเขาละเอียดขึ้น สงบขึ้นแล้ว เขาจะอยากศึกษาเรียนรู้เอง ถึงเวลานั้นให้เราค่อย ๆ สอนเขาทีละขั้นทีละตอนอย่างนี้ถึงจะได้ผลดี
เมื่อมีการถ่ายทอดคำสอนข้ามวัฒนธรรม เรื่องของภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เราอย่าไปคิดแค่ว่าฝึกภาษาอังกฤษให้พูดได้ ฝึกภาษาญี่ปุ่นให้พูดได้ มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะการที่เราจะหาคำศัพท์ในอีก
ภาษาหนึ่งให้มีความหมายตรงกันนั้นยากเหมือนกันสมมุติคำว่า “บุญ” ในภาษาไทย คนไทยได้ยินก็เข้าใจได้ชัดเจน แต่ถ้าเราจะสอนชาวต่างชาติด้วยภาษาอังกฤษ พอพูดถึง“บุญ” เรามักจะแปลโดยใช้คำว่า “Merit” แต่จริง ๆ แล้วคำว่า “Merit” ความหมายในภาษาอังกฤษไม่ได้ตรงกับคำว่า “บุญ” ในภาษาไทยเลยทีเดียว แต่มีความหมายคล้าย ๆ เหมือนเป็นผลประโยชน์ทางด้านวัตถุที่จับต้องได้ ดังนั้น ความรู้สึกมันไม่ได้ตรงกับคำว่า “บุญ”เสียทีเดียว
KUDOKU (แปลว่า บุญ)
เพราะฉะนั้น ถ้ามองในระยะยาวจริง ๆ แล้วล่ะก็ เราอาจจะต้องมีการบัญญัติศัพท์ว่า คำว่า “บุญ” ในภาษาอังกฤษควรจะใช้คำใดแทนที่เราจะใช้ภาษาอังกฤษที่มีอยู่แล้วความหมายไม่ตรงนัก สู้เราใช้คำทับศัพท์ไปเลย เหมือนกับคำว่า “คอมพิวเตอร์” หรือ “ซอฟต์แวร์”ที่เรายังใช้คำทับศัพท์ก็เข้าใจความหมายได้ โดยไม่ต้องใช้ศัพท์บัญญัติแทนว่า “คณิตกรณ์” หรือ “ละมุนภัณฑ์”
คำว่า “บุญ” เราก็ใช้คำว่า “Boon” ส่วนคำว่า “บาป”เราก็ใช้คำว่า “Papa” ทับศัพท์ไปเลย แล้วอธิบายให้รู้ว่า คำนี้ความหมายว่าอะไร ไม่นานคนจะค่อย ๆ เข้าใจมากขึ้นไปเอง ทีสำคัญเขาจะได้รู้ความหมายที่ตรงมากกว่าด้วย
1
ความจริงแล้วหากเราต้องการจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปถึงคนท้องถิ่นจริง ๆ ควรทำแบบเป็นระบบ ทำเป็นการใหญ่ คือ ช่วยกันจัดระบบตั้งแต่คำศัพท์ที่จะใช้ และอาจจะต้องมีการเก็บรวบรวมคำศัพท์ว่า เราควรใช้ศัพท์ใดบ้างให้ตรงกันทั้งหมด
ต่อไปคนทั่วโลกที่สนใจสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ตรงกัน ซึ่งถ้าเราจัดระเบียบศัพท์ ในภาษาอังกฤษลงตัวแล้ว ต่อไปจะใช้ภาษาอื่น ๆก็ง่ายขึ้น เพราะมีวงศัพท์ที่ควรจะทับศัพท์อยู่แล้ว เหลือเพียงมาให้คำจำกัดความเพิ่มในภาษาต่าง ๆ เท่านั้น แล้วทำหลักสูตรการสอนสมาธิแบบเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราว มีการฝึกครูสอนสมาธิอย่างเป็นระบบระเบียบ พอทำให้มีระบบรองรับอย่างนี้ งานทุกอย่างก็จะขยายไปได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องของคำสอนนั้น ให้ทำเป็นขั้นตอนตามที่เขาต้องการเพราะเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เหมือนน้ำที่ไหลซึมเข้าไปแบบเย็น ๆ ไม่ได้ ไหลไปแบบซุงกระแทกเข้า
ชาวต่างชาติที่มาเจอพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาด้วยความรู้สึกที่อยากจะเรียนรู้เอง แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่นนั้นตั้งใจจะไปเปลี่ยนศาสนาเขา เขาจึงมักจะรู้สึกต่อต้าน รู้สึกว่าจะไปเปลี่ยนเขา แต่พระพุทธศาสนาแตกต่างออกไป คนเดินเข้ามาหาเองเพราะรู้สึกว่าเราเย็น ๆ ยิ้มใส ๆ สบาย ๆ แล้วเขาก็อยากจะศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างนี้ เป็นต้น
สรุปว่า พระภิกษุสงฆ์ที่ไปอยู่ในต่างแดนจะมีหน้าที่หลัก ๆ 2 ประการ คือ ไปศึกษาหาความรู้ หรือหาประสบการณ์เพิ่มเติมและไปทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกดินแดน
ในการเดินทางไปต่างประเทศของท่านมักจะพบกับความยากลำบากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางด้านภาษา ดิน ฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ จนกว่าจะปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่ได้
ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ควรร่วมกันถวายทั้งกำลังใจและปัจจัย เพื่อที่จะดูแลและสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ขจรขจายไปทั่วทุกดินแดน
เจริญพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา