15 เม.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
LVMH กำลังเจอความท้าทาย ในเวลาที่คนไม่ต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย
มันคงเป็นเหมือนฝันร้าย ถ้าหากมีวิกฤติที่ทำให้ผู้บริโภค ต่างพร้อมใจกันไม่ซื้อสินค้าของเรา
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องนี้อาจกำลังเกิดขึ้นจริงกับบริษัทแบรนด์หรูยักษ์ใหญ่อย่าง “LVMH”
เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คนอยู่แต่ในบ้าน จับจ่ายใช้สอยน้อยลง
และที่สำคัญคือ พวกเขาต้องเลือกซื้อเฉพาะของที่จำเป็นจริงๆ ก่อน
ซึ่งสิ่งที่น่าจะถูกตัดออก ก็คงหนีไม่พ้น สินค้าแบรนด์เนม
นั่นทำให้ LVMH กลายเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดทันที..
ก่อนหน้านี้ บริษัท LVMH เป็นเจ้าของแบรนด์หรู ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งมาก
เพราะถือครองกิจการอยู่หลากหลายประเภท
สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง เช่น Louis Vuitton, Charles & Keith, Marc Jacobs
ร้านค้าปลีก เช่น Sephora
น้ำหอมและเครื่องสำอาง เช่น Christian Dior
ไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น Hennessy, Moët & Chandon
นาฬิกาและเครื่องประดับ เช่น TAG Heuer, Tiffany & Co.
รวมทั้งได้มีการขยายตลาดไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น
เอเชีย มีอยู่ 1,880 สาขา สร้างยอดขายสัดส่วน 37%
ยุโรป มีอยู่ 1,712 สาขา สร้างยอดขายสัดส่วน 28%
สหรัฐอเมริกา มีอยู่ 829 สาขา สร้างยอดขายสัดส่วน 24%
ด้วยเหตุนี้ ผลประกอบการของ LVMH จึงอยู่ในช่วงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2017 รายได้ 1,518,000 ล้านบาท กำไร 183,000 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 1,668,000 ล้านบาท กำไร 227,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1,913,000 ล้านบาท กำไร 256,000 ล้านบาท
ส่งผลให้ปลายปีที่แล้ว มูลค่าบริษัทได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราว 7,400,000 ล้านบาท
และ CEO อย่างคุณ Bernard Arnault ก็ได้กลายเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับ 3 ของโลก
Cr. Business Insider
แต่ท่ามกลางความสำเร็จบนจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์
LVMH กลับต้องเจออุปสรรคที่เข้ามาสั่นคลอนธุรกิจ แบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน..
ย้อนกลับไปในปี 2019 คลื่นลูกแรก ได้เริ่มซัดเข้ามาที่ฮ่องกง
ฮ่องกงเป็นตลาดใหญ่สำหรับแบรนด์หรู เนื่องจากประชาชนมีฐานรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูง
แต่หลายเดือนที่ผ่านมา เกิดการประท้วงยืดเยื้อ โดยมีสาเหตุจากร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จนนำไปสู่การเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย
สถานการณ์ความไม่สงบนั้น ทำให้คนใช้จ่ายเงินน้อยลง และห้างร้านหลายแห่งต้องปิดตัวชั่วคราว
ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2019 ยอดขายของ LVMH ในฮ่องกง ลดลงถึง 40% จากปีก่อนหน้า
Cr. Bloomberg
ถัดมา คลื่นลูกที่สอง ที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก คือ COVID-19
ในปี 2020 เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศจีน, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ LVMH มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจไปหลายพื้นที่
แต่คงนึกไม่ถึงว่า จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทุกตลาดหลักไปพร้อมๆ กันแบบนี้
เพราะมาตรการควบคุมการระบาดในแต่ละประเทศ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม, ยกเลิกงานจัดแสดงสินค้า, ปิดห้างร้าน และปิดเมือง ย่อมทำให้ยอดขายสินค้าแบรนด์หรูชะลอตัวลง
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ คนจีน
ซึ่งใช้จ่ายกับแบรนด์เนม คิดเป็นสัดส่วน 35% ของผู้ซื้อทั่วโลก
แต่ COVID-19 ได้เข้ามาสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาแห่งการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนพอดี
นอกจากนี้ การจำกัดจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ก็ได้ส่งผลเสียทางอ้อมเช่นกัน
เนื่องจาก 70% ของคนจีนที่ใช้จ่ายกับแบรนด์หรู มักจะเดินทางไปซื้อที่ต่างประเทศ
Cr. Hypebeast
ส่วนคลื่นลูกที่สาม ที่เตรียมซัดเข้ามาอีกระลอก คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ความหวาดกลัวที่มีต่อโรคระบาด ไม่ว่าในตอนนี้ หรือการระบาดซ้ำในอนาคต
จะทำให้ผู้คนต้องคิดหนักกว่าเดิมในการเลือกซื้อสินค้า ด้วยงบประมาณที่น้อยลงสำหรับบางราย
ซึ่งส่วนใหญ่ คงให้ความสำคัญกับของที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร, หน้ากากอนามัย, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือค่าวัคซีนป้องกันหากมีการคิดค้นได้
มากกว่าจ่ายไปให้กับสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างแบรนด์หรูต่างๆ
และหลังโรคระบาดจบลงแล้วจริงๆ มันคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ กว่าที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะฟื้นตัวกลับมา
จากความท้าทายที่หนักหนาสาหัสหลายด้าน ทำให้ล่าสุด มูลค่าบริษัท LVMH ตกลงมาอยู่ที่ 6,123,000 ล้านบาท หรือลดลงราว 17% จากจุดสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทอยู่ในช่วงที่ลำบาก แต่ก็ได้พยายามช่วยเหลือสังคม
ด้วยการเปลี่ยนสายผลิตเครื่องสำอาง มาผลิตเจลฆ่าเชื้อแทน ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ
โดยจะส่งมอบให้กับหน่วยงานด้านสุขภาพ แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย
Cr. LVMH
คงต้องรอดูว่า วิธีนี้จะสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่มีต่อ LVMH เพื่อดึงดูดให้คนกลับมาซื้อแบรนด์หรูเหมือนเดิมได้มากน้อยเพียงใด
หรือไม่แน่ว่า สินค้าหรูที่ LVMH วางขายในอนาคต
อาจเป็นเจลล้างมือแบบพรีเมียม หรือหน้ากากอนามัยรุ่น Limited Edition ก็เป็นได้..
โฆษณา