15 เม.ย. 2020 เวลา 22:42 • กีฬา
AEW : "สมาคมมวยปล้ำน้องใหม่ไฟแรง ที่หวังทำลายธุรกิจผูกขาดของ WWE"
ถ้าหากเราจะพูดถึงกีฬามวยปล้ำ คำว่า WWE คงเข้ามาในหัวของเราเป็นคำแรก
ชื่อของสมาคมมวยปล้ำอายุกว่า 67 ปี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากมาย จนก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของวงการ ตลอดเส้นทางอันยาวนาน WWE เผชิญหน้ากับคู่แข่งนับไม่ถ้วน แต่ไม่มีครั้งไหนที่พวกเขาพ่ายแพ้
ผลดีเกิดขึ้นกับธุรกิจของบริษัท ทุกก้าวที่เดินคือการปฏิวัติวงการ กีฬามวยปล้ำที่เคยป่าเถื่อน แปรเปลี่ยนเป็น กีฬารูปแบบบันเทิง หรือ Sport Entertainment ที่เข้าถึงผู้ชมทุกเพศวัย ไม่จำกัดในวงแคบแบบเมื่อก่อน
ในทางกลับกัน ผู้ชมที่คิดถึงการต่อสู้ดิบเถื่อน ไม่มีทางเลือกให้รับชมมากนัก เนื่องจากการผูกขาดของ WWE เมื่อมีสมาคมใหม่ขึ้นมา พวกเขาจะใช้เงินฟาดดูดนักมวยปล้ำจากค่ายเหล่านั้น จนหมดกำลังต่อสู้ไปในที่สุด
หลังช่วงเวลาอันมืดมิดของแฟนมวยปล้ำสายฮาร์ดคอร์ แสงสว่างได้สาดส่องมาอีกครั้ง จากการถือกำเนิดขึ้นของสมาคมชื่อว่า “All Elite Wrestling” (ออล อีลิท เรสลิง) หรือเรียกสั้นๆว่า AEW (เออีดับเบิลยู)
นี่ไม่ใช่สมาคมอินดี้ทุนต่ำธรรมดาทั่วไป แต่เป็นค่ายมวยปล้ำที่ถูกหนุนหลังโดยมหาเศรษฐีระดับพันล้าน และบริหารโดยนักมวยปล้ำผู้มีประสบการณ์ขึ้นสังเวียนมาแล้วทั่วโลก พร้อมนโยบายที่แตกต่างจาก WWE ตั้งแต่บนเวทีไปถึงหลังฉาก
จุดเริ่มต้นของสมาคมนี้เป็นมาอย่างไร? และ สิ่งใดคือเป้าหมายสูงสุดของพวกเขา? Main Stand จะพาคุณย้อนไปดูเส้นทางของ AEW ทางเลือกใหม่ที่ไม่ธรรมดาของวงการมวยปล้ำ
"เริ่มต้นจากคำดูถูก"
ก้าวแรกของสมาคม AEW เริ่มต้นขึ้นจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นตามสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีแฟนมวยปล้ำรายหนึ่ง ส่งคำถามไปหา เดฟ เมลท์เซอร์ (Dave Meltzer) นักวิจารณ์มวยปล้ำชื่อดัง ผ่านทวิตเตอร์ว่า
“คุณคิดว่าสมาคม ROH (อาร์โอเอช) จะสามารถจัดโชว์มวยปล้ำและขายตั๋วหมด ในสนามที่มีคนดูมากกว่าหนึ่งหมื่นคนหรือเปล่า แบบ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน อะไรทำนองนี้”
หลังได้อ่านคำถาม เมลท์เซอร์ ตอบกลับแฟนมวยปล้ำรายนั้นกลับไปอย่างมั่นใจว่า “ไม่ใช่ในเร็ววันนี้” และเรื่องราวทั้งหมดมันควรจะจบลงแค่นั้น หากทวีตดังกล่าวไม่ไปเข้าตาของ โคดี้ โรดส์ (Cody Rhodes) อดีตนักมวยปล้ำจาก WWE (ดับเบิลยูดับเบิลยูอี) ที่ปล้ำให้กับสมาคม ริง ออฟ ออเนอร์ (Ring Of Honor) หรือ ROH ในขณะนั้น
“ทวีตนั้นมันเหมือนกับระเบิดไดนาไมต์” โคดี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ถึงความรู้สึกตอนได้อ่านข้อความของเมลท์เซอร์
“ความจริงไอเดียที่จะจัดโชว์แบบนั้นมันมีอยู่แล้ว สมาคม ริง ออฟ ออเนอร์ กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อีเวนต์ของเราสนุกขึ้นมากจากเมื่อก่อน เมื่อเราได้เห็นทวีตนั้นเข้า มันรู้สึกเลยว่าความคิดนี้เริ่มจะเข้าท่า”
ด้วยเหตุนี้ โคดี้ จึงโควตกลับใส่ทวีตดังกล่าวของเมลท์เซอร์ไปว่า “ผมรับคำท้านั้น เดฟ” พร้อมกับชักชวนสองนักมวยปล้ำเพื่อนซี้ แมตต์ และ นิค แจคสัน (Matt and Nick Jackson) หรือที่รู้จักกันในนามแท็กทีม ยัง บัคส์ (Young Bucks) เข้ามาสู่ทีมโปรดิวเซอร์ เพื่อสร้างโปรเจคต์นี้ให้เกิดขึ้นจริง
แม้จะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเสมอ เมื่อแนวคิดของโคดี้ที่จะจัดโชว์ให้ ROH ต้องได้รับการอนุมัติจากสมาคม ในขณะที่เจ้าตัวลงแรงเดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อหาสนามที่ต้องการ
เมื่อฝ่ายหนึ่งออกก้าว แต่อีกฝ่ายยังอยู่กับที่ โคดี้จึงขอเสี่ยงไปอีกขึ้น ด้วยการประกาศว่า นี่คืออีเวนต์ที่เขาจะจัดเองทั้งหมด โดยไม่ขึ้นตรงกับสมาคมมวยปล้ำใด
“นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม ผมจะไม่พูดว่านี่คือโชว์ที่จะเปลี่ยนวงการ แต่มันมีความเป็นไปได้ในเรื่องนั้น เพราะว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่เคยมีใครออกเงินเอง ไม่มีเคยมีใครโปรโมตโชว์ของตัวเอง และเรามั่นใจว่า ไม่มีใครที่ข้ามเขตแดนที่แตกต่าง ซึ่งคุณไม่ควรจะข้ามมาก่อน”
เมื่อไร้นายทุนหนุนหลัง โคดี้จึงงัดคติ “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” ออกมาใช้ เขาชักชวนเพื่อนนักมวยปล้ำอิสระทั้งหมดในวงการ ไม่เกี่ยงว่าจะมาจากสมาคมฝั่งไหน อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเม็กซิโก ทุกคนมีสิทธิ์ร่วมในรายการนี้ได้ทั้งหมด พร้อมกับประกาศชื่ออีเวนต์ดังกล่าวว่า ออล อิน (ALL IN) สื่อถึงการเทหมดหน้าตักของโคดี้ ให้กับอีเวนต์ดังกล่าวแบบไม่มีอะไรจะเสีย
“เราติดต่อไปยังนักมวยปล้ำของ CMLL (ซีเอ็มแอลแอล) และนิว เจแปน (New Japan Pro Wrestling) รวมถึงพวกที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับใครทั้งนั้น เราตัดสินใจข้ามเส้นทางที่เราไม่ควรจะข้าม แต่เรามันแค่ผู้ชายสามคน และคุณรู้อะไรไหม เราจะเดินหน้าทำมันต่อไป”
ด้วยเหตุนี้ โชว์ ออล อิน จึงประกอบด้วยนักมวยปล้ำชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แชมป์โลกจากสามสมาคม ทั้ง ROH, นิว เจแปน และ NWA (เอ็นดับเบิลยูเอ) ร่วมปล้ำ บวกกับดาวดังที่ทุกคนรู้จักกันดี อย่าง เรย์ มิสเตริโอ (Rey Mysterio) เข้ามาเป็นตัวชูโรงในคู่เอก แถมยังได้ สเตเฟน อาเมลล์ (Stephen Amell) พระเอกจากซีรีย์แอร์โรว์ เข้ามาร่วมแจม
วันที่ 1 กันยายน 2018 ความฝันกลายเป็นความจริง ศึก ออล อิน จัดขึ้นที่สนาม ฮอฟมัน เอสเตต (Hoffman Estate) ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ มีแฟนมวยปล้ำเข้ามาเป็นสักขีพยานถึง 11,263 คน สร้างสถิติเป็นอีเวนต์มวยปล้ำแรกนับตั้งแต่ปี 1993 ที่มีผู้ชมเกินหนึ่งหมื่นคน และไม่ได้จัดขึ้นโดยสมาคม WWE หรือ WCW (ดับเบิลยูซีดับเบิลยู)
"Being All Elite"
หลังโชว์จบลง กระแสตอบรับจากแฟนมวยปล้ำและนักวิจารณ์ต่อศึก ออล อิน เป็นไปในแง่บวก หลายคนอยากดูโชว์ของ โคดี้ และ ยัง บัคส์ ที่ตอนนี้รู้จักกันในนามกลุ่มมวยปล้ำชื่อว่า ดิ อีลิท (The Elite) อีกครั้ง แต่จากการลงทุนเองในอีเวนต์ดังกล่าว พวกเขาต้องหากลุ่มทุนมาสนับสนุนให้ไวที่สุด หากหวังสร้าง ออล อิน ภาคสอง ให้เกิดขึ้นจริง
โชคดีของดิ อีลีท และแฟนมวยปล้ำทั่วโลก เมื่อสองพี่น้องยัง บัคส์ มีความสนิทชิดเชื้อกับ โทนี่ ข่าน (Tony Khan) นักธุรกิจหนุ่มชาวอเมริกัน ลูกชายของ ชาฮิด ข่าน (Shahid Khan) มหาเศรษฐีพันล้านเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แจ็กสันวิลล์ จากัวร์ส (Jacksonville Jaguars) และ ฟูแล่ม (Fulham) ทีมฟุตบอลจิ๋วแต่แจ๋วของพรีเมียร์ลีก
นอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่รวยล้นฟ้า โทนี่ ข่าน ยังเป็นแฟนมวยปล้ำตัวยง ตรงสเปคที่ ดิ อีลิท ต้องการให้มาเป็นนายทุนหนุนหลัง ยัง บัคส์ จึงกระซิบบอกโคดี้ ให้ลองไปเจอกับ โทนี่ ข่าน ดูสักรอบ เพราะมีโอกาสไม่น้อยที่จะคุยกันถูกคอ และได้ข่านมาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ในการจัดอีเวนต์มวยปล้ำครั้งต่อไป
“ผู้คนเพิ่งรู้ว่า โทนี่ เป็นแฟนมวยปล้ำเดนตาย เขาเดินทางมาชมอีเวนต์ของ WWE บ่อยมาก ความจริงเขานั่งอยู่แถวหน้าสุดในโชว์ของ นิว เจแปน โปร เรสลิง เลยด้วยซ้ำ คุณสามารถหาเขาได้นะ ถ้าคุณย้อนกลับไปดูมันอีกครั้ง” โคดี้ เล่าถึงความหลงไหลที่ โทนี่ ข่าน มีต่อวงการมวยปล้ำ
หลังจากการพบกันหลายครั้งของทั้งสองฝ่าย วันที่ 5 เดือนพฤศจิกายน 2018
มีรายงานออกมาถึงการจดเครื่องหมายลิขสิทธ์การค้า ในชื่อว่า “All Elite Wrestling” (ออล อีลิท เรสลิง) และ AEW (เออีดับเบิลยู) โดยบริษัทแห่งหนึ่ง อันมีสำนักงานเป็นที่อยู่เดียวกันกับทีม ฟุตบอล แจ็กสันวิลล์ จากัวร์ส
ในวินาทีนั้น โลกมวยปล้ำจึงได้รู้ว่า สมาคมหน้าใหม่ที่จะเขย่าบัลลังก์ของ WWE ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
"สู่แฟนมวยปล้ำ เพื่อนักมวยปล้ำ"
หลายฝ่ายอาจมองว่า เหตุผลที่ โทนี่ ข่าน ทุ่มเงินมหาศาลถึง 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และก่อตั้งสมาคม AEW ขึ้นมา เพื่อขยายธุรกิจกีฬาของตระกูลข่านออกไป หลังพวกเขาเป็นเจ้าของสองทีมดัง จากสองลีกกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก การเข้าไม่ตีตลาดในธุรกิจผูกขาดอย่าง มวยปล้ำ หรือ กีฬาบันเทิง จึงเป็นอะไรที่น่าเสี่ยงไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม โทนี่ ข่าน ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางธุรกิจ เขากระโดดลงมาสู่วงการมวยปล้ำ ด้วยใจที่รักในกีฬาชนิดนี้ล้วนๆ
“ตอนนี้ผมมีงานประจำอยู่สองที่แล้วนะ งานหนึ่งกับสโมสรฟุตบอล (ฟูแล่ม) ส่วนอีกงานกับจากัวร์ส แต่ผมยังใช้เวลาว่างจากการบริหารทีมเหล่านั้นไปกับการดูมวยปล้ำ” โทนี่ ข่าน เปิดใจกับ คริส เจอริโก (Chris Jericho) อดีตนักมวยปล้ำชื่อดังของ WWE
“ตอนนี้ผมตั้ง AEW ขึ้นมา และคงไม่มีเวลาว่างไปนั่งดูมวยปล้ำอีกแล้ว แต่คุณรู้ไหม ผมไม่สนใจเรื่องนั้นหรอก เพราะผมรักในทุกอย่างที่ผมทำ”
แม้จะมีใจรักในวงการมวยปล้ำมากแค่ไหน แต่ โทนี่ ข่าน รู้ดีว่า ตัวเองเป็นแค่ผู้ชมคนหนึ่ง และยังไร้ประสบการณ์ในธุรกิจกีฬาประเภทนี้ เขาประกาศว่าจะไม่แทรกแซงการบริหาร และทิศทางในเนื้อเรื่องของ AEW โดยให้อำนาจทั้งหมดในเรื่องเหล่านี้ อยู่กับกลุ่ม เดอะ อีลิท แต่เพียงผู้เดียว
“ผมคิดว่าเหตุผลที่โทนี่ลงทุนไปกับเรื่องทั้งหมดนี้ ไม่ได้เริ่มต้นมาจากความคิดว่า ผมต้องการสร้างสมาคมมวยปล้ำทางเลือก แต่มาจากเรา กลุ่ม เดอะ อีลิท เอง” โคดี้ โรดส์ กล่าวถึงสถานะของ AEW
“เรากำลังพูดคุยกันถึงเรื่องสนับสนุนเงินให้แก่ ออล อิน 2 หรือภาคต่อของมัน แต่เขาฉลาดมาก และเขามองเห็นในสิ่งที่ผมเห็น สิ่งที่เดอะ อิลีท เห็น ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือ เอานักมวยปล้ำที่กระจัดกระจายมารวมกัน จากนั้นคุณจะได้รายการมวยปล้ำที่มันยอดเยี่ยมสุดๆ”
สำหรับ โคดี้ โรดส์ เขาไม่ใช่นักมวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จมากนักบนเวที WWE แต่ประสบการณ์ที่ได้ขึ้นปล้ำศึกใหญ่ที่สุดของอเมริกาและญี่ปุ่น ทั้ง เรสเซิลมาเนีย (WrestleMania) และ เรสเซิลคิงดอม (WrestleKingdom) รวมกันมากถึง 8 ครั้ง
ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากนักมวยปล้ำทั่ววงการ และสามารถรวมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จ
“คุณไม่ควรมีเพื่อนมากนักในวงการมวยปล้ำ ผมไม่รู้ว่าหรอกว่าไปเป็นเพื่อนกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะผมคือนักมวยปล้ำที่แตกต่างจากที่พวกเขาเคยเจอมา”
“แต่ผมคิดว่าเรื่องนั้นแหละทำให้เราผูกพันกัน กลายเป็นทีมที่ทำงานหนักมาก และเมื่อผมพูดคำว่าทำงานหนัก ผมไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องบนเวทีเท่านั้น ผมหมายถึงทุกอย่าง”
โคดี้และผองเพื่อนแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทเหนือนักมวยปล้ำรายอื่น ด้วยการสร้างรายการให้ดูฟรีทางยูทิวบ์ ในชื่อว่า “บีอิง ดิ อีลิท” (Being The Elite) โดยมีหัวใจหลักเป็นการติดตามชีวิตนักมวยปล้ำนอกเวที ทำให้แฟนๆรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่ซุปเปอร์สตาร์ที่จับต้องยาก แต่เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่จะอยู่กับคุณในทุกเวลา
“ถ้าคุณรู้สึกสนุกไปกับงานของตัวเอง คุณสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ บีอิง ดิ อีลิท ได้ รายการนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัว และมีค่ามากสำหรับผม เพราะว่าคนมากมายเข้าใจเรื่องผิดๆเกี่ยวกับผม รายการนี้จึงเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงตัวตน และเรื่องงี่เง่าหลายอย่างของวงการมวยปล้ำออกมา”
ด้วยความเข้าใจที่มีต่อแฟนมวยปล้ำ แนวทางสำคัญในการทำมวยปล้ำของ ดิ อีลิท คือการเข้าถึงทุกคนให้ได้ ค่าตั๋วของศึกออล อิน มีราคาถูกสุดแค่ 28 ดอลลาร์ หรือ 900 บาท
“เราไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ตัวเองรวยขึ้น เราทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ธุรกิจนี้เติบใหญ่ขึ้น สำหรับทั้งนักมวยปล้ำและแฟนๆ” สองพี่น้องยัง บัคส์ ยืนหยัดในความคิดของตัวเอง
ไม่ใช่แค่แนวทางอันหนักแน่นต่อแฟนมวยปล้ำ แต่สำหรับเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน โคดี้ โรดส์ รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร จากประสบการณ์ในค่ายใหญ่อย่าง WWE ที่มีเรื่องอื้อฉาวในการดูแลสุขภาพพนักงาน และต้องเห็นนักมวยปล้ำอินดี้ดูแลตัวเอง เมื่อได้รับบาดเจ็บจนขาดรายได้ เขามองว่านี่คือปัญหาที่ AEW ต้องเข้ามาแก้ไข
“เราต้องการทำให้โลกนี้ดีขึ้นสำหรับแฟนมวยปล้ำ ด้วยการสร้างโลกที่ดีขึ้นของนักมวยปล้ำก่อน เพราะฉะนั้น ก้าวแรกของเราคือการดูแลนักมวยปล้ำให้มากขึ้น ยิ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ เรายิ่งกล่าวไปได้ไกลมากเท่านั้น”
โคดี้ ประกาศชัดเจนว่านักมวยปล้ำทุกคนที่ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ AEW จะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเต็มที่ ไม่ฝืนใช้งานขึ้นปล้ำหากมีอาการบาดเจ็บตกค้าง หรือสภาพร่างกายไม่เต็มร้อย รวมถึงตั้งเป้าหมายจะเปิดสหภาพแรงงานนักมวยปล้ำ เพื่อช่วยเหลือรายอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสมาคม
“ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเดินทางไปทั่วโลก ผมคิดว่าการก้าวไปตามแนวทางเหล่านั้น แม้ว่ามันจะเป็นแค่ก้าวแรกของเด็กทารกคนหนึ่ง มันก็ยอดเยี่ยมมากจริงๆ”
"ขอเป็นตัวเลือก"
แม้ปัจจุบัน สมาคม AEW จะยังไม่เป็นรูปร่างมากนัก พวกเขาไม่ได้ลิขสิทธิ์ทีวี ไม่มีรายการมวยปล้ำประจำสัปดาห์ หรือกระทั่งอีเวนต์อย่างเป็นทางการ แต่แฟนมวยปล้ำทั่วโลกพากันยกสมาคมนี้เป็นหมายเลข 2 ของวงการ ที่พร้อมจะเข้ามาเขย่าบัลลังก์ WWE ในเร็ววันนี้
“เรามีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างออกไป และวิสัยทัศน์ที่ว่าคือนักมวยปล้ำที่เรามี ผมพูดเสมอว่าผมรักเวลาของผมใน WWE มากแค่ไหน แต่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของวงการมวยปล้ำ และไม่มีใครเป็นเจ้าของมันได้ทั้งนั้น”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โคดี้ รู้ดีว่าสมาคมคู่แข่งของเขาทำงาน และมีจุดอ่อนอย่างไร
ตัวเขาในตำแหน่งผู้บริหารสมาคม AEW จึงกำหนดแนวทางไว้ชัดเจน ว่าจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจาก WWE นั่นคือการให้อิสระนักมวยปล้ำได้ออกแบบคาแรกเตอร์ และเนื้อเรื่องของตัวเองอย่างเต็มที่
“นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดเท่าไหร่ แต่เราจะไม่จ้างนักเขียนบทเข้ามาทำงานใน ออล อีลิท เรสลิง เพราะว่านักมวยปล้ำคือนักเขียนบท เราทุกคนคือคนเขียนบทให้ตัวเอง”
“ผมรู้ดีว่ามีนักเขียนบทอยู่ใน WWE มากถึง 40 คน แต่มีแค่ 4 คน ที่ได้ทำงานแบบจริงจัง และอย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว เราปล่อยให้พวกเขาออกไป และบรรเลงเพลงของตัวเองจะดีกว่า เชื่อผมเถอะ นี่คือสิ่งที่เราจะได้ประโยชน์จากมันจริงๆ”
“เพราะฉะนั้น ถ้าคุณต้องการดูรายการทีวีที่มีสคริปต์แน่นๆ นั่นคือสิ่งที่ WWE กำลังทำอยู่ แต่ถ้าคุณต้องการดูกีฬาที่มีศูนย์กลางเป็นมวยปล้ำ ผมคิดว่านั่นคือบางสิ่งที่เราสามารถทำได้”
ด้วยแนวทางที่แตกต่างชัดเจน นักมวยปล้ำมากมายจึงหลั่งไหลเข้าสู่ AEW หนึ่งในนั้นคือ คริส เจอริโก นักมวยปล้ำชื่อดังที่ทำงานร่วมกับ WWE ยาวนานเกือบ 20 ปี ที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางใหม่ ด้วยการเป็นนักมวยปล้ำรายแรกๆ ที่เปิดตัวกับสมาคมใหม่แห่งนี้
"คริส เจอริโก" (อดีตนักมวยปล้ำ WWE)
“ถามว่าคนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการบริหารสมาคมมวยปล้ำไหม? ไม่เลย แล้วประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์บริหารประเทศบ้างหรือเปล่า? ไม่อีกเหมือนกัน แต่สิ่งที่พวกเขามีคือความหลงใหล และมุมมองที่แตกต่างธุรกิจนี้”
ไม่ใช่แค่ความแปลกใหม่ที่ทำให้เขาตัดสินใจย้ายข้าง แต่เม็ดเงินเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เดฟ เมลท์เซอร์ รายงานว่าข้อเสนอที่เจอริโกได้รับจาก AEW คือข้อเสนอที่ดีที่สุดในชีวิตการเป็นนักมวยปล้ำของเขา และเรื่องนี้ทำให้หลังฉากของ WWE ตกใจกันมาก
“ข้อเสนอแรกที่ได้รับ มันทำให้ผมสติแตกไปเลย แบบว่า นี่มันเรื่องจริงหรือเปล่า มันเกือบจะเป็นสัญญาระดับเดียวกันกับนักฮอกกี้ใน NHL (เอ็นเอชแอล) เลยนะ” เจอริโกย้อนให้ฟัง เมื่อได้เห็นสัญญาอันน่าเหลือเชื่อของ AEW
“แต่ผมเองรู้ดีว่า WWE มีเงินจำนวนนี้เช่นกัน พวกเขาอาจเสนอให้ผมมากขนาดนี้ได้ ถ้าพวกเขาต้องการ”
แต่ความจริงคือ WWE ไม่ต้องการ และไม่เคยคิดจะทำแบบนั้นกับนักมวยปล้ำรายใด โดยเฉพาะคนที่พวกเขาไม่เห็นคุณค่า เช่น เจอริโก AEW จึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ให้นักมวยปล้ำใน WWE ได้ต่อรองอำนาจ ว่าจะพัฒนาบทบาทและรายได้ของพวกเขาให้ดีขึ้น หรือปล่อยให้ออกไปอยู่กับคู่แข่งตัวฉกาจของสมาคม
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสองสามเดือนหลัง จึงมีรายงานออกมาว่านักมวยปล้ำ WWE เริ่มทำตัวแย่กับสมาคม และงอแงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มที่กลุ่ม เดอะ รีไววัล (The Revival) ที่ยื่นเรื่องลาออกจากค่าย ก่อนได้แชมป์แท็กทีมมาครองในเวลาไม่ถึงเดือน
ต่อด้วยสองพี่น้อง ดิ อูโซ่ (The Usos) ที่จงใจก่อเรื่องให้ถูกตำรวจจับ เพื่อบีบให้ WWE ไล่พวกเขาออกจากสมาคม เนื่องจากไม่พอใจสถานะของตัวเองในขณะนั้น ก่อนสุดท้ายจะจบแนวทางเดิม คือมอบแชมป์แท็กทีมให้ทั้งคู่ไปนอนกอดสมใจอยาก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครั้งที่ WWE จะรั้งนักมวยปล้ำของตัวเองเอาไว้ได้ ดีน แอมโบรส (Dean Ambrose) ซุปเปอร์สตาร์ระดับท็อป ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับสมาคม เนื่องจากเบื่อแนวทางในการพูดตามสคริปต์ทุกสัปดาห์ และไร้อิสระในการออกแบบบทบาทของตัวเอง จนหมดไฟบนสังเวียนในที่สุด
สถานการณ์ของแอมโบรส จึงเป็นสิ่งที่แฟนมวยปล้ำทั่วโลกจับตาดู เมื่อมีรายงานว่า AEW ทุ่มสัญญามากถึง 6 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับนักมวยปล้ำรายนี้ เป็นจำนวนมากกว่าท็อปสตาร์เกือบทั้งหมดของ WWE เพื่อล่อให้เขาเปลี่ยนใจมาเซ็นสัญญากับสมาคมหน้าใหม่แห่งนี้ให้ได้
"ดีน แอมโบรส" (อดีตนักมวยปล้ำตัวท๊อป wwe)
“ผมเชื่อใจเต็มที่ในนักมวยปล้ำที่ถูกมองข้าม ถ้าคุณลงทุนไปกับใครสักคน คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเขาและความสามารถของพวกเขา มันดีไม่น้อยที่คุณจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ออล อีลิท เรสลิง แน่นอนว่าขนาดของค่าย อาจเป็นบางสิ่งที่มีการถกเถียง แต่ตอนนี้เป็นวันที่ดี ในการหาหน้าใหม่เข้าสู่ค่ายของเรา” โคดี้ ยืนยันว่าค่ายพร้อมลงทุนในคนที่เขามั่นใจ
แต่การใช้เงินมากเกินไปไม่เคยเป็นผลดี สมาคม WCW เคยทุ่มไม่อั้นเพื่อล่าสตาร์จาก WWE ก่อนล้มครืนในปี 2001 หลังจากตั้งสมาคมไม่ถึงสิบปี AEW รู้ถึงความเสี่ยงนั้น พวกเขาเซ็นสัญญากับนักมวยปล้ำบางรายแบบพาร์ทไทม์ และจะไม่เซ็นสัญญา เพียงเพื่อตัดกำลังคู่แข่งของตัวเอง
“คือแบบนี้นะ เราไม่ต้องการผิดพลาดเหมือนกับที่สมาคมในอดีตเคยทำ เราไม่ต้องการให้ค่ายนี้จ้างนักมวยปล้ำชื่อดังทุกคนเข้ามา และทุ่มเงินจำนวนมากให้พวกเขาทุกคน” โทนี่ ข่าน ยืนยันว่าธุรกิจกับกีฬาต้องเดินไปได้พร้อมกัน
“เราจำเป็นต้องเลือกอย่างชาญฉลาด หยิบนักมวยปล้ำที่ดีที่สุด และมั่นใจว่าเราจะไม่ทำให้พวกเขาเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะเราต้องมีแผนในการใช้งานทุกคนในค่าย ผมคิดว่าการที่เราพัฒนาเรื่องสมาคมจากตรงนี้ได้ มันโคตรเจ๋ง”
ถึง AEW จะเป็นคู่แข่งหมายเลขหนึ่งของ WWE และสงครามเพื่อแย่งบัลลังก์ราชาวงการมวยปล้ำ คงเริ่มขึ้นในอีกไม่ช้า แต่พวกเขายืนยันว่าไม่เคยมีความคิดล้มสมาคมคู่แข่งเลย เพราะเป้าหมายสูงสุดของ AEW คือการสร้างรายการรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้แฟนมวยปล้ำเท่านั้น
“WWE คือบริษัทมวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และคุณไม่สามารถล้มพวกเขาได้แน่ เราเองไม่ต้องการจะล้ม WWE เราไม่เคยวางแผนแบบนั้น เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในแนวคิดของ AEW เลย เพราะแนวคิดของเราคือการสร้างทางเลือก เป็นตัวเลือกใหม่ให้กับแฟนมวยปล้ำ” คริส เจอริโก ยืนยันถึงความตั้งใจของ AEW
“เราคือบางสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นบางสิ่งที่คุณไม่ได้เห็นมานานแล้ว”
ไม่ว่าอนาคตของ AEW จะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจแซงหน้า WWE ได้ หรือล้มครืนในเวลาอันใกล้ สิ่งสำคัญคือแฟนมวยปล้ำ กำลังจะได้รับตัวเลือกที่แตกต่าง และความสดใหม่ในวงการซึ่งหายไปนานเกือบยี่สิบปี นับตั้งแต่การล่มสลายของ WCW
"การถือกำเนิดของสมาคมนี้ คือกำไรของผู้ชม และทุกคนในวงการมวยปล้ำอย่างแท้จริง"
“ผมรู้ดีว่าเรากำลังรับมือกับคนทั้งโลก แต่มันคือสังคมโลกมวยปล้ำ และผมคิดว่าเราสามารถก้าวไปได้หลายที่ และมีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่เรารักทุกคืน มันคือบางสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก WWE และพวกเขามหัศจรรย์มากในเรื่องนั้น” โคดี้ กล่าวถึงความหมายที่แท้จริงของ ออล อีลิท เรสลิง
“เราไม่ใช่พวกแอนตี้ WWE เราคือมวยปล้ำอาชีพ ผู้คนควรมีทางเลือกเพื่อจะดูอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ และได้ดูผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไป และอย่างที่คุณได้เห็นไปแล้วใน ออล อิน เราคือสิ่งที่แตกต่างนั้นเอง”
"Cody Rhodes" (ประธานเจ้าของธรุกิจ aew)
ขอบคุณข้อมูล : www.sanook.com
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านมากๆนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา