16 เม.ย. 2020 เวลา 04:12
ภัยคุกคามมลพิษทางอากาศ “ถ้าแก้กันไม่ตรงจุด ก็ยากจะยั่งยืน”
ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
ควันพิษจากการจราจรหนาแน่นในเมือง
ต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ (AIR POLLUTION) ในเมืองไทย เราจำเป็นจะต้องดูลักษณะของพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ใด ถ้าในเขตกรุงเทพฯ แหล่งกำเนิดหลักๆ ของมลพิษทางอากาศก็จะเป็นจากภาคการขนส่งการจราจรต่างๆ ซึ่งปัญหาของกรุงเทพฯ จะเป็นปัญหาเรื่องของฝุ่นละอองโดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก
แต่ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ 9 จังหวัดที่เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงจากหมอกควันในพื้นที่มาประมาณสองเดือน ต้นเหตุหลักๆ ของมลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ก็มักเกิดขึ้นจากการเผาพวกเศษวัสดุชีวมวลประเภทต่างๆ รวมถึงการเผาป่า
เพราะฉะนั้นเราจะต้องแยกแยะดูว่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใด แหล่งกำเนิดนั้นจะต่างกัน และปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่ส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นคือ สภาพทางด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งในช่วงหน้าแล้งต้นปีของแถบประเทศไทย หรือแถบซีกโลกเหนือ สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษทางอากาศ ทำให้สิ่งที่มีการปลดปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดเกิดการสะสมตัวในบรรยากาศ จนกระทั่งมีปริมาณความเข้มข้นในบรรยากาศสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศดังกล่าว
สำหรับมาตรการที่ควรจะนำมาใช้แก้ไขปัญหา คงต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ มาตรการในระยะที่เกิดวิกฤต ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในช่วงของต้นปีของแต่ละปี จำเป็นจะต้องมีเรื่องของมาตรการดำเนินการเป็นพิเศษ เพราะว่ามันมีระดับของสารมลพิษทางอากาศสูงขึ้นเป็นรายวัน เราต้องมุ่งเน้นไปที่แหล่งกำเนิดเป็นหลักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือพยายามไปลดพวกมลพิษทางอากาศที่ออกมาอยู่ในอากาศแล้ว รวมถึงการป้องกันที่ตัวบุคคล
ส่วนเราจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนก็คือการไปลดการปลดปล่อยพวกสารมลพิษออกมาจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของการจราจรขนส่งเพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ การนำเอาน้ำมันที่มีคุณภาพดีมาใช้ หรือไปใช้ก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับปรุงเรื่องของรถให้มีมาตรฐานการระบายไอเสียที่เข้มงวดขึ้น พอมีไอเสียออกมาน้อยลง ฝุ่นที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลง
ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่ควรจะดำเนินการด้วย คือการทำให้จราจรคล่องตัว เพราะเมื่อใดที่จราจรติดขัดก็มีมลพิษออกมาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นสองประการที่กล่าวจะต้องทำร่วมกันไป ส่วนการเผาในที่โล่งที่เกิดขึ้นรอบๆ จังหวัดปริมณฑล เป็นอีกสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดปัญหา เราก็ต้องไปควบคุมเรื่องของการเผาในที่โล่งอย่างเข้มงวด
พื้นที่ภาคเหนือซึ่งมักจะเกิดปัญหามลพิษทางอากาศถัดจากกรุงเทพฯ หลักๆ ต้องไปควบคุมเรื่องของการจัดการการเผาในพื้นที่ป่า ในพื้นที่เกษตรกรรม ให้มีการจัดการเรื่องของการควบคุมการเผาให้เหมาะสมเพื่อให้มีการปลดปล่อยมลพิษในแต่ละวันออกมาน้อยลง และสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละวัน
ถ้าวันใดสภาพอากาศไม่ดีอาจจะต้องงดเผาทั้งหมด แต่ถ้าในวันไหนที่สภาพอากาศเปิดโล่งสามารถแพร่กระจายมลพิษออกไปได้มากขึ้นก็อาจจะให้มีการเผาได้บ้าง แต่ก็ต้องมีการควบคุมปริมาณให้เหมาะสม สอดคล้องกับขีดความสามารถของอากาศในพื้นที่ที่จะรองรับการปลดปล่อยสารมลพิษเหล่านี้ออกไปได้
ปัจจุบันกฎหมายในบ้านเรามีเยอะมาก ในเรื่องของการควบคุมมลพิษ แต่ก็กระจัดกระจายไปอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องอาศัยหน่วยงานในหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกัน ส่วนในเรื่องของประสิทธิภาพในการบังคับใช้อาจจะยังไม่เต็มที่
เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการพิจารณาจัดทำเรื่องของรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางด้านการควบคุมมลพิษ เช่น เรื่องของการทำรวบรวมกฎหมายให้เป็นหมวดหมู่ในเรื่องนี้ และสุดท้ายมันจะนำไปสู่การจัดทำเรื่องของการประมวลกฎหมาย เช่น เรื่องของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็จะมีความชัดเจนและทำให้เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กรณีของต่างประเทศ เขาดำเนินการไม่ต่างจากที่บอกไป หลักๆ เขาก็จะมาดูในเขตเมือง มีการควบคุมการใช้รถยนต์ ในมิติของประเทศที่พัฒนาแล้ว มาตรฐานของน้ำมันมีการปรับลดกำมะถันของน้ำมันลงมาเหลือไม่เกิน 10 ppm พอเทียบกับบ้านเรา น้ำมันเบนซิน และดีเซลยังมีกำมะถันอยู่ที่ระดับ 50 ppm เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการในเรื่องของการปรับลดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่ง ขณะเดียวกันมาตรฐานของไอเสียรถยนต์ ทั้งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ก้าวไปสู่มาตรฐานที่เรียกว่า Euro 6
มาตรฐาน Euro 6 มีอุปกรณ์ควบคุมฝุ่นและมลพิษอื่นๆ ในรถดีเซลติดเข้ามาด้วย ในขณะที่บ้านเรายังมีมาตรฐานแค่ระดับ Euro 4 ซึ่งจะไม่มีอุปกรณ์กรองฝุ่นติดอยู่ในรถดีเซล เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องขยับขึ้นไปก็จะทำให้ปริมาณของฝุ่นลดลงจากปัจจุบันได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนทางภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ เขาจะมุ่งเน้นเรื่องของการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือถ้าใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ก็จะต้องมีการใช้อุปกรณ์กำจัดพวกมลพิษที่เกิดขึ้นจากการสันดาปของเชื้อเพลิง ให้มีค่าเทียบเท่ากับการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ
โฆษณา