พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
(ตอนที่ ๑ พระพุทธคุณและพระธรรมคุณ)
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
นโม... อิติปิโส ภควา....
หลวงพ่อวัดปากน้ำ แสดงเรื่องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ตามลำดับพระบาลี เริ่มตั้งแต่ “อิติปิโส ภควา” ไปจนจบ โดยเน้นประโยชน์ในทางปฏิบัติ
“คุณ” หมายถึง ความดีความงาม ที่ควรเคารพบูชา
ความดีความงามของพระพุทธเจ้ามี ๙ ประการ
ความดีความงามของพระธรรมมี ๖ ประการ
ความดีความงามของพระอริยสงฆ์มี ๙ ประการ
ภาพพุทธประวัติ โดย อ.คำนวณ ชานันโท
พระพุทธคุณ
พระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพสักการะของเทวดา อินทร์ พรหม และ มนุษย์
มิใช่เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ แต่เพราะการสละออกบรรพชา ประกอบพระมหาวิริยะแรงกล้า จนบรรลุพระโพธิญาณ ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญเดือน ๖ คุณความงามความดีของพระองค์ ได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งเสด็จปรินิพพาน นี้เป็นเหตุโดยย่อ เมื่อแยกออกรวมเป็น ๙ ประการ คือ
๑. อรหํ เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเอง พร้อมกับที่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แปลได้ ๒ นัย คือ “ไกล” และ “ควร”
๑. ๑ ไกล หมายถึง ไกลจากกิเลส หรือพ้นจากกิเลส เปรียบเทียบได้หลายประการคือ
- พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดังแท่งทองชมพูนุท หรือใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้
- ประกอบด้วย “ตาทิโน” คือเป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว แม้จะเอาของหอม และของเหม็นชโลมพระวรกายทั้ง ๒ ด้าน พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่ทรงแปรผัน “ อินทขีลูปโม” พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน แม้พายุมาทั้ง ๔ ทิศ ก็ไม่เคลื่อน
การ“ ไกล” หรือละกิเลสของพระองค์ หลุดเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์ ถึงกายภายในต่างๆ เป็นลำดับไป
กิเลสในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
กิเลสในกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายรูปพรหม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหม คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
เมื่อเข้าถึงกายธรรม หรือ ธรรมกาย ชั้นโคตรภูจิต เรียก โคตรภูบุคคล
โคตรภูบุคคลเดินสมาบัติ เห็นอริยสัจสี่ เป็นอนุโลมปฏิโลม เมื่อหลุดพ้นจากกิเลสสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็ตกศูนย์เป็นพระโสดาบัน
กายพระโสดาบัน ละกิเลสกามราคะ พยาบาท ขั้นหยาบ
กายพระสกิทาคามี ละกิเลสกามราคะ พยาบาท ขั้นละเอียด
กายพระอนาคามี ละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงกายพระอรหัต จิตพระองค์ผุดผ่อง ไกลจากกิเลส
๑. ๒ ควร คือ เป็นผู้ที่เราสมควรบูชาไว้เหนือสิ่งใด
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ
แปลตามศัพท์ว่า “ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ” หรือ
"ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง” หรือ “รู้ถูกเอง”
“พุทฺโธ” แปลว่า “ตรัสรู้”
มีความหมายมากกว่าคำว่ารู้แจ้ง เพราะลึกซึ้งมากกว่ารู้
จึงเติมคำว่า “ตรัส” หน้า “รู้”
พระบาลีในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กล่าวถึงคุณวิเศษ ๕ ประการ คือ
จกฺขุํ ญาณํ ปญฺญา วิชฺชา อาโลโก... รวมเป็นคำแปลคำเดียวว่า "พุทโธ”
พุทฺโธจึงอาจแปลว่า “ทั้งรู้ ทั้งเห็น” เพราะ จกฺขุํ ญาณํ คำนั้น
ในมหาสติปัฏฐานสูตร ใช้คำว่า ชานตา ปสฺสตา...
เป็นเหตุสนับสนุนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ไม่ใช่รู้เฉย ๆ แต่ทั้งรู้ทั้งเห็น
พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย
“สัม” นำหน้า “พุทธะ” เพื่อแสดงว่า ตรัสรู้เอง ไม่มีใครสอน
- พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย เป็นการเห็นโดยพระองค์เอง
สิ่งที่เห็นตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่คาดเดา หรืออนุมาน จึงได้ชื่อว่าตรัสรู้ หรือ “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
- พระองค์ตรัสรู้เองได้ เพราะความเป็นอรหํ เมื่ออำนาจสมาธิ ทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว จิตของพระองค์ก็ใส บริสุทธิ์ ผุดผ่อง เพราะหยุดนิ่งนั่นเอง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้ “รู้” พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป น้ำขุ่นแม้อิฐสักก้อนหนึ่งอยู่ก้นโอ่ง เราย่อมมองไม่เห็น แต่เมื่อน้ำนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข็มอยู่ก้นโอ่งเราก็เห็น
“สมฺมา” นำหน้า “สมฺพุทฺโธ”
“สมฺมา” แปลว่า “โดยชอบ” หรือ “โดยถูกต้อง”
พระองค์ตรัสรู้อะไร มีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทั้งเหตุและผล
พระองค์ตรัสรู้ ทั้งเหตุที่ทำให้เกิดสุขและทุกข์พระองค์ตรัสรู้ ทั้งเหตุไม่สุขไม่ทุกข์ หรือสภาพเป็นกลาง ๆ เรียกว่า อัพยากฤต
เหตุให้เกิดสุข ทรงเรียกว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะเป็นฝ่ายกุศล
เหตุให้เกิดทุกข์ เรียก โลภะ โทสะ โมหะ เป็นฝ่ายอกุศล
ปุถุชนมักรู้กันแต่ผล สาวเหตุไม่ใคร่ถึง เช่น ทำโจรกรรมแล้ว ต้องไปรับโทษก็รู้กันขั้นหยาบ ๆ ว่า ผลที่ต้องได้รับทุกข์ คือต้องโทษนั้น เนื่องมาจากโจรกรรม แท้จริงเหตุเท่านั้นไม่พอ เพราะโลภเป็นมูลเหตุ แต่ก็ยังไม่พอ ต้องสาวไปว่า ทำไมโลภจึงครอบงำเขาได้ ก็เพราะใจเขาสกปรก เพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทของพระบรมศาสดา ที่ให้รักษาศีล อาจเพราะไม่ได้อ่าน หรือ ฟังธรรม เป็นต้น
พระองค์ทรงสอนไว้ละเอียด ให้รู้ถึงเหตุผล ว่าผลเกิดจากเหตุใด ทรงมีแนวสอนให้ปฏิบัติ เพื่อละเหตุให้เกิดทุกข์ บำเพ็ญเหตุให้เกิดสุข ตลอดจนวิถีทางดับเหตุทั้งปวง เรียกว่า “นิโรธ"
มูลรากฝ่ายเกิด หรือสมุทัย คือ อวิชชา
ในทางดับ หรือ นิโรธ คือ ดับอวิชชา
อวิชชาจึงเหมือนต้นไฟ ดับตัวเดียวจะดับได้หมด
คำสอนของพระองค์จึงอยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติหาทางกำจัดอวิชชาเสีย จึงจะพ้นจากวัฏฏสงสาร
พระอุทานอันเป็นบุคคลาธิษฐานสั้นๆมีว่า
“ท่านนายช่างไม้ คือ ตัณหา เราเจอตัวท่านแล้ว
ท่านหมดโอกาสที่จะมาสร้างปราสาท คือ อัตตภาพร่างกายเราแล้ว
กระดูกซี่โครงท่าน คือ กิเลส เราหักกรอบหมดแล้ว
ยอดปราสาท คือ อวิชชา เราก็รื้อทำลายหมดแล้ว
จิตของเราปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว”
1
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
แปลว่า พระองค์ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ก. วิชชา หมายถึง ความรู้ที่กำจัดมืดเสีย
“มืด” หมายเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ ๕)
“วิชชา” ความรู้ตรงข้ามกับ “อวิชชา” คือไม่รู้
เมื่อมี “อวิชชา” ก็ไม่รู้ถูกหรือผิดไม่รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตของ สังขาร
ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ ๔ เพราะมีอุปาทาน (ยึดมั่น) ขันธ์ ๕ ให้มืด
ไปนิพพานไม่ได้
ถ้าปล่อยขันธ์ ๕ ไม่ได้ ก็พ้นจากภพไม่ได้ ต้องมืดมน เวียนว่ายตายเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นพวกมืด รวมทั้งสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ที่มืดหนัก
วิชชาแบ่งเป็น ๓ คือ
๓. ๑ วิปัสสนาวิชชา
๓. ๒ มโนมยิทธิวิชชา
๓. ๓ อิทธิวิธีวิชชา
ถ้ารวมอภิญญาด้วยเป็น ๘ คือ
๓. ๔ ทิพพจักขุวิชชา
๓. ๕ ทิพพโสตวิชชา
๓. ๖ ปรจิตตวิชชา (เจโตปริยญาณ)
๓. ๗ ปุพเพนิวาสานุสสติวิชชา
๓. ๘ อาสวักขยวิชชา
๓. ๑ วิปัสสนาวิชชา
“วิปัสสนา” ตามศัพท์ แปลว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ
อีกนัยหนึ่ง คือ เห็นนามรูปต่าง ๆ และเห็นแจ้งว่าเป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์และเป็นอนัตตา
เห็นได้อย่างไร?
ต้องหลับตาเอาใจจรดที่ศูนย์กลางดวงธรรม หรือดวงปฐมมรรค เพราะเห็นจำคิด รู้ อยู่ที่นี้ อยู่ที่ตำแหน่งศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถูกส่วนก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ซ้อนเป็นชั้น ๆเข้าไป ถึงกายอรูปพรหม เป็นขั้นสมถะ ยังไม่เห็นแจ้ง เพราะยังเป็นกายในโลก ยังติดอยู่ในกระเปาะภพของตัว ทำให้มืดอยู่เหมือนลูกไก่ในกระเปาะไข่ ที่บังตัวเองไว้
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป เพราะเห็นว่ายังมีอะไรดียิ่งกว่านั้น จนบรรลุวิปัสสนาวิชชา เมื่อเห็นนามรูปด้วยตาธรรม พระองค์ได้หลุดจากกระเปาะไข่ คือโลกได้แจ้ง พระองค์รู้ด้วยญาณธรรม เป็นการเห็นก่อนรู้ ส่วนกายในโลกรู้ด้วยวิญญาณ
“เห็นด้วยตามนุษย์ ไม่ทำให้บรรลุมรรคผล ได้อย่างมากก็เป็นเพียงปัจจัย เพื่อจะให้บรรลุมรรคผลเท่านั้น การเห็นด้วยตาทิพย์ ตารูปพรหม และอรูปพรหมก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงปัจจัย เพื่อให้บรรลุมรรคผลเท่านั้น ต้องเห็นด้วยตาธรรมกาย จึงจะบรรลุมรรคผลได้”
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเน้นไปในทางอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อตะล่อมให้ผู้มีปัญญา สอดส่องเห็นนิจจัง สุขัง อัตตาต่อไปเอง
ดังเช่นมีคนหนึ่งสูง คนหนึ่งเตี้ย ถ้าเราบอกว่า เรารู้จักคนสูง เขาก็ย่อมเข้าใจเองว่าคนที่เราไม่รู้จัก คือคนเตี้ย อนิจจังจึงบอกนิจจัง ทุกขังบอกสุขัง อนัตตาบอกอัตตา และธรรมกายคือ นิจจัง สุขัง อัตตา ต้องปล่อยอุปาทานที่เรียกว่า “ติด” ปล่อยได้เรียก “หยุด” เพราะพ้นจากโลภ เข้านิพพานปล่อยหมดให้เห็นความจริงของขันธ์ ๕ ด้วยตาธรรมกาย จึงเป็น “วิปัสสนาวิชชา” ๑๐ ประการ
๓. ๒ มโนมยิทธิ
แปลว่า ฤทธิ์ทางใจ เมื่อมีธรรมกาย ทำให้ใจมีฤทธานุภาพสูงจากธรรมดา นึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนึก เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ นึกให้เทวดาเห็นมนุษย์ และมนุษย์เห็นเทวดา
๓. ๓ อิทธิวิธี
แปลว่า แสดงฤทธิ์ให้ปรากฏต่าง ๆ เช่น เนรมิตจักร เนรมิตพระกาย หรือปราสาทราชฐาน ครั้งทรงทรมานพระเจ้าชมภูบดีให้ลดทิฏฐิมานะก่อนแสดงธรรม
๓. ๔ ทิพพจักขุ
แปลว่า ตาทิพย์เห็นอะไร ๆ ได้หมด ทั้งใกล้ไกล เช่น คราวที่พระมเหศวรจำแลงตัวให้เล็ก ไปซุกอยู่ในเมล็ดทรายใต้เชิงเขาพระสุเมรุ พระองค์ก็ทรงเห็นแล้วเอาฝ่าพระหัตถ์ๅช้อนออกมาพร้อมเมล็ดทราย ตาทิพย์นี้ พระสาวกก็มีได้พระสาวกก็มีได้ด้วยการใช้ตามนุษย์ ซ้อนตาของกายต่าง ๆ แล้วเอาตาธรรมกายดู
๓. ๕ ทิพพโสต
แปลว่า หูทิพย์ ใครจะพูดอะไรที่ไหนได้ยินหมด โดยเอาแก้วหูกายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ซ้อนกันตลอดแก้วหูธรรมกาย
๓. ๖ ปรจิตตวิชชา
แปลว่า ความรู้ที่สามารถทำให้ล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ เช่น พวกยักษ์คิดจะตั้งปัญหาพระศาสดา ถ้าแก้ไม่ได้จะจับโยนข้ามมหาสมุทร แต่ว่าพระองค์กลับถามเย้ยไปเสียก่อนว่า ปัญหานั้นท่านรู้มาจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. ๗ ปุพเพนิวาสวิชชา
แปลว่า ความรู้ที่ระลึกชาติหนหลังได้ เป็นอะไร เกิดที่ไหนมาแล้วบ้าง เช่น เวสสันดรชาดก
๓. ๘ อาสวักขยวิชชา
แปลว่า ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ไม่เหลือในใจพระองค์เลย
ข. จรณะ แปลว่า ประพฤติหรือธรรมควรประพฤติ
พระองค์ประกอบด้วยจรณะมี ๑๕ ประการ คือ
๑. ศีลสังวร คือ สำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรีย์สังวร คือ สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้อารมณ์ที่จะชักความชั่วเข้ามาติดได้ โดยไม่ต้องฝืน
๓. โภชเนมัตตัญญตา คือ ประมาณในการบริโภคพอสมควร
๔. ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียร ทำให้พระองค์รู้สึกพระองค์ นิวรณ์เข้าครอบงำไม่ได้
๕. สัทธา ทรงประกอบด้วยศรัทธาอย่างอุกฤษฎ์ ทรงบำเพ็ญทานของนอกกาย ทานอุปบารมีด้วยการสละเลือดเนื้อเมื่อทำความเพียร และสละได้ถึงชีวิตเป็นทานปรมัตถบารมี
๖. สติ ได้แก่ สติวินัย พระองค์ไม่เผลอในกาลทุกเมื่อ ทั้งเดิน ยืน นั่ง นอน ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านหมายเอาสติถึง กาย เวทนา จิต ธรรม
๗. หิริ การละอายต่อความชั่ว
๘. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป
๙. พาหุสัจจะ ฟังมาก นับแต่ครั้งสร้างบารมี ทรงเอาใจใส่ฟังธรรมจากสำนักต่าง ๆ เช่น ที่สำนักอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็ได้เรียนรูปฌาน อรูปฌาน
๑๐. อุปักกโม ความเพียรไม่ละลด เช่น ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕
-เวลาเช้าบิณฑบาต
-เวลาเย็นทรงธรรม
-เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุ
-เวลาเที่ยงคืนทรงเฉลยปัญหาเทวดา
-เวลาใกล้รุ่งพิจารณาเวไนยสัตว์ที่จะพึงโปรด
๑๑. ปัญญา มีความรู้เห็นกว้างขวาง หยั่งรู้เหตุและผลถูกต้องไม่ผิดพลาด
๑๒-๑๕ รูปฌาน ๔ เป็นโลกิยปัญญาที่ทรงเรียนฌานจากดาบส มีอัปปนาสมาธิ เป็นต้น พระองค์ได้อาศัยประโยชน์นำสู่โลกุตตระ ด้วยการหยั่งรู้จากญาณธรรมกาย อันเป็นส่วนที่พระองค์ตรัสรู้เองภายหลัง
1
๔. สุคโต แปลได้หลายนัยคือ
๔.๑ ไปดีแล้ว หมายถึง พระองค์ประพฤติบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจสม่ำเสมอทุกๆชาติ ดับขันธ์จากชาติหนึ่งไปสู่สุคติทุกชาติ หรือพระองค์ดำเนินกายวาจาใจในแนวอริยมรรค คือมรรคมีองค์ ๘ ย่อเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ย่อเหลือดวงปฐมมรรค เมื่อหยุดนิ่งจนกิเลสของกายในโลก (๘ กายแรก) เข้าไปทำให้ขุ่นไม่ได้ จึงเข้าถึงธรรมกาย
จิตของธรรมกายเป็นมรรคจิต
ญาณธรรมกายเป็นมรรคปัญญา
ธรรมกายเข้าสมาบัติ ดูอริยสัจ เข้าถึงโสดา สกิทาคา อนาคา จนตกศูนย์เป็นพระพุทธเจ้าเรียกสุคโต
๔. ๒ ไปสู่ที่ดี
หมายถึง ไปอยู่แดนอันเกษม คือ “นิพพาน” เมื่อธรรมกายหยุดถูกส่วนตกศูนย์ จะมีอายตนะคือ “อายตนะนิพพาน” ดึงดูดธรรมกาย ที่ตกศูนย์นั้น เข้านิพพานอยู่เนืองนิจ แม้ในขณะมีพระชนม์ หรือเมื่อจะดับขันธ์เข้าสมาบัติ ก็ได้ชื่อว่าไปสู่แดนเกษม
๔. ๓ ทรงพระดำเนินงาม
เมื่อครั้งทรงพระดำเนินไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนะโดยการย่างพระบาท พระฉัพพรรณรังสีรุ่งโรจน์ แม้สัตว์ ๔ เท้าก็พลันตกตะลึง
๔. ๔ ไปสู่ที่ไหนดีที่นั่น
คราวที่เมืองไพศาลี เกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายจนซากศพเกลื่อนกลาด พวกเจ้าลิจฉวีขอให้พระองค์มาช่วย คืนนั้นเทวดาช่วยบันดาลให้ฝนตกซัดซากศพ และทำความสะอาดจนหมด รุ่งเช้าพระองค์ไปถึงก็สะอาดทั้งเมือง แล้วจึงรับบิณฑบาต เจริญพระปริตร และเจริญพระพุทธมนต์ อมนุษย์ก็ปลาสนาการไปหมด
๕. โลกวิทู
แปลว่า “รู้แจ้งซึ่งโลก”
“โลก” มีความหมายว่า
-เป็นที่ก่อแห่งสัตว์ เพราะเป็นที่เกิดที่อยู่ของสัตว์
-เป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ เพราะเป็นที่ซึ่งสัตว์ก่ออกุศลและกุศล เฉพาะโลกมนุษย์ที่มนุษย์อาศัยสร้างบุญ แล้วส่งผลไปสวรรค์ บำเพ็ญบารมีไปนิพพาน ถ้าสร้างบาปก็ไปนรก
โลกแบ่งเป็น ๓ คือ
๕.๑ สังขารโลก
๕.๒ สัตวโลก
๕.๓ โอกาสโลก
๖. อนุตฺตโรปุริสทมฺมสารถิ
พระองค์เปรียบเสมือนสารถีผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี คือ ทรงมีพระปรีชาญาณฝึกสอนเป็นคนดี จนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ย่นคำสอนเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยอุบายสอนต่าง ๆ ให้ตรงกับนิสัย เช่น ทรงเนรมิตนางฟ้าล่อพระนันทกุมาร ผู้มีนิสัยทางราคะจริต เป็นกุศโลบายให้เพื่อนในรูป
-ใช้อิทธิปาฏิหารย์ ปราบพระยานาคพ่นพิษให้พ่ายแพ้ ทำให้อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใส
-การแสดงจงกรม คือ เดินอยู่บนน้ำ แล้วเหาะขึ้นบนอากาศ แล้วลอยลงมาสู่เรือของอุรุเวลกัสสปะและบริวาร เพื่อให้รู้ว่าทางที่ไปไม่ใช่ทางไปมรรคผล จนอุรุเวลกัสสปะละทิฏฐิ ขอบวชในพระศาสนา ทั้งนทีกัสสปะและคยากัสสปะก็ตามมาอีก ทำให้ทรงสามารถปักหลักศาสนาในกรุงราชคฤห์
๗. สตฺถาเทวมนุสฺสานํ
แปลว่า พระองค์เป็นบรมครูแห่งเทวดาและมนุษย์ โดยเห็นได้จากพุทธกิจ ๕ ประการที่กล่าวมาแล้วว่า ยามเย็นและค่ำ เป็นครูของมนุษย์ ยามเที่ยงคืนเป็นครูของเทวดา ในมงคลสูตรยืนยันอีกว่า แสดงมงคลสูตรเพราะเทวดามาเฝ้าและยกปัญหาว่าอะไรเป็นมงคล
๘. พุทโธ
แปลได้หลายนัย แต่ในที่นี้แปลว่า “เป็นผู้บาน” หรือ “เป็นผู้เบิกบานแล้ว” บานนั้นเปรียบด้วยดอกบัว เมื่อพระองค์ประกอบความเพียร ยังไม่ตรัสรู้เปรียบเหมือนยังเป็นดอกบัวตูม พอตรัสรู้ก็เป็นบัวบาน พระกมลก็เบิกบานเต็มที่
๙. ภควา
แปลว่า “หัก” หรือ “แจก”
“หัก” หมายความว่า พระองค์หักเสียได้ซึ่งสังสารจักร คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นกำลังดันให้หมุนเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร พระองค์จึงพ้นจากภพ ๓ ออกสู่นิพพาน
“แจก” หมายความว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้ ทรงรู้แจ้งสามารถจำแนกแยกแยะธรรมส่วนที่ละเอียดให้เห็น เช่น ทรงจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นต้น รวมทั้งหลักธรรมอื่น ๆ ให้สาวกรู้เห็นและปฏิบัติสืบมา
พระธรรมคุณ
๑. สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
ธรรมในที่นี้ กล่าวเฉพาะ “พระสัทธรรม”
“สวากขาโต” แปลว่า "ธรรมที่พระองค์กล่าวดีแล้ว” หมายความว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสสอน ล้วนส่งผลให้ผู้กระทำตามได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั้งทางโลกและทางธรรม
ธรรมที่พระองค์ตรัสสอนได้ชื่อว่า “สวากขาตธรรม” มีอริยมรรค เป็นต้น
พระสัทธรรมแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ
ปริยัติธรรม ได้แก่ คำสั่งสอนอันเป็นแนวทางไปสู่ปฏิบัติ
ปฏิบัติธรรม ได้แก่ คำสอนที่บ่งวิธีการปฏิบัติโดยตรงมีผลส่งให้ถึงปฏิเวธ
ปฏิเวธธรรม ได้แก่ การรู้แจ้งแทงตลอดสภาวะความเป็นจริงทั้งหมด
๒. สนฺทิฏฺฐิโก
แปลว่า คำสอนของพระองค์นั้น ผู้ใดปฏิบัติตาม ผู้นั้นจะเห็นผลได้ด้วยตนเองเห็นแทนกันไม่ได้
๓. อกาลิโก
ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลเสมอโดยไม่มีจำกัดเวลาว่ามีเขตเพียงนั้นเพียงนี้
๔. เอหิปสฺสิโก
เพราะเหตุว่าเป็นของดี ของจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้ว จึงเป็นเสมือนสิ่งที่น่าจะเรียก บอกคนอื่นมาดูว่า นี่ดีจริงอย่างนี้
๕. โอปนยิโก
เมื่อดีจริงก็ควรน้อมนำของดีจริงที่พบแล้วเข้ามาไว้ในตน คือ ยิ่งถือปฏิบัติเรื่อยไปไม่ละวางเสีย
๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
ธรรมนั้นถึงรู้ได้เฉพาะด้วยตนเอง คล้ายข้อ ๒ แต่ข้อนี้เน้นอาการรู้ คือ ผู้ปฏิบัติตามธรรม จะรู้ว่าธรรมดีจริง และได้ผลเป็นอย่างไร เกิดจากการปฏิบัติของตนเอง ด้วยใจของตนเอง เป็นรสทางใจ ที่แม้เยือกเย็นเป็นสุขปานใด ก็เล่าให้ใจเราเป็นอย่างเขาไม่ได้
ขอเชิญติดตาม ตอนที่ ๒ พระสังฆคุณ ในโพสต์หน้า
อ้างอิง : หนังสือ สาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๖ - ๑๓
โฆษณา