7 พ.ค. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
⏳ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๔)⌛️
ตอนที่ ๒๔ : ผู้กุมความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนา (๑)
เหตุการณ์หลังพุทธกาลราว ๑๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือ เถรวาท และ มหาสังฆิกะ
หลังจากนั้นอีกราว ๑๐๐ ปี ได้ปรากฏว่ามีพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ถึง ๑๘ - ๒๐ นิกาย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น นอกจาก เถรวาท ที่มาเจริญรุ่งเรืองในเกาะลังกายุคนั้นแล้ว
ยังมี สรวาสติวาท ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียยุคนั้น ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ มีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย อาทิ พระสุตตันตปิฎกมัธยมอาคมและสังยุกตอาคม อภิธรรมมหาวิภาษา อภิธรรมโกศภาษยะ อภิธรรมนยายานุสาระ เป็นต้น
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คัมภีร์สำคัญ ๆ ดังกล่าวที่เป็นต้นฉบับสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาทนี้ได้สูญหายไป จะหลงเหลืออยู่ก็เพียง อภิธรรมโกศภาษยะ ที่ยังคงมีต้นฉบับสันสกฤตอยู่ครบถ้วน นอกนั้นโดยส่วนมากจะเหลือเพียงฉบับแปลจีนโบราณเท่านั้น
สาเหตุที่มีฉบับแปลจีนโบราณหลงเหลืออยู่ นั่นเป็นเพราะในภายหลังได้เกิดนิกายพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศจีนยุคนั้น และได้คัดเลือกคัมภีร์ที่สนใจในการศึกษาและแปลมาเป็นภาษาจีนโบราณ
ถ้าสมมติว่า ในยุคนั้นไม่มีการศึกษาเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน แม้จะเป็นคัมภีร์ฉบับแปล ก็คงจะไม่มีมาถึงเราอย่างแน่แท้ คำถามคือ…
อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเรา
มีพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสมบูรณ์สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ?
คำตอบหนึ่งที่เห็นประจักษ์ถึงความแตกต่างระหว่างเถรวาทและนิกายอื่น ๆ คือ เพราะว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเรามีพระภิกษุสงฆ์สืบสายกันมาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้การมีอยู่ของพระภิกษุสงฆ์จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเรามีพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
เพราะนอกจากการมีอยู่ของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับ คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีความสัมพันธ์กับความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ ส่วนว่าคุณสมบัติดังกล่าวจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น โปรดติดตามในตอนต่อไป
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ภาพ : พระณัฏฐวัฒน์ ณฏฺฐิโต (พ.เปรม)
🌟รับธรรมะดี ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในได้ที่นี่
⚡️Line
⚡️Facebook
⚡️YouTube
⚡️Instagram
⚡️Twitter
⚡️Pinterest
⚡️Spotify
⚡️Apple Podcasts
⚡️JOOX
⚡️TikTok
⚡️Blockdit
โฆษณา