19 เม.ย. 2020 เวลา 02:00 • สุขภาพ
นโยบายสวิสกับการช่วยคนปิ๊กบ้าน
#covid-19
#โควิด-19
#สวิตเซอร์แลนด์
เริ่มประเดิมกับการมีเพจใน Blockdit ครั้งแรกในช่วงที่ Timing ดีมากกกกกกก (ประชด) เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับเจ้าไวรัสวายร้ายโคโรนา จึงขอนำเสนอเรื่องที่อยู่ในกระแสก่อน
โดยที่มีหลายประเด็นให้นำเสนอด้วยกัน แต่วันนี้ขอเลือกมาประเด็นนึงที่น่าสนใจ คือ การให้ความช่วยเหลือคนชาติตัวเองที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศกลับบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งในฐานะที่ไม่อยู่เมืองไทย คงจะไม่มีความสามารถเสนอหน้าเล่าเรื่องในประเทศตัวเอง แต่ขอเล่าวิธีการของประเทศที่มาขายแรงงานในปัจจุบัน อย่าง “สวิตเซอร์แลนด์” ละกัน ว่าเขามีการบริหารจัดการอย่างไร
ณ จุดนี้ ธงสวิสต้องมา (ถ่ายเอง ขออภัยกับความไม่สวย)
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์เกิดความชะงักงัน และก้มหน้ารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็พยายามทำหน้าที่ super hero แก้ไขปัญหาในด้านที่ตนถนัด และแน่นอน กระทรวงการต่างประเทศสวิส (Federal Department of Foreign Affairs ขอเรียกสั้นๆ ว่า FDFA) ก็หนีไม่พ้นที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิก the Avengers สาขาสวิตเซอร์แลนด์ ในการดำเนินภารกิจด้านการต่างประเทศ ที่คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า .... การให้ความช่วยเหลือคนสวิสในต่างประเทศ อันเป็น top priority หลักที่ FDFA ได้แถลงเจตจำนงไว้อย่างเป็นทางการ (ตามมาด้วยการคุ้มครองเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตของนักการทูตสวิสในต่างประเทศและนักการทูตต่างประเทศในสวิตเซอร์แลนด์ และการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด.....หล่อ)
ก่อนที่เราจะมาดูกันที่รายละเอียด เรามาดูกันที่สถิติก่อนดีกว่า ... จากจำนวนประชากรสวิสทั้งหมด 8.5 ล้านคน มีคนสวิสที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ 760,000 คน และมีคนสวิสเดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศเฉลี่ยปีละ 16 ล้านทริป (ในจำนวนนี้ มีคนสวิสเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยร่วมสองหมื่นคนต่อปี) ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จะมีคนสวิสตามมุมต่างๆ ของโลกเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปี
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่การให้ความช่วยเหลือคนสวิสที่ติดค้างในต่างประเทศ จะกลายเป็น top agenda ของการดำเนินนโยบายของสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงวิกฤติการณ์โคโรนาไวรัสนี้ โดยมีประเด็นด้านการดำเนินการที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายนี้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์ก็ผุดนโยบายการนำคนสวิสที่ติดค้างในต่างประเทศกลับบ้านทันที ภายใต้แคมเปญที่มีแฮชแทกหรูหราหมาเห่าว่า #flyinghome โดยโหมโรงประชาสัมพันธ์ว่าเป็น “ปฏิบัติการนำคนสวิสกลับบ้านครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สวิสประเทศ” เพียงเท่านี้ อารมณ์ฮึกเหิมแบบ saving Private Ryan มาทันที (จังหวะนี้... เพลงมา!!!)
หน้าตาแคมเปญ
2. หลังจากที่บิ๊วกันแบบเล่นใหญ่ขนาดนี้ ก็มาถึงแนวทางการดำเนินการ รัฐบาลสวิสมอบหมายให้ FDFA เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งก็ดำเนินการง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ด้วยการเปิดเว็บไซต์ ตั้ง hotline สร้าง application จร้าาาาาา คนสวิสที่ติดค้างในต่างประเทศสามารถลงทะเบียนขอกลับบ้านผ่านสามช่องทางที่ว่านี้ เท่านั้นไม่พอ ทางการสวิสยังทำคลิปวิดีโอส่งเสริมให้คนรีบมาลงทะเบียนอีก ที่ใช้คำว่ารีบ เพราะสวิตเซอร์แลนด์ประเมินแล้วว่า หากปล่อยให้ค้างคานานเท่าไหร่ก็จะไม่เป็นผลดีกับคนสวิส เพราะจะมีกฎระเบียบของประเทศต้นทางออกมาหยุมหยิมเต็มไปหมด และที่สำคัญ รัฐบาลสวิสจะโดนด่าฮะ
มีแอปลิเคชันให้โหลดกันนะจ๊ะ
3. ที่ต้องใช้คำว่าโดนด่า เพราะรัฐบาลสวิสมีความไมโคร “จำฝังใจ” ตั้งแต่สมัยที่ช่วยคนสวิสออกจากหวู่ฮั่น เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดใหม่ๆ ซึ่งตอนนั้นมีคนสวิสติดค้างในพื้นที่เพียง 8 คน แต่โดนคนในชาติด่ายับว่าให้ความช่วยเหลือช้าเกินไป ประหนึ่งว่ารัฐบาลสวิสไปเพิ่มค่าผ่านทางโทล์เวย์ อีกหนึ่งเท่าตัว (คุ้นๆ)
4. และนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จำนวนคนสวิสก็ได้ลงทะเบียนขอกลับบ้านมาเรื่อยๆ และเรียงๆ จนถึงปัจจุบัน (ต้นเมษายน) มีคนสวิสที่ติดค้างในต่างประเทศลงทะเบียนขอกลับบ้านแล้วทั้งสิ้น 17,000 กว่าคน
ลิ้งค์โปรโมทให้คนมาลงทะเบียน ที่รัฐมนตรีต่างประเทศสวิส มาประชาสัมพันธ์ด้วยตัวเอง https://twitter.com/ignaziocassis/status/1239925796476764160?s=21
5. จำนวนคนลงทะเบียน เยอะเสียขนาดนี้ ก็มาถึงช่วงเวลาวัดกึ๋น FDFA ว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง อะไรซับซ้อน สวิตไม่ อะไรง่ายๆ สวิตทำ แบ่งการดำเนินการเป็น
5.1 การดำเนินการรายภูมิภาคเริ่มจากภูมิภาคไกลๆ อย่างอเมริกาใต้ก่อน ไล่มายุโรป แอฟริกา เอเชีย โอเชียเนีย จะเห็นได้ว่า พี่ไล่พื้นที่ความช่วยเหลือมาตามแผนที่โลกซ้ายไปขวาเลย
5.2 มีการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือก่อนหลังให้มันชัดๆ ไปเลย โดยเริ่มจาก 1) นักท่องเที่ยวสวิส 2) คนสวิสที่พำนักหรือมีใบอนุญาตทำงาน/พำนักในต่างประเทศ 3) คนชาติอียู (แหม่...พ่อพระ) และ 4) คนชาติยุโรปอื่นๆ (พ่อพระกำลังสอง) ซึ่งการแบ่งลำดับความสำคัญแบบนี้ช่วยให้การลงทะเบียนเป็นไปได้ง่ายขึ้น
5.3 สายการบินที่ใช้ ก็มีสองสายการบินสวิสสองสายหลัก คือ SwissAir กับ Edelweiss โดยคำนึงถึงระยะทาง ขนาดเครื่องบิน และค่าใช้จ่าย
6. วันดีเดย์ความช่วยเหลือเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 โดยมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่ได้รับการตัดสายสะดือ ได้แก่ การรับคนสวิสในคอสตาริกาและเปรู ก่อนที่จะขยายมาเรื่อยๆ
7. ประสานงานกับประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเริ่มจากการเปิดให้คนชาติตนเองลงทะเบียนขอกลับ ก่อนที่จะประเมินจำนวนเที่ยวบินที่ต้องใช้ เพื่อให้ทุกอย่างมีความพอดีและแม่นยำ (สวิสสไตล์โดยแท้)
8. ประกาศกำหนดการเที่ยวบินต่างๆ ล่วงหน้า รายงานผลการดำเนินการ ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในระดับองค์กร (FDFA) และบุคคล (รัฐมนตรี ปลัด รองปลัด) เพื่อสาธารณชนจะได้รับทราบว่าทางการของประเทศตัวเองทำอะไรอยู่ และได้ให้ความช่วยเหลือไปถึงไหนแล้ว
9. ในส่วนของหน้าที่ของผู้ได้รับความช่วยเหลือมีความชัดเจนมากครับ !!!! ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่าย ที่คนสวิสที่เดินทางกลับประเทศด้วยวิธีพิเศษเช่นนี้ ไม่ได้เดินทางฟรีแน่นอน แต่พี่สวิสแกยังใจดี โดยสำรองค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปก่อน และผู้โดยสารจะต้องจ่ายเงินคืนอีกที ซึ่งอ้างอิงตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวไว้ สรุปได้ว่า “ค่าตั๋วเครื่องบินไม่แพงจนเกินไป แต่ก็ไม่ถูก!!!!” และเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศแล้ว ก็ต้องดำเนินการกักตัวเอง (self-quarantine) ในที่พักของตัวเองเป็นเวลา 10 วัน แต่นั่นแหละ .. อารมณ์นี้คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการได้กลับบ้านแล้ว
การช่วยคนสวิสที่ติดค้างที่ไทยกลับ มีถึงห้าเที่ยวบินเชียวนะเธอ
นี่คือสิ่งที่ทางการสวิสให้ความช่วยเหลือคนชาติตนเองกลับประเทศ จะเห็นได้ว่าสวิตเซอร์แลนด์มีหลักการจัดการที่สำคัญ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ (1) การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนของการจำแนกการดำเนินการรายภูมิภาคและการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ (2) การประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบว่าภาครัฐกำลังทำอะไรอยู่ และ (3) มีการแจกแจงหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่า ตนต้องทำอะไร และอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ บุคลากรของหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ (ไม่พูดถึงด่านหน้าอย่างสถานทูตสถานกงสุลสวิสที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว) ไล่มาตั้งแต่ รัฐมนตรี ปลัด รองปลัด ผอ. กอง Crisis Management ต่างมาร่วมกันสังฆกรรมในขั้นตอนต่างๆ ของปฏิบัติการนี้ด้วยตนเองทั้งหมด
และประการสุดท้ายที่สำคัญ คือ การส่งสารไปยังประชาชนที่ติดค้างหรือตกทุกข์ในต่างประเทศได้รับรู้ว่า รัฐบาลสวิสพร้อมอยู่เคียงข้างให้ความช่วยเหลือและไม่ปล่อยให้ประชาชนที่ติดค้างในต่างประเทศต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเคว้งคว้าง โดยพร้อมทำอย่างเต็มที่ที่จะให้ประชาชนกลับบ้านได้ ก่อให้เกิดความไว้ใจ อุ่นใจ มั่นใจ และมั่นคงในการดำเนินการของภาครัฐ นำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน อันมีส่วนสำคัญให้ mission #flyinghome ของสวิตเซอร์แลนด์สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ขั้นตอนการขนคนกลับ รูปสุดท้าย คนได้กลับบ้านก็จะดีใจหน่อยๆ
จบ .. สำหรับการบ่นครั้งแรก เรียนเชิญติชมได้ตามสบายครับ
ข้างบนคือ link วิดีโอภารกิจ #flyinghome ครั้งนี้
โฆษณา