19 เม.ย. 2020 เวลา 02:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
5 จุดแข็งในการทำงานของมนุษย์ ที่ AI ไม่อาจเอาชนะ
ภาพประกอบจาก Freepik
ผ่านมาระยะหนึ่งแล้วที่เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" ( Artificial Intelligence หรือ AI ) ได้เข้ามาเป็นเสมือนผู้ช่วยพระเอก จากบทบาทการทำงานแบ่งเบาภาระของมนุษย์ในหลาย ๆ ภารกิจหน้าที่ของสาขาอาชีพต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่วงการอุตสาหกรรม ขยายไปสู่ภาคเกษตร ขนส่ง การแพทย์ การลงทุน และอื่น ๆ จนปัจจุบันขยายตัวเข้ามีบทบาทถึงในชีวิตประจำวันของคนเราบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ทำให้หลายคนมองออกไปในอนาคตว่ามันจะกลายเป็นพระเอกตัวจริงในหลายวงการ ด้วยการเข้าไปทดแทนการทำงานของมนุษย์หรือไม่
ภาพประกอบจาก Freepik
ที่จริงก็เป็นเรื่องน่าคิด เพราะด้วยประสิทธิภาพการทำงาน วิเคราะห์ ประมวลผล ที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ไม่แพ้มนุษย์ และบางเรื่องยังมีศักยภาพภาพเหนือกว่าด้วยซ้ำไป แม้บางครั้งจะมีความบกพร่องผิดพลาดไปบ้างจนทำให้ดูเหมือนจะถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็นจำเลย เช่น ข้อผิดพลาดในการตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลบางประการจนส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือจุดบอดในการวิเคราะห์ข้อมูลบางอย่างที่จำต้องใช้ความละเอียด เป็นต้น แต่โดยภาพรวมก็ต้องยอมรับว่า AI คือพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เป็นผู้ช่วยอันทรงพลานุภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคนี้ไปจนถึงอนาคต
1
แต่ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่าเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้จะเบียดให้ความสำคัญของมนุษย์ตกกระป๋องไป เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีคุณลักษณะบางประการในการทำงานของมนุษย์ที่ยังเหนือชั้นกว่า AI ซึ่งผมขอยกมาให้เห็น 5 ประการ ดังนี้
ภาพประกอบจาก Freepik
1. ความสามารถในการพิเคราะห์ด้วยเหตุผลอันแยบยล แม้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ให้ถูกต้อง แม่นยำ เพียงใด ก็ยังมีขีดจำกัดอยู่ภายใต้เพดานของชุดข้อมูลที่ป้อนไว้ในระบบเพื่อให้เรียนรู้ (Machine Learning : ML) หรือจากข้อมูลทางสถิติที่ถูกบันทึกไว้เป็นฐานข้อมูล (Big Data) สิ่งใดที่นอกเหนือไปจากนั้นย่อมจะพ้นวิสัยในการวิเคราะห์ของ AI ต่างจากมนุษย์ที่สามารถค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมิใช่การเพียงการใช้สมอง หากแต่องค์ความรู้บางอย่างที่ใช้วิเคราะห์ยังมาจากกระบวนการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทดลองปฏิบัติ หรือแม้แต่กระบวนทางจิตวิญญาณ เช่น การค้นหาสาเหตุแห่งทุกข์ตามหลักธรรมอริยสัจ 4 ในทางพระพุทธศาสนา การวินิจฉัยตัดสินในกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายในหลาย ๆ คดีที่ต้องยึดความเป็นธรรมไม่น้อยไปกว่าตัวบทกฎหมาย เป็นต้น
2
2. ความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าเป้าหมายระยะยาวประการหนึ่งของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ คือ การพัฒนาให้มีความคิดสร้างสรรค์ (computational creativity) แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่มีทางก้าวทันจินตนาการของมนุษย์เป็นแน่ เพราะในการรังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานออกแบบ หรือวิทยาการอื่น ๆ นอกเหนือจากต้องใช้พลังสมองแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังต้องใช้พลังแห่งอารมณ์ ความรู้สึก เข้ามาขับเคลื่อนและผลักดันด้วย ซึ่งมนุษย์มีพลังเสริมเหล่านี้มีอยู่เต็มเปี่ยม ดังจะเห็นได้ว่า ผลงานสร้างสรรค์อันน่ามหัศจรรย์หลาย ๆ อย่างที่ไม่คิดว่าเกิดขึ้นได้ ทว่ามนุษย์ก็กลับทำปรากฏขึ้นในโลก เช่น ภาพวาด รูปปั้น สถานที่สำคัญที่มีความงดงามตราตรึงหนึ่งเดียวในโลก หรือแม้แต่ทฤษฎีเปลี่ยนโลกหลาย ๆ เรื่องก็ล้วนเกิดจากมนุษย์เป็นหลัก
2
3. ปฏิสัมพันธ์และการทำงานเป็นทีม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคม โดยรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานของของ Teamwork มีความละเอียด ซับซ้อน และลึกซึ้งมากกว่าความเชื่อมโยงของกลไกในกระบวนการทำงานของเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใด ๆ ต่อให้ในอนาคต เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะได้รับการพัฒนาให้มีความฉลาดทางสังคม (social intelligence) โดยระบบการคำนวณทางอารมณ์ (affective computing) หรือเรียนรู้ภาษาธรรมชาติจากการแสดงออกของมนุษย์ (Natural Language Processing : NLP) แต่ก็คงเรียนรู้ได้เพียงเพื่อวิเคราะห์และตอบสนอง อันอาจช่วยให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ดีขึ้น ทว่าคงไม่อาจแทรกซึมเข้าประสานได้อย่างแนบสนิทเหมือนมนุษย์ด้วยกัน
1
4. ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่เหมือนเป็นพรสวรรค์แห่งชาติพันธุ์ของมนุษย์ หรืออาจรวมถึงสิ่งมีชีวิตบางจำพวก อันเป็นเสมือนส่วนผสมระหว่างความสามารถในการวิเคราะห์เหตุผลอย่างแยบยลดังที่กล่าวในข้อแรก เพิ่มเติมด้วยทักษะในดึงศักยภาพดังกล่าวออกมาใช้อย่างฉับพลัน ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของตรรกะใด ๆ ที่จะกำหนดเป็นรูปแบบหรือฐานข้อมูลเฉพาะอย่างตายตัวได้ เพราะการใช้ปฏิภาณไหวพริบนี้ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ และมีความหลดหลั่นกันไปตามขีดความสามารถของแต่ละบุคคล ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ยากที่จะบรรจุคุณสมบัตินี้ไว้ในปัญญาประดิษฐ์ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ทัดเทียมกับระดับที่มีอยู่ในมนุษย์ ดังที่เราจะเห็นว่า หลายครั้งเมื่อเจอปัญหารุมเร้าแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระบบการวิเคราะห์ ประมวลผลของเทคโนโลยีที่ว่านี้ไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งถึงกับหยุดชะงัก ระบบรวนจนกลายเป็นความผิดพลาดเลยก็มี
ภาพประกอบจาก Freepik
5. ขีดความสามารถในการแก้ไขข้อบกพร่องและเยียวยาความเสียหายจากความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำงานของมนุษย์ เครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งหากสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติของมนุษย์ที่มีสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข รวมถึงเยียวยาชดเชยต่อผู้ได้รับผลกระทบ ตรงข้าม หากเกิดจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะอัจฉริยะเพียงใด นอกเหนือจากถ้อยคำขอโทษที่อาจเป็นปฏิกิริยาการสื่อสารอัตโนมัติโดยอาศัยชุดข้อมูลที่บรรจุไว้แล้ว ก็คงไม่อาจคาดหวังการให้ระบบมีการปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องนั้นได้อย่างสมบูรณ์ด้วยตัวของมันเอง เว้นแต่มนุษย์จะเป็นผู้ดำเนินการ และด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีการเดินหน้าพัฒนามาโดยตลอด
1
จุดแข็งทั้งห้าประการที่ผมยกมาให้เห็นนี้ มิใช่เป็นการอวยมนุษย์ด้วยกันเอง หรือเพียงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นที่อาจกลายเป็นความชะล่าใจก็หาไม่ แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยและชาญฉลาดเพียงใดก็มิอาจทดแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมนุษย์มีคุณลักษณะเฉพาะที่ยากต่อการลอกเลียนหรือสร้างสิ่งเทียมให้มีคุณภาพเทียบเท่าได้
ภาพประกอบจาก Freepik
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ซึ่งเป็นผู้สร้างเทคโลโลยีเองก็ยังไม่อาจอวดอ้างได้ว่าตนมีความสมบูรณ์แบบในทุก ๆ เรื่อง ทว่ายังต้องมีการพัฒนาตัวเองไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาก็คงไม่อาจก้าวขึ้นสู่จุดอิ่มตัวจนถึงขั้นเอาชนะผู้สร้างได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
โฆษณา