19 เม.ย. 2020 เวลา 07:20 • ประวัติศาสตร์
"สี่ยอดกุมาร" นิยายพื้นบ้านของไทย...จากแผ่นดินลาว
หลวงพระบาง กับ 4 ยอดกุมารปี 2526 (ภาพจาก wikipedia)
ไม่ทราบว่าใครเคยเหมือนผมหรือเปล่า ที่เคยสงสัยว่าพวกนิยายพื้นบ้านที่เอามาทำละคร จักรๆ วงศ์ๆ นั้นมาจากไหน?? และมันมีหลายเรื่องมากๆ....
ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ได้ดูตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
สังข์ทอง อิเหนา ปลาบู่ทอง ขวานฟ้าหน้าดำ แก้วหน้าม้า ขุนช้างขุนแผน มณีนพเก้า เทพสามฤดู รวมถึง
"สี่ยอดกุมาร" ที่เป็นเรื่องโปรดของผม... มันมีที่มาจากไหน??? แต่ผมก็ไม่เคยค้นหาจริงๆจังๆสักที
จนกระทั่งด้วยความบังเอิญ ในตอนที่ผมไปเที่ยวลาวและหลวงพระบาง ผมได้เจอคนขับรถที่พาผมไปน้ำตกและได้สนทนากันถึงละครไทยที่คนลาวก็ชอบดู..
หลวงพระบาง
"ผมชอบนิยายลาวที่คนไทยเอาไปทำละคร จักรๆ วงศ์ๆ ด้วย" คนขับรถพูด
"นิยายลาวเรื่องอะไรครับ" ผมถามด้วยความงงๆ
"อ๋อ เรื่อง 'จำปาสี่ต้น' อ่ะเจ้า" คนขับรถชาวลาวตอบ.... คนหลวงพระบางใช้คำว่า "เจ้า" ตบท้ายเหมือนคนเหนือบ้านเราครับ
ผมทำหน้างงขึ้นเป็นสองเท่าครับ และคนขับรถก็กำลังนึกชื่อละครของไทย เพราะรู้ว่าผมงง😯😯😯
"ภาษาไทยเรียก 'สี่กุมาร' เจ้า" คนขับรถตะโกนด้วยสีหน้าดีใจมาก
หนังสือนิยายจำปาสี่ต้น จาก Isangate.com
ผมก็พอนึกได้ว่าเนื้อเรื่องของสี่ยอดกุมารนั้น เด็กทั้งสี่คนได้ถูกวางยาพิษแล้วไปเกิดเป็นต้นจำปา และนั่นก็ทำให้ผมเออๆ ออๆ ไปครับ
แต่ภายหลังผมได้มาค้นข้อมูลเพิ่มก็พบว่า "สี่ยอดกุมาร" ก็นำมาจากนิยายเรื่อง "จำปาสี่ต้น" จริงๆ
1
โดย "จำปาสี่ต้น" ก็ดัดแปลง มาจากเรื่อง "นางคำกลอง" และเชื่อว่าผู้ประพันธ์ของเรื่อง "นางคำกลอง" นี้น่าจะเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของลาวซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง พระเจ้าโพธิสารราชถึงสมัยพระไชยเชษฐาธิราช หรือเมื่อ 400 กว่าปีก่อน
ภาพจาก wikipedia
เรื่องเล่าของ "จำปาสี่ต้น" มีอยู่ว่า มี 'นกยักษ์' ลงมากินชาวเมืองเขนธานีจนหมด นั่นก็ทำให้เจ้าเมืองต้องนำพระธิดาไปซ่อนไว้ในกลองใหญ่ ซึ่งต่อมาเจ้าชายจุลนีแห่งเมืองปัญจานครได้ไปพบเข้า จึงได้นำพระธิดาออกมาจากกลอง ดังนั้นเจ้าเมืองเขนธานีจึงได้ยกลูกสาวให้เป็นมเหสีของ "เจ้าชายจุลนี"
พระธิดานั้นชื่อ "เจ้าหญิงปทุมมา" ก็ได้กลับเมืองปัญจานครกับเจ้าชายจุลนี ซึ่งเจ้าชายก็มีมเหสีฝ่ายขวาอยู่ก่อนแล้วที่ชื่อว่า "เจ้าหญิงอัคคี" ทั้งสองก็ดูเหมือนรักใคร่ปรองดองกันดี
แต่ครั้งเมื่อเจ้าหญิงปทุมมาตั้งครรภ์และถึงตอนประสูติโอรส เจ้าหญิงอัคคีก็วางแผนเอาผ้าปิดตาปิดหูนางปทุมมาโดยอ้างว่า "เป็นพระราชประเพณีของเมืองปัญจานคร" และนางก็เอาลูกสุนัขมาเปลี่ยนลูกเจ้าหญิงปทุมมาแทน จากนั้นก็ให้คนนำกุมารทั้งสี่ไปลอยแพทิ้งน้ำไป ...
3
เมื่อเจ้าชายจุลนีทราบว่า นางปทุมมาคลอดลูกเป็นสุนัขก็โกรธ และหาว่านางสมสู่กับสุนัขจึงขับไล่ออกจากเมือง *** แต่ละครของเราเปลี่ยนเป็นปลิงครับไม่ใช่ลูกหมา
กุมารทั้งสี่ที่ถูกลอยแพทิ้งไปนั้น แต่กลับโชคดีที่ได้มีตายายมาพบและช่วยเลี้ยงดู
เมื่อเจ้าหญิงอัคคีรู้ว่ากุมารทั้งสี่ยังไม่ตาย จึงส่งให้คนไปวางยาพิษและรอบสังหารกุมารทั้งสี่
ตายายกลับจากนาเห็นกุมารทั้งสี่นอนตายกอดกันกลมก็โศกเศร้าเสียใจ และได้นำศพไปฝังไว้ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ได้เกิดต้นจำปาสี่ต้นขึ้นมาบนหลุมฝังศพ...
เจ้าหญิงอัคคีดันรู้อีกก็เลยสั่งให้คนไปโค่นต้นจำปานั้นทิ้งเสีย แต่สุดท้ายฤๅษีก็เสกให้ต้นจำปาให้เป็นเด็กสี่คน และนี่ก็คือจุดกำเนิดของ "สี่ยอดกุมาร" ครับ... และมีเรื่องสนุกผจญภัยต่อจากนั้นตามละครครับ😁😁😁
สี่ยอดกุมาร ภาพจาก Google
นั่นก็ต้องขอบคุณคนขับรถชาวลาวที่สร้างบทสนทนา ที่ทำให้ผมไปค้นหาข้อมูลต่อไปในภายหลังครับ....
และเมื่อมาถึงน้ำตกกวางสี ใกล้เมืองหลวงพระบาง.... สวยงามครับ...
น้ำตกแถวหลวงพระบาง
ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผมชอบมากครับ ผู้คนน่ารัก บ้านเมืองอยู่แล้วสบายๆๆ
ลาว
อาหารอร่อย กาแฟอร่อย และถูก
ผมยังจำได้อีกเรื่องที่คนขับรถพาผมไปกินร้านหนึ่งอร่อยมาก ...
"นี่เนื้ออะไรครับอร่อยดี" ผมถาม ทั้งๆ ที่แทะไปหมดแล้ว เพราะมันไม่ใช้เนื้อวัว เนื้อหมู แน่ๆๆ
เนื้อเบ้
"เนื้อเบ้" คนขายที่เป็นน้องผู้หญิงตอบผม
"เออ ไอ้เนื้อเบ้ นี่มันเนื้ออะไร ครับ" ผมถามต่อ
ทั้งคนขายและคนขับรถนึกใหญ่เลยครับว่า ภาษาไทยเรียกว่าอะไร😯😯😯... และผมก็เริ่มกลัวว่าเป็นเนื้อหมาครับ
ในที่สุดน้องผู้หญิงตะโกนบอกผม "อ้ายๆ ไอ้ตัวที่มันร้อง เบ้ เบ้ อ่ะ"
ผมเลยยิ้ม "อ๋อ!! เเพะ ใช่มั๊ย" ... สองคนพยักหน้า .... โชคดีที่มันไม่ได้ร้อง "โฮ่ง โฮ่ง" ครับ🤣🤣🤣
ลาว
สุดท้ายนี้ที่มาของนิยายพื้นบ้านอีกหลายๆเรื่องก็น่าสนใจนะครับ อย่างเช่น
สังข์ทอง - เรื่องเล่าในละครโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย
อิเหนา - เรื่องแต่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในสมัยอยุธยา และเรื่องได้ถูกแต่งจากเรื่องเล่านางกำนัลชาวปัตตานี
แก้วหน้าม้า -แต่งโดยพระองศ์เจ้าทินกร สมัยรัชกาลที่ 2
ขุนช้างขุนแผน - เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากมานานตั้งแต่สมัยกลางอยุธยา แต่รัชกาล 2 ได้ให้คนรวบรวมขึ้นมาใหม่
ขวานฟ้าหน้าดำ - แต่งขึ้นเร็วๆ นี้ เมื่อปี 2502 โดยเสรี เปรมฤทัย
ปลาบู่ทอง - เรื่องดัดแปลงจาก Ye Xian ที่แต่งสมัยราชวงศ์ถัง ผ่านกลุ่มชาวไท-จ้วง..ที่ผมเคยเขียนถึงแล้วครับ
ไว้อาจจะมาเล่ารายละเอียดนะครับผม🤣🤣
แม่น้ำโขง
#wornstory
โฆษณา