19 เม.ย. 2020 เวลา 09:54 • กีฬา
เมื่อคุณเป็นปลาเล็ก มีเงินทุนน้อย แต่ต้องสู้กับปลาใหญ่ที่รวยกว่าหลายเท่าจะทำอย่างไร นี่คือเรื่องจริงในวงการเบสบอล ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหนังดัง Moneyball
เคยได้ยินทฤษฎี Moneyball มั้ยครับ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว ที่แบรด พิตต์ เล่นเป็นตัวเอก ซึ่งหนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง
โดยก่อนหน้าจะทำหนัง มันเป็นหนังสือขายดีมาก่อน ในชื่อ Moneyball เหมือนกัน เขียนในปี 2003 โดย ไมเคิล ลูอิส
ในเรื่องนี้ เล่าถึงกลยุทธ์ของ บิลลี่ บีน ผู้จัดการทีม (General Manager) ของทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ทีมเบสบอล MLB ของสหรัฐฯ กับแนวทางที่ไม่เหมือนใคร ในการหาผู้เล่นมาเสริมทัพ
ใน 4 กีฬาหลักของอเมริกา เบสบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล และ ฮอกกี้น้ำแข็ง มีแค่เบสบอลอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่มี เพดานเงินเดือน (Salary Cap)
นั่นแปลว่าทีมไหนรวย มีเงินมากกว่า ก็อัดเงินเข้าไปเลย ตอนแย่งผู้เล่นในตลาดฟรีเอเยนต์ ใครรวยกว่า ก็จ่ายค่าจ้างได้แพงกว่า ก็มีโอกาสได้นักกีฬาคุณภาพมากกว่า
มันไม่เหมือนกับ NBA ที่ต้องมาคำนวณ Cap ว่าจ้างสตาร์คนนี้ไปกี่ดอลลาร์แล้ว เหลืองบเท่าไหร่ในการหาคนที่เหลือ ต่อให้มีเงินแค่ไหนก็ยากจะสร้างซูเปอร์ทีมได้ มันต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการมากกว่า แต่ในเบสบอล วัดกันที่พลังเงิน
ในปี 2018 มีรายงานว่า ทีมที่จ่ายค่าจ้างสูงสุดในลีก คือบอสตัน เรด ซอกซ์ 227 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนทีมที่จ่ายน้อยสุดคือ แทมป้า เบย์ เรย์ 68 ล้านดอลลาร์ ต่อปี ห่างกันลิบลับถึง 159 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท)
ตัวหลักของหนังสือเรื่อง Moneyball คือบิลลี่ บีน GM ทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ซึ่งเป็นทีมระดับกลางๆค่อนไปทางล่าง ฐานะของทีมก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คือโอ๊คแลนด์เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่มาก มีประชากรแค่ 4 แสนคน คุณเอาไปเทียบกับ นิวยอร์ก หรือ ลอสแองเจลิส แบบนี้ไม่ได้อยู่แล้ว
ระหว่างปี 1993-1997 โอ๊คแลนด์ไม่เข้าเพลย์ออฟติดต่อกัน 5 ปีซ้อน และมีสถิติแพ้มากกว่าชนะ ทุกปี ดังนั้นเจ้าของทีมจึงปลด GM คนเดิม ซอนนี่ อัลเดอร์สัน แล้วแต่งตั้ง บิลลี่ บีน ขึ้นทำหน้าที่แทน
บิลลี่ บีน เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว เขาก็คิดว่า โอเค ทีมที่เงินน้อยเหลือเกิน อย่างโอ๊คแลนด์ จะเอายุทธวิธีไหน ถึงจะก้าวขึ้นมาต่อสู้กับพวกทีมใหญ่เขาได้บ้าง
ถ้าเอาเงินไปสู้กับเงิน แป้บเดียวโอ๊คแลนด์ก็คงแพ้ ดังนั้นต้องหาแนวทางอื่น พยายามคิดนอกกรอบ ในหนทางที่พอจะเป็นไปได้
ระหว่างที่กำลังหาวิธีอยู่นั้น บิลลี่ บีน มีโอกาสไปเจรจาเรื่องผู้เล่นรายหนึ่ง กับทีมคลีฟแลนด์ อินเดียนส์ ซึ่งในวงสนทนาวันนั้น สิ่งที่สะดุดใจเขา ไม่ใช่ผู้เล่น แต่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมของคลีฟแลนด์ ที่ชื่อ พอล ดีโปเดสต้า
ดีโปเดสต้า เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และดูผิดที่ผิดทางอย่างมาก กับคนที่มีดีกรีระดับนี้ จะมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมเบสบอล
คนเรียนจบรุ่นเดียวกับเขา ไปเป็นผู้จัดการกองทุนที่วอลล์สตรีตกันหมดแล้ว แต่ในมุมของพอล คิดว่าเขาเติบโตได้ในเส้นทางนี้
1
ที่คลีฟแลนด์ ใช้งานดีโปเดสต้า ในการคำนวณ Salary ของนักกีฬา ช่วยตกลงดีลโฆษณาต่างๆ เกี่ยวกับรายรับรายจ่ายทั่วไป แต่สิ่งที่บิลลี่ บีน (37 ปี) เห็นในตัวดีโปเดสต้า ( 27 ปี) มีมากกว่านั้น คือ เด็กหนุ่มคนนี้ จดสถิติทุกอย่าง แบบละเอียดมาก
1
เขาจะมีแลปท็อปคู่ใจหนึ่งเครื่อง เอาติดตัวไว้ตลอด และบอกว่านักกีฬาคนนี้ มีผลงานเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งด้วยความที่เขาจบฮาร์วาร์ด ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นนักกีฬามาก่อน เขาจึงไม่ได้ใช้เซนส์ แต่เลือกใช้ "สถิติ" เป็นเครื่องตัดสินทุกอย่าง
ตอนบิลลี่ บีน พยายามเจรจา เอาตัวผู้เล่นของโอ๊คแลนด์ไปเทรด ก็โดนดีโปเดสต้าอ่านเกมขาดหมดว่านักกีฬาคนนี้ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงก็จริง แต่สถิติการตีบอล ต่ำแค่นี้เองนะ คุณจะมาซื้อขายกับเราในราคาแพงๆได้หรือ
1
คุยไปคุยมา บิลลี่ บีน จึงได้รู้ว่า สิ่งที่เขาต้องการ ไม่ใช่นักกีฬาคนไหนหรอก แต่เป็นนักบันทึกสถิติอย่าง ดีโปเดสต้าต่างหาก
1
นั่นทำให้บทสรุปของการเจรจา โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ จ่ายเงินฉีกสัญญาของดีโปเดสต้า และดึงมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมคนใหม่ นับจากวันนั้น
หลักคิดของเบสบอล คือนักกีฬาคนหนึ่ง ควรมีความครบเครื่อง คุณต้องวิ่งเร็ว ขว้างบอลดี ตีบอลเยี่ยม เพราะอย่าลืมว่าคนหนึ่งต้องรับบทบาทสองอย่างในเกมเดียว คือเกมรุกกับเกมรับ
คนที่มีครบทุกอย่าง ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Whole Package (ครบเครื่อง) ซึ่งบรรดาทีมใหญ่ ก็มักจะไล่ล่านักกีฬาเหล่านี้กัน
แต่แน่นอน โอ๊คแลนด์ ซึ่งเป็นทีมที่ไม่มีเงิน มันยากที่จะคว้าตัวเก่งๆระดับนั้นมาอยู่กับทีม คือเงินมีไม่พอหรอก ที่จะไปแลกหมัดกับทีมใหญ่ที่รวยกว่าเยอะๆ
ไม่ใช่แค่ไม่มีเงินไปแย่งซื้อเท่านั้น แต่นักกีฬาเก่งๆที่ตัวเองปั้นมา พอครบสัญญาก็รั้งไว้ไม่อยู่ เพราะแพ้พลังเงินของทีมอื่นตลอด
ในปี 2001 โอ๊คแลนด์อยู่ในสถานการณ์วิกฤติ เมื่อนักกีฬาตัวท็อปคือ เจสัน จิอัมบิ ผู้เล่นเบสแรก หมดสัญญากับทีม กลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเยนต์
จิอัมบิ เรียกร้องขอค่าเหนื่อย 17 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งโอ๊คแลนด์ไม่มีปัญญาจ่าย เพราะงบในการทำทีมทั้งฤดูกาลมีแค่ 38 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ทีมเบสบอลทั้งทีมต้องใช้ผู้เล่น 17-18 คน แล้วคุณจะเอางบ 44% ไปจ่ายค่าเหนื่อยให้นักกีฬาคนเดียวได้อย่างไร คือถ้าคุณเซ็นกับจิอัมบิ เท่ากับว่า นักกีฬาคนที่เหลือต้องแบ่งรายได้กันใน 56% อย่างงั้นหรือ
สุดท้ายโอ๊คแลนด์จ่ายไม่ไหว จึงต้องยอมปล่อยให้จิอัมบิ ย้ายไปเซ็นสัญญากับนิวยอร์ก แยงกีส์ ที่จ่ายค่าเหนื่อยระดับนี้ได้สบายๆ
การสูญเสียจิอัมบิ ถือเป็นความเสียหายอย่างรุนแรงของทีม เพราะนี่คือตัวท็อปของลีก เขามีสถิติออนเบส .477 สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของลีก นอกจากนั้นยังมีความครบเครื่องในด้านอื่นหมด วิ่งเร็ว แข็งแรงมากตีโฮมรันเป็นว่าเล่น เกมรับก็แกร่ง คือดีไปหมดทุกอย่าง
ไม่ใช่แค่ จิอัมบิ แต่สตาร์คนอื่นๆ ที่เริ่มมีชื่อเสียง ก็ทยอยย้ายหนีโอ๊คแลนด์ไปหมด เช่น จอห์นนี่ เดม่อน เอาต์ฟิลด์ ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน รวมถึง เจสัน ไอซิ่งเฮาเซ่น พิชเชอร์ฝีมือดี ก็ย้ายไปรับค่าจ้างแพงๆกับทีมอื่น เมื่อมีหนทางได้เงินมากกว่า นักกีฬาก็ต้องย้ายไป
ชีวิตของทีมเงินน้อยก็เป็นแบบนี้ พวกเขาไม่สามารถรั้งสตาร์ของตัวเองไว้ได้นาน
แล้วคราวนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ?
สิ่งที่บิลลี่ บีน กับพอล ดีโปเดสต้า เริ่มทำทันที คือใช้ข้อมูลที่ตัวเองเก็บมาทั้งหมด เอามาวิเคราะห์สถิติของเมเจอร์ ลีก เบสบอล
ในฤดูกาลปกติของ MLB แต่ละทีมจะแข่งขันทั้งสิ้น 162 เกม สถิติของดีโปเดสต้าระบุว่า ทีมที่จะเข้าเพลย์ออฟได้ จะมีค่าเฉลี่ย ชนะ 95 เกม จากทั้งหมด 162 เกม
และทีมที่จะชนะ 95 เกมนั้น สถิติเจาะลงไปอีกว่า ค่าเฉลี่ยคุณต้องทำ "แต้ม" ได้อย่างน้อย 800 แต้มต่อปี (800 หาร 162 = 4.93 แต้ม ต่อเกม)
"ในประวัติศาสตร์ของลีก ทีมที่ชนะ 95 เกม ส่วนใหญ่จะเข้าเพลย์ออฟได้ทั้งหมด ถ้าสุดท้ายเราชนะ 95 เกมแล้ว แต่เข้าเพลย์ออฟไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรหรอก" ดีโปเดสต้ากล่าว
ดังนั้นสิ่งที่ โอ๊คแลนด์จำเป็นต้องทำคือ การ Recruit ผู้เล่นกลุ่มใหม่ขึ้นมา สำหรับใช้งานในฤดูกาล 2002
ถ้าไม่มีเงินจ้างผู้เล่นที่เป็น Whole Package ก็ไม่เป็นไร ช่างมัน แต่ไปเล็งเอาผู้เล่นระดับธรรมดา ค่าจ้างถูก แต่เน้นเอาสถิติการทำแต้มไว้ก่อน
เป้าหมายคือ การรวมผู้เล่น 18 คน โดยยึดสถิติการ "ทำแต้ม" เอาไว้ โดยดีโปเดสต้า จะต้องหา 18 คนที่มีค่าเฉลี่ยทำแต้มในอดีต รวมกันแล้วได้ 800
มันมีนักกีฬาที่ทำแต้มได้ดี แต่ราคาถูกอยู่บ้างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สกอตต์ แฮตตี้เบิร์ก นักกีฬาจากโคโลราโด้ ร็อคกี้ส์ ที่โดนทีมปล่อยทิ้งเป็นผู้เล่นฟรีเอเยนต์ เพราะไม่ได้มีผลงานโดดเด่นอะไร แถมวิ่งก็ช้าอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม บิลลี่ บีน ไปดูสถิติปรากฏว่า จุดเด่นของแฮตตี้เบิร์กคือการทำแต้ม
ต่อให้ผลงานอย่างอื่นจะแย่แค่ไหน แต่เฉลี่ยเขาทำแต้มได้ 40 แต้มเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งนี่ล่ะคือสิ่งที่ บิลลี่ บีน ต้องการ
ดังนั้นทันทีตลาดซื้อขายเปิด เวลา เที่ยงคืน 1 นาที ของวันที่ 20 ธันวาคม 2001 พอล ดีโปเดสต้า โทรหาเอเยนต์ส่วนตัวของแฮตตี้เบิร์กทันที และบอกว่า โอ๊คแลนด์ พร้อมจ่ายค่าเหนื่อย 950,000 ดอลลาร์ต่อปี
ตัวแฮตตี้เบิร์กก็งงมาก ว่าโอ๊คแลนด์จะมาสนใจอะไรเขาที่อยู่ในขาลงแบบนี้ แต่ด้วยความที่ทีมอื่นก็ไม่ได้สนใจเขาอยู่แล้ว มันก็เป็นโอกาสทองที่เขาจะยังได้โอกาสเล่นในลีกต่อ จึงยอมเซ็นสัญญากับโอ๊คแลนด์ในที่สุดด้วยราคานี้
แฮตตี้เบิร์กโดนจับมาเล่นตำแหน่งเบสหนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของเจสัน จิอัมบิ โดยสิ่งที่ต่างกันลิบลับคือ ค่าเหนื่อย แฮตตี้เบิร์ก ค่าเหนื่อย 950,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วน จิอัมบิ ค่าเหนื่อย 17 ล้านดอลลาร์
แน่นอน คุณภาพมันไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่โอ๊คแลนด์ทำคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปมากกว่า 16 ล้านเหรียญ และได้นักกีฬาที่ มีสถิติทำแต้ม "ใช้ได้" เข้ามาสู่ทีม
ต่อด้วยตำแหน่งเอาต์ฟิลด์ ของจอห์นนี่ เดม่อน ทางโอ๊คแลนด์ก็กางสถิติออกมาดูว่า มีใครบ้างที่ยังว่างอยู่ ซึ่งก็ไปเจอเอา เดวิด จัสติซ ผู้เล่นวัย 36 ปี ของนิวยอร์ก ไม่มีทีมไหนสนแล้ว เพราะอายุเยอะแล้ว อย่างมากก็เล่นได้อีกแค่ 1 ปี
แม้จะอายุเยอะ แต่สถิติบอกชัดเจนว่า ค่าเฉลี่ยในการทำแต้มต่อปี ของจัสติซ ไม่เคยต่ำกว่า 50 แต้มเลย โดยตอนพีกสุดๆ เขาเคยทำได้ถึง 94 แต้ม ในปีเดียวมาแล้ว
บิลลี่ บีน ตอนแรกไม่สบายใจนัก เพราะจัสติซอายุเยอะแล้ว จริงอยู่ว่าผู้เล่นมีดีกรีระดับเวิลด์ซีรีส์ แต่อายุขนาดนี้ เขาไม่แน่ใจนักว่า จะไหวจริงๆกับเกมลีกร้อยกว่านัดตลอดซีซั่น
"เราต้องมองให้ถูกวิธีนะ" ดีโปเดสต้าเตือนบิลลี่ บีน "นี่คือการแข่งขันที่ทักษะ มันไม่ใช่การแข่งว่าใครแข็งแรงกว่าเสียหน่อย การที่อายุมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเขาจะมีทักษะที่ลดลง และสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่ผู้เล่นที่แรงเยอะ แต่เป็นผู้เล่นที่ทักษะดีพอจะทำแต้มให้เราได้ต่างหาก"
นั่นทำให้ บิลลี่ บีน เซ็นจัสติซในที่สุดด้วยราคาไม่แพงนัก 3.5 ล้านดอลลาร์ ในสัญญา 1 ปี ซึ่งก็ถูกกว่าที่จอห์นนี่ เดม่อน เรียกร้องเกินครึ่ง (8 ล้านดอลลาร์)
เช่นเดียวกับแรนดี้ วีลาร์เด้ ผู้เล่นเบสสอง วัย 39 ปี ที่หมดสัญญากับเท็กซัส เรนเจอร์ส ไม่มีทีมไหนเอาแล้ว แต่โอ๊คแลนด์ก็ไปคว้าตัวมาโดยจ่ายค่าตัวแค่ 1 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นั่นเพราะจากสถิติระบุว่า วีลาร์เด้ มีความสม่ำเสมอในการทำแต้ม เคยทำแต้มได้สูงสุด 105 แต้มในปีเดียว ขณะที่ค่าเฉลี่ยรวมๆก็ปีละ 40-50 แต้ม
ตำแหน่งพิชเชอร์ พวกเขาเสีย เจสัน ไอซิ่งเฮาเซ่น ไปให้เซนต์หลุยส์ คาร์ดินัลด์ แต่ก็ไปคว้าเอา บิลลี่ ค็อค มาแทน ซึ่งดีกรีนั้น ไอซิ่งเฮาเซ่นดีกว่าแน่นอน โดยค่าจ้างนั้น ไอซิ่งเฮาเซ่นเรียก 7 ล้านดอลลาร์ ส่วน บิลลี่ ค็อคขอแค่ 2.4 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
เรื่องเกมรับ เรื่องการตลาดต่างๆ ไอซิ่งเฮาเซ่นเด่นกว่า แต่ถ้าไปดูที่การทำแต้มล่ะก็ ในปี 2001 ไอซิ่งเฮาเซ่น ทำแต้มไป 24 แต้ม ส่วน บิลลี่ ค็อค ทำไป 39 แต้ม คือถ้าวัดที่เกมบุกอย่างเดียว ตัวใหม่ที่ได้มา ค่าจ้างถูกกว่า แถมเกมบุกดีกว่าด้วยซ้ำ
การหานักกีฬาระดับเกรดบี มาคนแล้วคนเล่า ทำให้ฤดูกาล 2002 ของโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เล่นที่แปลกประหลาดมากที่สุด นั่นคือไม่เด่นไม่ดังเอาซะเลย ทั้งทีมไม่มีสตาร์เลยสักคน แต่ทว่าถ้าดูจากสถิติตัวเลขแล้วล่ะก็ นี่คือกลุ่มผู้เล่นที่มีเกมรุกดีเยี่ยม และนับรวมๆแล้ว โอกาสที่จะทำแต้มได้เกิน 800 แต้ม ต่อฤดูกาลมีสูงมาก ถ้าหากนักกีฬาเหล่านี้เล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเองนะ
สำหรับดีโปเดสต้า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขาเชื่อว่าสถิติ มีความสำคัญ
และเมื่อทำได้ 800 แต้ม ก็แปลว่า ทีมก็ควรจะคว้าชัยชนะได้ 95 เกม ตามทฤษฎี และถ้าเป็นแบบนั้นจริง ทีมก็น่าจะเข้าเพลย์ออฟได้ต่อไป
สภาพทีมที่ เป็นศูนย์รวมของผู้เล่นเกรดบี และเกรดซี ทำให้โดนสื่อมวลชนและแฟนๆสับเละ ก่อนฤดูกาล 2002 จะเริ่ม
คุณกล้าปล่อยจิอัมบิ , เดม่อน และ ไอซิ่งเฮาเซ่น ออกจากทีม แต่ไปได้ใครมาไม่รู้ เป็นตัวที่ทีมอื่นโละทิ้งกันหมดแล้ว นี่คือไม่ได้หวังจะลุ้นแชมป์เลยหรืออย่างไร ทำไมไม่อัดเงินเข้าไปสู้แลกเป็นแลกตายเลย
แต่ที่โอ๊คแลนด์โดนด่าแรงๆ นั่นเพราะ แฟนๆ และสื่อท้องถิ่น ไม่เข้าใจถึงทฤษฎี Moneyball ต่างหาก
ทฤษฎี Moneyball คือการเอางบประมาณของตัวเองที่มีจำกัด เอามากางไว้บนโต๊ะ จากนั้นก็สรรหาผู้เล่นที่มีผลงานดี อ้างอิงจากสถิติ เพื่อเอามาแมตช์กับทีมให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้เกินงบที่ตั้งไว้เด็ดขาด
สิ่งสำคัญของการซื้อผู้เล่น ไม่ใช่ซื้อจากชื่อเสียง หรือคำร่ำลือจากสื่อมวลชน แต่ซื้อจากสถิติในสนามจริงๆ
เชื่อในสถิติ เชื่อในตัวเลข ไม่ได้เชื่อที่ความรู้สึก
ค่าเหนื่อยในฤดูกาล 2002 ที่โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ต้องจ่ายคือ 29.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าใช้เงินน้อยมากๆ ถูกกว่างบประมาณ 38 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งเอาไว้ตอนแรกเสียอีก ลองเทียบกับนิวยอร์ก แยงกีส์ ในปีนั้น ใช้เงินจ่ายค่าเหนื่อยมหาศาลถึง 125.4 ล้านดอลลาร์ มากกว่าโอ๊คแลนด์ 4 เท่าตัว
นั่นเพราะแนวคิดของสองทีมต่างกัน นิวยอร์ก ใช้งบประมาณมหาศาลดึงตัวท็อปของลีกมาเข้าทีม โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องงบประมาณ เพราะพวกเขาร่ำรวยอยู่แล้ว แต่โอ๊คแลนด์ที่มีเงินจำกัดจำเขี่ย ก็ต้องใช้กลยุทธ์ Moneyball ในการสร้างทีม
สรุปแล้ว ก่อนเข้าสู่ฤดูกาล 2002 บิลลี่ บีน ได้ทีมที่เขาต้องการครบ แม้มันจะไม่ถูกใจแฟนๆหรือสื่อมวลชนก็ตาม แต่ถ้าอ้างอิงจากสถิติของดีโปเดสตา และตัวเลขค่าเหนื่อยที่ซื้อนักกีฬาเข้ามาครบทีม แถมยังเหลืองบอีก ก็นับว่าน่าพอใจมาก
บิลลี่ บีน เปิดเผยว่า กฎเหล็กในการซื้อตัวของเขา ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย มี 5 ข้อด้วยกัน
1- สำหรับทีมที่ไม่มีเงิน อย่ามองการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะคุณไม่รู้ว่าจะมีอนาคตอยู่ถึงวันนั้นหรือเปล่า มองแค่ระยะสั้นก่อน
2- อย่าหาผู้เล่นแบบ Panic Buy ซื้อกระชั้นชิด เพราะมันทำให้คุณขาดความรอบคอบในการซื้อ แล้วจะเสียเปรียบคู่ค้าเสมอ
3- ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า นักกีฬาแต่ละคน คู่ควรกับค่าตัว และค่าเหนื่อยเท่าไหร่ อย่าปล่อยให้อีกฝ่ายโก่งราคาได้
4- ก่อนขึ้นโต๊ะเจรจา ต้องตั้งใจแน่วแน่ ว่าคุณจะเอานักกีฬาคนไหน ไม่ใช่พอไปเจรจาแล้วอีกทีมแนะนำ ว่าเซ็นตัวนี้ดีกว่าไหม เก่งเหมือนกันนะ ก็จะไขว้เขวตามเขา ต้องมั่นใจจริงๆ ก่อนเปิดฉากเจรจา
5- อย่าฟังสื่อมวลชน เชื่อมั่นในข้อมูลของตัวเอง ถ้าเชื่อเสียงรอบข้างเกินไป เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ทำอะไรตามกระแส
ตอนนี้ โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ได้ทีมที่ต้องการแล้ว และพร้อมลุย สำหรับฤดูกาล 2002 ที่กำลังจะมาถึง
ซีซั่นสตาร์ต ในช่วงแรกโอ๊คแลนด์ยังหาความลงตัวกันอยู่ เดือนเมษายนแข่งไป 26 เกม สถิติชนะ 15 แพ้ 11 ก็ถือว่ากลางๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร
จากนั้นเดือนที่ 2 ฟอร์มยิ่งแย่หนักลงไปกว่าเดิม จบเดือนพฤษภาคม โอ๊คแลนด์ ชนะ 25 แพ้ 28 คือแพ้มากกว่าชนะเสียอีก
อย่างไรก็ตาม พอเข้าเดือนที่ 3 เมื่อนักกีฬาของทีม เริ่มเข้าขากันมากขึ้น ฟอร์มคราวนี้ ก็พุ่งพรวดอย่างชัดเจนมาก เริ่มมีการชนะติดต่อกัน (Streak) มากขึ้นเรื่อยๆ จบเดือนมิถุนายน มีสถิติ ชนะ 46 แพ้ 35
จากนั้นเข้าสู่เดือนสิงหาคม ตอนนี้ทีมลงตัวแล้ว เกมรุกแกร่งมาก เกมรับก็ไม่พลาด โอ๊คแลนด์ชนะคู่แข่งติดต่อกัน 19 เกม จนมาถึงเกมที่สำคัญมากๆ คือการเจอกับ แคนซัส ซิตี้ รอยัลส์
โดยตอนนี้ โอ๊คแลนด์ ทำสถิติชนะติดต่อกัน 19 นัด เท่ากับนิวยอร์ก แยงกีส์ ที่เคยทำไว้ในปี 1947 มันแปลว่า ถ้าโอ๊คแลนด์ชนะเกมนี้ พวกเขาจะเป็นทีมแรกในรอบ 55 ปีของเมเจอร์ลีก เบสบอล ที่ชนะได้ 20 นัดติดต่อกัน
สถิติเหมือนจะสร้างไม่ยาก เมื่อผ่านไป 4 อินนิ่ง โอ๊คแลนด์นำไป 11-0 ซึ่งว่ากันตรงๆ เกมก็ควรจะจบง่ายๆแล้ว นำห่างขนาดนี้
แต่พอเข้าอินนิ่งที่ 5 แคนซัสมีฮึดขึ้นมา และทำแต้มไล่จี้มาเรื่อยๆ และไม่มีใครอยากจะเชื่อ พวกเขาตีเสมอ 11-11 ได้สำเร็จ
1
โอ๊คแลนด์ช็อตไปเลย เกมรุกเล่นไม่ออก เกมรับโดนทะลวงกระจุย คือกลับมาโดนตีเสมอได้ยังไง เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากๆ
แคนซัส ซิตี้ เล่นจบอินนิ่ง 9 ไปแล้ว ถึงคราวที่ โอ๊คแลนด์จะเล่นอินนิ่ง 9 บ้าง ซึ่งถ้าทำคะแนนเพิ่มไม่ได้ ก็ต้องต่อเวลาพิเศษออกไปที่อินนิ่ง 10 แต่ดูจากโมเมนตั้มแล้ว ถ้าต่อเวลาออกไปโอกาสแพ้มีมากกว่าชนะเยอะเลย
1
แบตเตอร์คนแรก เจอร์เมน ดาย ตีฟลายบอล เป็น Out เสียไปก่อนคนแรกฟรีๆ มาสู่คนที่ 2 คือสกอตต์ แฮตตี้เบิร์ก ผู้เล่นราคา 950,000 ดอลลาร์ ที่ไม่มีใครเอาในช่วงตลาดซื้อขาย แต่บิลลี่ บีน ไปคว้าตัวมาเพราะมีสถิติทำแต้มที่ดี
แฮตตี้เบิร์ก ดวลกับเจสัน กริมสลีย์ พิชเชอร์ของแคนซัส กริมสลีย์ขว้างบอลเร็วพุ่งมาเหลี่ยมใน ปรากฏว่า แฮตตี้เบิร์กเอี้ยวตัว แล้วหวดเปรี้ยงเดียว บอลลอยวาบขึ้นสแตนด์ทันที กลายเป็นวอล์กออฟโฮมรัน ตีลูกนี้จบเกมไปเลย โอ๊คแลนด์ เอาชนะไปด้วยสกอร์ 12-11
โอ๊คแลนด์ทีมที่มีงบประมาณน้อยที่สุดของลีก กับตัวผู้เล่นเกรดบีทั้งทีม เอาชนะคู่แข่งได้ 20 เกมติดต่อกัน ทำลายสถิติเดิมของนิวยอร์ก แยงกีส์ ทีมที่มีงบประมาณมากที่สุดในลีกได้สำเร็จ
จบฤดูกาล โอ๊คแลนด์ ทำสถิติชนะ 103 นัด แพ้ 59 นัด ที่เหลือเชื่อก็คือมีผลงานดีกว่ายิ่งกว่าปีที่แล้ว ที่เต็มไปด้วยสตาร์เสียอีก
และจุดที่น่าสนใจมากๆ คือ "แต้มรวม" ที่โอ๊คแลนด์ทำได้ ใน 162 นัด ในลีก
พวกเขาทำได้ 800 คะแนนเป๊ะ ตามที่พอล ดีโปเดสต้าคำนวณด้วยทฤษฎี Moneyball พอดีเลย
จากเรื่องนี้ มีสิ่งที่เราเห็น 2 ข้อ
ข้อแรกคือเรื่อง "สถิติ" ถูกเอามาใช้ในวงการกีฬาตลอดเวลา เช่นเดียวกับในวงการอื่นๆด้วย
เพราะชื่อเสียงมันสามารถปรุงแต่งกันได้ ตามแต่ความรู้สึกของคนที่พบเห็น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้แน่ๆ และมีหลักฐานชัดเจน คือ "ตัวเลข"
ของบางอย่าง หรือคนบางคน อาจจะดูภาพลักษณ์ธรรมดา แต่เมื่อดูจากผลงานที่จับต้องได้ เราก็รับรู้ได้ว่า เออ ของสิ่งนี้ หรือคนคนนี้ ความจริงแล้วอาจมีคุณค่าสูงมากก็ได้
และข้อสอง คือสัจธรรมของโลกนี้ ทุกคนรู้กันอยู่แล้วคือ ปลาใหญ่ย่อมได้เปรียบปลาเล็ก
เพราะมันตัวใหญ่กว่า ว่ายน้ำเร็วกว่า เหมือนในโลกธุรกิจ คนที่มีเงินทุนมาก ย่อมทำอะไรก็ง่ายกว่า คนที่ทุนทรัพย์น้อย
แล้วสิ่งที่ปลาเล็กต้องทำ หากอยากชนะในเกมนี้คืออะไรล่ะ
คำตอบคือ เราก็ต้องเป็นปลาเล็กที่ฉลาดไง
#Moneyball
โฆษณา