21 เม.ย. 2020 เวลา 05:12 • ความคิดเห็น
ภาพสะท้อนแง่คิดจากกรณี "จ่าจำปา" ....จับตา 4 + 1 อำนาจสั่นสะเทือนชะตาชีวิต
เมื่อ 5 วันก่อน ตอนที่ผมเห็นคลิปข่าวของ "จ่าจำปา" (จ่าสิบเอก พีรศักดิ์ จำปา) นายทหารชั้นประทวนที่ปรากฎภาพโต้แย้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ณ บริเวณด่านตรวจรอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช โดยจ่าสิบเอกรายดังกล่าวพยายามขอผ่านด่าน แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธว่าเป็นด่านที่ห้ามผ่านเด็ดขาด แม้ว่าจ่าสิบเอกพีรศักดิ์จะบอกว่ามีหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชาก็ตาม อันเป็นคลิปข่าวที่นำเสนอโดยสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง ผมดูตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นดราม่าใหญ่โตให้ต้องติดตาม คงเพียงแค่สะกิดใจนิด ๆ กับคำกล่าวของผู้ว่าฯ ที่ว่า "คำสั่งผมใหญ่กว่า พ.ร.ก." ที่ดูเหมือนสื่อผู้นำเสนอจะตั้งใจตัดเอามาเป็นทีเซอร์ตั้งแต่ช่วงเปิดตัวคลิป กับพาดหัวข่าวที่อ่านแล้วเหมือนจะดุเดือด แต่พอเข้าไปดูก็พบว่าระดับความขัเแย้งมิได้รุนแรงเท่าพาดหัว ก็เลยมองว่าคงเป็นเทคนิคการนำเสนอตามสไตล์ของสื่อรายนั้นที่เห็นเสนอข่าวหยิกทหารอยู่หลาย ๆ ครั้ง
แต่หลังจากนั้น มีเหตุการณ์อันเป็นผลพวงตามมา คือ จ่าสิบเอกพีรศักดิ์ ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์ จำขัง 45 วัน เต็มอำนาจของผู้สั่ง และงดการพิจารณาบำเหน็จประจำปีด้วย แล้วปรากฎข้อเท็จจริงต่อมาว่า เหตุที่จ่าจำปาพยายามขอใช้เส้นทางผ่านด่านดังกล่าว ก้เพื่อไปดูแลมารดาที่กำลังป่วย จนกลายเป็นกระแส #จ่าทหาร #saveจ่าจำปา เนื่องจากสังคมมองว่า จ่าแกได้รับความไม่เป็นธรรมและถูกกระทำเกินกว่าเหตุ ทั้งกรณีที่ผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ที่ด่านไม่ฟังเหตุผล ไม่สนใจแม้แต่เอกสารที่จ่าจำปายกขึ้นแสดงว่าเป็นหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา รวมถึงการสั่งลงทัณฑ์ของผู้บังคับบัญชาที่ราวกับเป็นปฏิกริยาทันทีทันใดจนสร้างข้อกังขาให้หลายคนว่าได้มีการดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้วหรือไม่ อย่างไร ก่อให้เกิดแรงเสียดทาน จนดูเหมือนผู้บังคับบัญชามีท่าทีอ่อนลง โดยอนุญาตให้เบิกตัวจ่าจำปาที่อยู่ระหว่างรับทัณฑ์ให้กลับไปเยี่ยมมารดาได้ แม้จะยังยืนยันว่าต้องลงทัณฑ์เพราะจ่าแกทำผิดวินัยทหารเนื่องจากใช้กริยาวาจาไม่สมควร แต่ก็มีข่าวว่า ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงอาจจะพิจารณาทบทวนคำสั่งลงทัณฑ์นั้นอีกทีหนึ่ง
จากเรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 - 5 วันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เรียกได้ว่า มีพลังอำนาจเขย่าชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้ ซึ่งปรากอยู่ในเหตุการณ์แต่ละช่วงเวลา ที่ผมแบ่งเป็น 4 อย่าง คือ
1. พลังอำนาจของสื่อมวลชน จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นการลุกลามของเรื่องราวนี้ มาจากคลิปสั้น ๆ ความยาวสามนาทีเศษที่สื่อออนไลน์รายหนึ่งนำเสนอ จนนำสู่การลงทัณฑ์ ซึ่งทราบจากวงในว่า เอกสารของกองพลทหารราบที่ 5 ต้นสังกัดที่แจ้งเรื่องการลงทัณฑ์โดยกำหนดชั้นความเร่งด่วน ด่วนที่สุด นั้น ระบุจุดเริ่มต้นว่า เกิดจากนายทหารประทวนรายดังกล่าวตกเป็นข่าวในสื่ออนไลน์ โดยอ้างถึงคลิปข่าวดังกล่าวอย่างชัดเจน ทำให้มองได้ว่า แม้การกระทำของกำลังพลดังกล่าวอาจถือเป็นความผิดวินัยซึ่งอาจถูกพิจารณาลงทัณฑ์ได้อยู่แล้ว แต่การที่จ่าจำปาถูกลงทัณฑ์สถานหนักดังกล่าวนั้น เป็นผลจากการตกเป็นข่าวที่ถูกนำเสนอดังกล่าวด้วย เพราะลำพังแค่การใช้กริยาวาจาไม่เหมาะสม แม้จะแสดงออกต่อข้าราชการผู้ใหญ่ ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดหนักหนาถึงกับต้องสั่งขังเต็มอำนาจเป็นการเร่งด่วน แล้วยังมีการงดพิจารณาบำเหน็จด้วย
และต่อมา หลังจากที่จ่าจำปาถูกลงทัณฑ์ และปรากฎข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนอีกหลายรายนำเสนอเกี่ยวกับอาการป่วยของมารดาของเขา ก็ทำให้มีการหยิบยื่นความช่วยเหลือ โดยเฉพาะจากเพืื่อนกำลังพลนายทหารชั้นประทวน เพื่อนร่วมรุ่น รวมถึงผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ไม่ปรากฎการหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างชัดเจนแบบนี้มาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า สื่อมวลชนคือพลังสำคัญที่ทำให้มีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือครอบครัวของจ่าจำปาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
2. อำนาจของผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความสำคัญในระบบทหารมาตั้งแต่อดีต เพราะต้องปกครองด้วยความเด็ดขาดเพื่อรักษาระเบียบวินัย โดยอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหารนี้ได้รับการรองรับโดยกฎหมายสำคัญ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งหากมองในมุมกว้างแล้ว อำนาจการบังคับบัญชานี้มิได้มีผลเฉพาะในเรื่องการทำงานของทหารเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อชีวิตประจำวันในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ๆ ยกตัวอย่างกรณีการลงทัณฑ์จำขัง โดยเฉพาะการจำขังหลาย ๆ วันอย่างเคสของจ่าจำปาที่โดนไป 45 วัน (เดือนครึ่ง) ที่หมายถึงการที่ชีวิตถูกจองจำในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเป็นการจำขังตลอดเวลามิได้ขังเฉพาะวันเวลาราชการ ยังมิรวมถึงคำสั่ง การปฏิบัติการต่าง ๆตามภารกิจหน้าที่ของทหารซึ่งหลาย ๆ ครั้งต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว ดังนั้นจึงคงเป็นเครื่องสนับสนุนภาพสะท้อนที่ว่า อำนาจของผู้บังคับบัญชามีผลต่อชีวิต ทั้งชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา และครอบครัว ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเป็นคำสั่งที่ถูกที่ชอบที่ควรก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมากนัก แต่หากเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมหรือเกินกว่าเหตุ ก็จะเป็นภาระหรือผลเสีย และกลายเป็นตราบาปของผู้น้อยโดยไม่มีเหตุอันควร
1
3. อำนาจของกระแสสังคม ซึ่งเห็นได้ทั้งจากเคสของจ่าจำปา และหลาย ๆ เคส ที่โซเชียลมีส่วนช่วยตรวจสอบ ผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลหลาย ๆ เรื่องให้กลับเข้าที่เข้าทาง อย่างเรื่องของจ่าจำปานี้ จากกระแส #จ่าทหาร #saveจ่าจำปา แม้จะไม่ได้ช่วยให้จ่าจำปาพ้นจากโทษทัณฑ์ที่ได้รับ แต่ก็ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมจนอาจนำสู่การพิจารณาทบทวนตามข่าวที่ผมยกขึ้นกล่าวตอนต้น และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการเข้าไปดูแล ช่วยเหลือมารดาและครอบครัวของจ่าจำปา ไม่น้อยไปกว่าพลังของสื่อมวลชนเลยทีเดียว
4. อำนาจแห่งมิตรภาพ นี่เป็นปรากฎการณ์ที่อาจเห็นไม่บ่อยนัก แต่ก็ปรากฎขึ้นในกรณีของจ่าจำปานี้ คือ หลังเกิดเหตุ ทราบว่ามีทั้งอดีตผู้บังคับบัญชา เพื่อนกำลังพล โดยเฉพาะกำลังพลนายทหารชั้นประทวนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก ที่เรียกว่า NCO. เช่นเดียวกับจ่าจำปา ได้พากันขยับออกมาทั้งพยายามปกป้อง ช่วยเหลือจ่าจำปาและครอบครัว ในประเด็นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกลงทัณฑ์ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ Facebook ของ "นักรบ กวีปืน" ได้โพสต์ภาพที่ตัวแทนนายทหารประทวน ได้รวบรวมเงินที่เพื่อนพี่น้อง NCO. รวมถึงประชาชนที่ทราบข่าวแล้วสนับสนุนเงินช่วยเหลือ รวมหนึ่งแสนบาทถ้วน มอบให้มารดาของจ่าจำปาเป็นค่ารักษา เป็นภาพที่เห็นแล้วอดไม่ได้ที่จะตื้นตันและซาบซึ้งกับพลังแห่งมิตรภาพ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพลังที่มีผลต่อชีวิตคน ๆ หนึ่ง
ทั้งสี่ข้อที่ยกมา เป็นพลังอำนาจจากภายนอก แล้วยังมีอำนาจจากภายในอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อชีวิต ก็คือ พลังแห่งอารมณ์ความรู้สึก ที่ผลักดันให้แสดงออกมาเป็นปฏิกริยาอาการ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็มีผลต่อผู้แสดงออกเองด้วย ดังเช่นกรณีของจ่าจำปา ที่หากดูคลิปก็จะเห็นว่ามีบางช่วง ที่แสดงกริยาอาการไม่สบอารมณ์มาด้วย จนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งนำสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พลังอำนาจทัั้งสี่ประการที่เป็นพลังภายนอก และอีกหนึ่งอย่างที่เป็นพลังภายใน ซึ่งผมยกขึ้นเป็นข้อสังเกตว่า เป็นภาพสะท้อนจากกรณีของจ่าจำปานั้น เป็นเสมือนดาบสองคมที่มีด้านบวกด้านลบอยู่ในตัวเอง ขึ้นอยู่กับการใช้ว่าจะใช้ในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงให้มาก ๆ ก็คือ ชะตาชีวิตของผู้ที่จะได้รับผลจากการใช้พลังอำนาจเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นก็คงเป็นเรื่องน่ายินดี ภูมิใจ แต่ตรงข้าม ถ้าก่อให้เกิดผลร้าย ก็น่าจะทบทวนดูว่า สังคมจะได้รับประโยชน์อะไรหรือไม่
ปล. เขียนเรื่ิองหนัก ๆ อีกแล้ว เดี๋ยวคอนเทนต์ต่อ ๆ ไปจะผ่อนคลายสลับให้เหมือนเดิมนะขอรับ 😅😁😊
ขอบคุณภาพปกบทความจาก mgronline, Ch3Thailand , Facebook "นักรบ กวีปืน"
โฆษณา