๒ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ (๒)
3
ต่อจาก พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ
พระสังฆคุณ
สาวกตามความหมายในบทสังฆคุณ กล่าวเฉพาะอริยสาวกเท่านั้น
สาวกของพระองค์มี ๒ จำพวก
๑. ปุถุชนสาวก ได้แก่ ปุถุชนผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรม
๒. อริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ประเสริฐ
คือสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว เป็นชั้นอริยะหรืออริยสาวก จัดเป็น ๔ คู่ ตามลำดับธรรมที่บรรลุ
๑. โสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผล
๒. สกิทาคามิมรรคและสกิทาคามิผล
๓. อนาคามิมรรคและอนาคามิผล
๔. อรหัตมรรคและอรหัตผล
ถ้าจัดเป็นรายบุคคลได้เป็นอริยบุคคล ๘ หรือพระอริยสาวก ๘
พระอริยบุคคล บำเพ็ญกิจถูกส่วน เห็นดวงใสเข้าถึงกายต่าง ๆ จนถึงกายธรรมเป็นชั้น ๆ ไป เมื่อดวงธรรมกายมนุษย์ขยายออก ได้ปฐมฌาน ใจธรรมกายน้อมไปในละเอียดขึ้น เกิดฌานใหม่ขึ้นเป็นลำดับ จนถึงฌานที่ ๘ เรียกเข้าฌานโดยอนุโลม แล้วย้อนกลับจับแต่ฌานที่ ๘ ถอยหลังมา ๑ เรียกปฏิโลม ทำดังนี้ ๗ หน
ธรรมกายอยู่บนฌานที่ ๘ ตั้งแต่ ๑-๘ ตาธรรมกายดูอริยสัจ ๔ ถูกส่วนเข้าธรรมกายก็ตกศูนย์ เป็นดวงใส ศูนย์นั้นกลายเป็นธรรมกายพระโสดา
ธรรมกายโสดาเข้าฌาน เห็นอริยสัจ ๔ ในกายทิพย์ ตกศูนย์เป็นพระสกิทาคามี
ธรรมกายสกิทาคามีเข้าฌาน เห็นอริยสัจ ๔ ในกายรูปพรหม ตกศูนย์เป็นพระอนาคามี
ธรรมกายอนาคามีเข้าฌาน เห็นอริยสัจ ๔ ในกายอรูปพรหม ตกศูนย์เป็นพระอรหัต
ขั้นพระโสดาละกิเลสได้ ๓ คือ
๑. สักกายทิฏฐิ ละได้เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขารเป็นเรือนอาศัยชั่วคราว แต่ธรรมกายเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา
๒. วิจิกิจฉา เพราะเข้าถึงธรรมกาย ถอดกายที่เป็นโลกีย์ได้เป็นพระรัตนตรัยแล้ว
๓. สีลัพพตปรามาส เมื่อเป็นพระรัตนตรัย ท่านไม่ยึดมั่นศีลและวัตรนอกศาสนาแล้ว
ขั้นพระสกิทาคา ละเพิ่มอีก ๒ คือ
๑. กามราคะ ได้แก่ ความกำหนัดยินดีในวัตถุกาม และกิเลสกาม
๒. พยาบาทอย่างหยาบ ได้แก่ การผูกใจโกรธ
พระอนาคามี ละกามราคะพยาบาทอย่างละเอียด
พระอรหัตละกิเลสทั้ง ๕ ดังกล่าวได้โดยสิ้นเชิงและสังโยชน์เบื้องบน ๕ คือ ๑. รูปราคะ คือความกำหนัดยินดีในรูปฌาน
๒. อรูปราคะ คือความกำหนัดยินดีในอรูปฌาน
๓. มานะ คือความถือตน
๔. อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน
๕. อวิชชา คือความมืด ความโง่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจาสมุปบาทธรรม และอริยสัจ จึงรวมเป็น ๑๐ ประการที่พระอรหัตละได้
พระอริยบุคคลจึงเป็นผู้ที่ :-
๑. สุปฏิปนฺโน ท่านปฏิบัติดีแล้ว คือ ปฏิบัติตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางตามที่พระบรมศาสดาดำเนินมาแล้ว ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป ๒. อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติแล้วตรง คือ การปฏิบัติมุ่งตรงสู่พระนิพพานไม่วอกแวกไปทางอื่น
๓. ฌายปฏิปนฺโน ปฏิบัติมุ่งเพื่อรู้ธรรมที่จะออกจากภพ ๓ โดยแท้
๔. สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานจริง ๆ
๕. อาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรเคารพสักการะ
๖. ปาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ
๗. ทกฺขิเณยฺโย จึงเป็นผู้ควรรับของที่เขาทำบุญ
๘. อญฺชลีกรณีโย จึงสมควรกราบไหว้
๙. อนุตตรํ ปุญฺญกฺเขตตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ไม่มีอื่นจะดีกว่าอีกแล้ว
แม้กาลเวลาผ่านมานาน ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับผลอย่างที่ท่านได้รับ นอกจากคำกล่าวอ้างของคนเกียจคร้าน
คำว่า “อกาลิโก” เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ ย่อมจะเกิดผลทุกเมื่อ
ดังนั้นปัญหาจึงเหลือว่า พวกเราจะปฏิบัติจริงหรือไม่เท่านั้น
ดังพรรณนามานี้ พึงระลึกว่าพระโอวาทในเรื่องบูชา พระองค์สรรเสริญ “ปฏิบัติบูชา” มากกว่า “อามิสบูชา” (บูชาด้วยเครื่องสักการะ)
อย่าเพียงแต่ท่องจำ อิติปิโส ภควา... หรือเพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเหล่านี้ แต่ให้มุ่งอิทธิบาท ๔ ปักใจ บากบั่นิวิจารณ์ และทดลอง โดยเฉพาะในการบำเพ็ญสมาธิภาวนา
พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
ว่าด้วยรัตนะ
“รตนตฺตยํ” แปลว่า หมวดสามแห่งรัตนะ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ประเสริฐกว่าสวิญญาณกรัตนะในไตรภพ เพราะเป็นของทำความดีให้แก่โลกทั้งสาม
กามโลก มีรัตนะ คือ เพชร แก้วทั้งเป็นและตาย
“แก้วเป็น” ที่เป็นรัตนะเจ็ดของจักรพรรดิ
รูปโลก มีรัตนะให้แสงสว่างในโลกของเขา
อรูปโลก มีรัตนะให้แสงสว่างในโลกของเขา
รัตนะ จึงเป็นของทำความยินดีและปลื้มใจแก่มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม ได้เท่ากำลังของรัตนะนั้น ๆ
“รัตนะเป็น” ทำให้มีขึ้นได้ด้วยความเพียร ระวังกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ทวีขึ้นอย่าหยุด จนเห็น “ศูนย์” ที่กลางตัวเหนือสะดือ ๒ นิ้วมือเรียก “ดวงปฐมมรรค” มีขนาดต่าง ๆ กัน โตไม่เกินดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เล็กไม่เกินดวงตาดำข้างใน ให้หมั่นเอาใจจรดอยู่ที่ดวงนี้ ในอิริยาบถทั้งสี่เท่านั้น
ใจหยุดกลางดวงปฐมมรรค จะเข้าถึงกายในกายตามลำดับ
“หยุดให้มากที่สุดก็เจริญที่สุด หยุดต้องมีกลเม็ด หยุดดับหยาบไปหาละเอียดรำไป ไม่ใช่หยุดแล้วไม่ทำอะไร ทำหยุดในหยุดนั้นแหละหนักขึ้นทุกที ไม่มีเวลาหย่อนจึงจะเจริญถึงที่สุดเร็ว”
แล้วจะเข้าถึงธรรมกาย เป็นกายสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ผู้ใดทำกายนี้ได้ ได้ชื่อว่าเป็นอนุพุทธเจ้า ตามพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้ามีหลายจำพวก
-สัพพัญญพุทธเจ้า
-ปัจเจกพุทธเจ้า
-สาวกพุทธเจ้า
-สุตพุทธเจ้า
-พหูสุตพุทธเจ้า
-อนุพุทธเจ้า
พระรัตนตรัยและการเข้าถึง (โดยย่อ)
พระรัตนตรัย “รัตนะ” แปลว่า แก้ว
ในที่นี้ หมายถึงแก้วที่ประเสริฐ เช่น แก้วมณีโชติรส ใครมีไว้ย่อมอิ่มอกอิ่มใจยิ่งกว่าทรัพย์ใด ๆ ในโลก
การเข้าถึงพระรัตนตรัย ก็ชื่นใจ อิ่มใจนัก
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต
-ร่างกายพระสิทธัตถะ ไม่ใช่พุทธรัตนะ ทรงทำความเพียรถึง ๖ พรรษา จึงพบรัตนะในพระองค์คือ “กายธรรม” มีสันฐานเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจก ปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกาย
ในอัคคัญญสูตร สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ยืนยันความไว้เช่นกันว่าธรรมกายนี้เป็นชื่อตถาคตโดยแท้
ภาพพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระวักกลิ โดย อาจารย์คำนวณ ชานันโท
ส่วนเรื่องพระวักกลิกล่าวถึง
“ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” จึงหมายความว่า
-ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ผู้นั้นเห็นเราคือตถาคต หรือ
-ผู้ใดเห็นดวงธรรมนี้ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า หรือ
-ผู้ใดเห็นธรรมกายผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นพระวักกลิอยู่ใกล้ ๆ พระองค์ หากดูด้วยตาธรรมดาก็ควรจะเห็นได้ แต่ที่แลเห็นเป็นแต่เปลือกของพระองค์ และยังตรัสว่าเป็นกายที่เปื่อยเน่า
“เรา” ในที่นี้ จึงหมายถึง “กายภายใน” คือธรรมกายนั่นเอง
“ผู้ที่ปฏิบัติจะตอบปัญหานี้ได้ด้วยตนเอง”
-ธรรมกายมีสีใสเหมือนแก้วชื่อว่า “พุทธรัตนะ”
-ธรรมที่กลั่นออกจากหัวใจธรรมกาย ชื่อว่า “ธรรมรัตนะ”
-ดวงจิตของธรรมกายชื่อ “สังฆรัตนะ”
ทั้งสามมีความเกี่ยวเนื่องกัน พรากจากกันไม่ได้ ผู้ใดเข้าถึงพุทธรัตนะ ก็ได้ชื่อว่า เข้าถึงธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะด้วย
การเข้าถึงพระรัตนตรัย
เพียงแต่เลื่อมใส ท่องบ่น ปฏิญาณตนยังไม่เรียกว่า “เข้าถึง” อย่างมากก็เรียก “ขอถึง"
การจะเข้าถึง ต้องบำเพ็ญเพียรตามพระบรมศาสดา จนบรรลุกายธรรม ด้วยการเพียรเสมอในทุกอิริยาบถ อย่าหยุด อย่าท้อแท้ ผลจะเกิดวันหนึ่ง คือ รู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตัวเอง
การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่พ้นวิสัยของมนุษย์ เพราะในปัจจุบัน ผู้ที่ได้ธรรมกายก็มีอยู่มากถามเขาเหล่านั้นได้ว่า ผู้ที่ได้ธรรมกายมีความอิ่มเอิบและสุขกายใจเพียงไหน จะได้รู้ด้วยว่าศีล สมาธิ ปัญญา จริงแค่ไหน
ตนเป็นที่พึ่งของตน
อัตตา (ตน) มี ๒ อย่างคือ
๑. อัตตาสมมติ คือ กายโลกีย์ตั้งแต่กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม เพราะมีการเกิดตาย
๒. อัตตาแท้ คือ กายโลกุตตระหรือธรรมกาย
“ธรรมกายนี้แหละคืออัตตาแท้หรือตนแท้”
การรักษาไตรทวาร
“ไตรทวาร” แปลว่า ประตูทั้งสาม หมายถึง กาย วาจา ใจ
กาย วาจา ใจ เป็นทวาร เพราะความดีและความชั่วลอดเข้าไปถึงจิตทางนี้
ความชั่วเป็นทุจริต
ความดีเป็นสุจริต
วิธีที่จะเข้าไปมีอาการไหวก่อนเรียกว่า “วิญญัติ”
กายวิญญัติ ไหวทางกาย
วจีวิญญัติ ไหวทางวาจา
มโนวิญญัติ ไหวทางใจ
อะไรบังคับให้ไหว?
สังขาร คือ ความรู้สำนึกคิดปรุงแต่ง มี ๓ จำพวก คือ
๑. กายสังขาร บังคับทางกาย
๒. วจีสังขาร บังคับทางวาจา
๓. จิตสังขาร บังคับทางใจ
มีทางเกิดเป็น ๒ ฝ่าย
๑. ฝ่ายทุจริต เกิดจาก อวิชชาและ อาสวะ เป็นดวงดำมืด เป็นฝ่ายชั่ว (ดำ) ภาคมารคอยอำนวยการให้มืด
๒. ฝ่ายสุจริต เกิดจาก วิชชา และ อนาสวะ เป็นดวงขาวใส ซ้อนอยู่ในดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เป็นฝ่ายดี (ขาว) ภาคพระอำนวยการให้สว่าง
เราจึงคอยบำเพ็ญสมาธิ ให้ดวงขาวใสปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกายเสมอ ประกอบแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ เวลาจะตายถ้าตกไปอยู่ฝ่ายดำ เรียกว่า หลงตาย จะไปทุคติ จึงเป็นการจำเป็นที่ต้องระวัง ให้อยู่ฝ่ายขาว
ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเป็นที่พึ่งอันสูงสุดของเราเท่านั้น
อ้างอิง : หนังสือ สาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๑๓ - ๑๗
โฆษณา