23 เม.ย. 2020 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรียนรู้ เคบิน ฟีเวอร์ – Cabin Fever อาการเบื่อบ้านที่แทรกความร้ายแรง
เรียนรู้ เคบิน ฟีเวอร์ – Cabin Fever อาการเบื่อบ้านที่แทรกความร้ายแรง
วันที่ 22 เมษายน 2563 การแถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 จาก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแม้สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ยอดผู้ป่วยรายใหม่จะลดลง ย้ำยังจำเป็นต้องร่วมมือขอให้ทุกท่าน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้องกันการแพร่โรค ถ้าทุกท่านประมาทในการใช้ชีวิต ยอดผู้ป่วยรายใหม่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ทำให้กิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมนอกบ้าน ต้องทำการหยุดอย่างไม่มีกำหนดและแปรผันมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ จึงทำให้การมีเวลาอยู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางท่านอาจจะได้รับผลกระทบในส่วนของการทำงานที่ไม่สามารถทำที่บ้านได้ อาจจะถูกพักงาน ถูกเลิกจ้าง และส่งผลกระทบไปยังรายได้ที่จะเข้ามา ด้วยภาระและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทำให้เกิดความเครียด จนจะเกิดความรู้สึกอึดอัด ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า เคบิน ฟีเวอร์ – Cabin Fever หรือ อาการเบื่อบ้าน
โดยรายงานจาก CNN ระบุว่า “Cabin Fever” เดิมทีเป็นการพูดถึงคนที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกล หรืออาศัยอยู่ในกระท่อมในแถบอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาหลาย ๆ วัน
ซึ่ง Vaile Wright นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์วิจัย American Psychological Association กล่าวว่า “Cabin Fever” หรือสภาพกดดันทางจิตใจที่ต้องอยู่แต่ในบ้านนี้ ไม่ใช่อาการทางจิต กล่าวคือ อาการนี้อาจไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางด้านลบและความทุกข์ใจที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง และแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่ผิดแปลก กระสับกระส่าย และไม่มีสมาธิ
นักจิตวิทยาบอกว่า บุคลิกภาพและอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญว่าจะพัฒนาอารมณ์เหล่านี้ได้รวดเร็วแค่ไหน หากธรรมชาติของคุณเป็นคนที่ชอบสิ่งแวดล้อมภายนอก และไม่คุ้นเคยกับการอยู่บ้าน ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกแบบนี้ได้
Paul Rosenblatt นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวิชาสังคมศาสตร์ครอบครัวที่มหาวิทยาลัย Minnesota ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง “Cabin Fever” มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 กล่าวว่า คนบางคนก็เกิดอาการเหล่านี้ได้ทันที กล่าวคือ เมื่อพวกเขานึกถึงว่าจะต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ๆ ก็เกิดอาการวิตกกังวลแล้ว
ส่วนบรรดาคนที่มองเห็นว่าการกักกันตัวเองนั้น ทำให้มีเวลาได้ทำความสะอาดบ้าน จัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า หรือหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ ก็อาจเกิดอาการ “Cabin Fever” ช้ากว่าคนอื่น
แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มไหน ทั้ง Wright และ Rosenblatt แนะนำหลายวิธีที่คุณสามารถลดความตึงเครียดและความรู้สึกที่ถูกจำกัดอยู่ในบ้านของตัวเอง ไว้ดังต่อไปนี้
วิธีจัดการ Cabin Fever
Establish a routine – สร้างกิจวัตรประจำวัน
ควรตื่นนอนตามเวลาเดิม รับประทานอาหาร และทำทุกอย่างเป็นปกติตามตารางเวลาเดิมเท่าที่จะสามารถทำได้ แทนที่จะทำเหมือนว่าการกักตัวเองนี้เป็นวันหยุดพักผ่อน
Mix up your space a bit – จัดบ้านใหม่
การอยู่ในบ้านที่ตกแต่งแบบเดิม ๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดอาการกดดันทางจิตใจ ดังนั้นการย้ายข้าวของ จัดบ้านใหม่ อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
Stay physically and mentally active – ออกกำลังกายและใจสม่ำเสมอ
หากคุณไม่ได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง การเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้หมายความว่าคุณออกไปไหนไม่ได้ ดังนั้น การได้ออกไปข้างนอก รับอากาศบริสุทธิ์ และเดินเล่นบ้าง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
Connect with others – ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง
การพูดคุยติดต่อกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในช่วงการกักตัวและแยกตัว สิ่งที่ท้าทายที่สุดในขณะนี้ คือการที่ไม่สามารถพบเจอกันได้ ดังนั้น การส่งข้อความคุยกัน โทรศัพท์หากัน คุยกันผ่านกล้องวีดีโอ การเข้าร่วมชุมชนออนไลน์ อาจช่วยให้คลายเหงาหรือหงุดหงิดได้
But find time to separate, too – หาเวลาความเป็นส่วนตัว
ในบางครั้ง ความท้าทายของ “Cabin Fever” คือ ตัวคุณอาจไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่คุณอยู่ด้วยอาจมีอาการนี้แบบรุนแรง ดังนั้น ครอบครัวหรือคู่รักควรสร้างความสมดุลในการอยู่ร่วมกันและการแยกกัน การติดอยู่ในบ้านด้วยกันตลอดเวลาอาจทำให้เกิดปัญหา ควรให้เวลาความเป็นส่วนตัวกับทั้งตนเองและสมาชิกในบ้าน
Embrace discomfort – ทำความเข้าใจกับสถานการณ์
ท้ายที่สุดแล้ว การจัดการกับอาการ cabin fever นั้น ก็คือการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม
สุดท้ายนี้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีแอปพลิเคชัน ที่สามารถตรวจสอบอาการเครียดได้เบื้องต้นด้วยตนเอง Mental Health Check Up ซึ่งพัฒนาโดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้ง iOS และ Android
โฆษณา