25 เม.ย. 2020 เวลา 03:13 • ครอบครัว & เด็ก
เด็กกับหน้าจอ ในยุค COVID-19 : จะเอายังไงดีนะ? 🤔
.・。.・゜✭・.・✫・゜・。.
"ช่วงนี้ลูกอยู่หน้าจอมากขึ้น"
🏫 พ่อแม่หลายคนคงกำลังเริ่มรู้สึกเช่นนี้ เพราะโรงเรียนก็ยังต้องปิดอีกนาน เล่นข้างนอก หรือไปหาเพื่อนก็ไม่ค่อยได้ แต่ละครอบครัวต้องกักตัวกันอยู่แต่ในบ้านวนไป
จนกระทั่งพ่อแม่ส่วนหนึ่งเริ่มเครียด ถามกันมาว่าจะจัดการยังไงดี เรียนออนไลน์จะส่งผลเสียไหม อยู่หน้าจอเยอะขึ้นจะเป็นอะไรหรือเปล่า?
เนื่องจากแอดเองก็ไม่ถึงกับบารมีแก่กล้า ก็เลยขอยกแนวทางปฏิบัติที่ผู้เชี่ยวชาญเขียนไว้แล้วกันนะคะ
👉 ซึ่งที่จริง แนวทางปฏิบัติของไทยก็มี หลายๆ คนอาจจะเห็นกันไปแล้ว และก็มีการตีความกันหลากหลายมาก
🌻 แอดจึงขอแหวกแนว นำแนวทางของต่างประเทศ คือ American Academy of Pediatric (AAP) มาแปล เรียบเรียง และเล่าสู่กันฟัง จะได้มีไอเดียหลายๆ ด้าน ค่ะ
[+ ตอนท้ายๆ จะมีความเห็นส่วนตัวเล็กน้อย]
หากอ่านแล้วเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ประการใด พูดคุยกันได้นะคะ 😅
**•̩̩͙✩•̩̩͙*˚ ˚*•̩̩͙✩•̩̩͙*˚*
"เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ไว้ใช้อยู่บ้านกับเด็กตัวป่วนในช่วงวิกฤต COVID-19"
(ต้นฉบับมีทั้งหมด 15 ข้อ แต่อันไหนที่เนื้อหาคล้ายๆ แอดขออนุญาตรวบไปอยู่ด้วยกันเลยนะคะ)
1) "วางแผน" 🧐 : เริ่มต้นด้วยการคุยกับลูกให้เรียบร้อย ว่า...
- แต่ละวันเราจะมีตารางกิจกรรมอะไรบ้าง
- เราจะรับมือกับความเครียดอย่างไร
- จัดสรรเวลาพักจากการ work from home และ homeschool เพื่อมีช่วงผ่อนคลาย และมีกิจกรรมเชื่อมสายใยครอบครัวกัน
2) 👩🏫 สื่อสารกับคุณครูถึงกิจกรรมการเรียนแบบออนไลน์ และกิจกรรมแบบไม่ออนไลน์ (offline) ที่เด็กทำได้
3) เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้เด็กดู
ใช้แหล่งที่เชื่อถือได้ว่าเป็นรายการเชิงบวก สร้างสรรค์ เช่น Common Sense Media
📺 สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน แนะนำสื่อที่เหมาะสม เช่น ช่อง PBS Kids, Sesame street
ซึ่งจะมีรายการต่างๆ ที่มีคุณภาพ และไอเดียกิจกรรมให้ทำมากมายค่ะ
4) Social distancing ไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว ใช้โลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์
📲 ถ้าเด็กคิดถึงเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ การใช้วิดีโอแชท หรือ โซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ สามารถช่วยท่านได้นะคะ
5) ดูไปด้วยกัน (co-viewing) 👨👩👧👦
นี่เป็นโอกาสทองของพ่อแม่ ที่จะได้สังเกตว่าลูกๆ กำลังติดตามอะไร และเรียนรู้อะไรจากโลกออนไลน์
🎬 ยามเหนื่อยล้า ลองชวนทั้งบ้านมาดูหนังดีๆ สนุกๆ ด้วยกัน ก็ช่วยให้คนในครอบครัวผ่อนคลาย
อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ทักษะการเล่าเรื่อง และได้ข้อคิดสอนใจจากภาพยนตร์ด้วยนะคะ
6) การที่พ่อแม่ทำงานจากบ้าน 🖥️ อาจต้องลดความคาดหวังลง (หมายถึงโดนลูกกวนตลอดเวลารึเปล่านะ 😅)
แต่ผู้ปกครองสามารถลองใช้จังหวะนี้ เป็นโอกาสให้เด็กเรียนรู้โลกอีกด้านค่ะ เช่น ส่งเสริมการเล่นสมมติว่า "หนูกำลังทำงานอยู่นะ" (ดูหลอกเด็ก 55)
7) Podcast และหนังสือเสียง 🎧 สามารถช่วยดึงความสนใจของเด็กได้ ยามที่พ่อแม่กำลังจัดการอย่างอื่น
8) แบ่งเวลาทำกิจกรรมแบบไม่อยู่กับหน้าจอ ที่ครอบครัวจะผ่อนคลาย ได้ใช้เวลาร่วมกัน และเหมาะสมกับแต่ละบ้าน เช่น
- ออกไปเดินเล่นบ้าง 🏃♂️
- เล่นบอร์ดเกม 🧩
- อ่านหนังสือด้วยกัน📚
- ชวนกันเต้นที่บ้าน (dance party)👯♂️
- เตะบอล ⚽
- ทำขนม 🍰
ฯลฯ
9) มีช่วงเวลาให้สมาชิกครอบครัวได้คุยกันเรื่องที่กำลังกังวลใจบ้าง 😿
10) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรตระหนักการใช้สื่อเทคโนโลยีของตัวเอง📱
ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มจะโดนดูดเข้าไปในข่าวสารชวนจิตตก หรือหน้าวอลล์ของโซเชียลมีเดีย และทำให้เครียดสะสม เด็กๆ สามารถสัมผัสความเครียดนั้นได้นะคะ
💫 ต้องมีเวลาพักสมอง เพื่อปกป้องสุขภาพจิตของตัวเองเช่นกันค่ะ
11) ทำตารางเวลา ⏰
ช่วงนี้พออยู่บ้านตลอด กิจวัตรประจำวันก็มักจะรวนๆ ไปนะคะ เพราะไม่มีกรอบเวลาเข้ามาจำกัด
👉 ดังนั้น จึงต้องพยายามให้ชีวิตแต่ละวันมีตารางชัดเจน (อาจจะช่วยกันคิดกับลูกๆ ว่าเราจะทำอะไรบ้าง กี่โมงถึงกี่โมง) และแบ่งเวลาสำหรับหน้าจอให้เหมาะสม ไม่มากเกินไป
12) หัดให้เด็ก "ควบคุมการเล่นหน้าจอด้วยตนเอง" 📲 และสามารถปิดทีวี แทบเล็ต หรือเกม ด้วยตัวเองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด มากกว่าที่จะให้พ่อแม่ต้องคอยเตือน
(ยากเนาะคะอันนี้ 😅 แต่การให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง คือส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งค่ะ
ที่ทำให้แม้เมื่อโตขึ้น ห่างพ่อแม่ไปแล้ว เขาก็จะยังสามารถดูแลตัวเองได้)
13. ควบคุมไม่ให้การใช้หน้าจอมารบกวนการนอน 🛌 การออกกำลังกายและกิจกรรมที่ใช้แรง การอ่านหนังสือ และความสัมพันธ์ในครอบครัว
✧・゚: *✧・゚:* *:・゚✧*:・゚✧
หลังจากนี้ไป เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ
ทุกวันนี้ จะมีถ้อยคำประมาณว่า "จอมือถือเป็นฆาตกร" "หน้าจอกำลังฆ่าลูกคุณ" "ทำลายสมอง" "อันตรายยิ่งกว่ายาพิษ" ฯลฯ ☠️
จนเกิดเทรนด์ "no screen time" ห้ามเด็ดขาด พ่อแม่ต้องปกป้องลูกจากภัยหน้าจอ เห็นจอแวบเดียวก็ไม่ได้ สายตาเสีย ทำลายสมองเด็ก
……………………….
🌱 ซึ่งสารภาพว่า ความจริงแล้ว เมื่อก่อน แอดก็เป็นประเภทเชียร์การงดหน้าจอในเด็ก แบบสุดลิ่มทิ่มประตูเช่นนี้ล่ะค่ะ แหะๆ
ขนาดว่า มีคนเปิดคลิปยูทูปให้เด็กดูเพื่อกล่อมตอนทำหัตถการแค่แป๊บๆ แอดยังแอบรู้สึกขัดเคืองใจอยู่หน่อยๆ เลย 😅 ว่าแบบนี้มันไม่ได้นะ
แต่ช่วงนี้ อาจจะว่างๆ และมีเวลาได้นึกอะไรต่ออะไร แล้วก็เกิดระลึกความทรงจำวัยเยาว์ขึ้นมา
ซึ่งทำให้แอดสะเทือนใจมาก เพราะตอนเด็กๆ เนี่ย การตื่นเช้าวันเสาร์ตั้งแต่ไก่โห่ มาเกาะขอบทีวี 📺 เฝ้าตั้งแต่ทุ่งแสงตะวัน ซูเปอร์จิ๋ว เพื่อรอดูช่อง 9 การ์ตูน คือที่สุดของความสุข 555
นี่ยังไม่รวม เจ้าขุนทอง กล้วยหอมจอมซน กัปตันแพลนเน็ต เพาเวอร์พัพเกิร์ล โดราเอมอน ทอมแอนด์เจอรี่ ขำกลิ้งลิงกับหมา ทีวีแชมเปี้ยน โกโกริโกะ การ์ตูนเจ้าหญิงดิสนี่ย์ และอื่นๆ นับไม่ถ้วน
(โอ้ยย ดูเยอะมาก แถมแต่ละเรื่องบ่งบอกอายุอีก อ๊ายอายย 555)
📺 นึกภาพตัวเอง ถ้าย้อนไปตอนนั้น แล้วพ่อแม่ไม่ให้ดูทีวีเลย
มันจะเป็นวัยเด็กแบบไหนกันนะ? 🤔
🎎 เพราะงั้น เลยเริ่มรู้สึกว่า เออ...ไม่ต้องตึงเปรี๊ยะแบบสุดๆ ก็ได้ ผ่อนนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอกนะ มันก็เป็นความสุขเล็กๆ นี่นา ให้เด็กมีเรื่องเอาไปคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันบ้าง
**✿❀ ❀✿**
พอพูดแบบนี้ ก็จะ อ้าว! นี่แกเป็นหมอเด็กประสาอะไร ริอ่านเชียร์ให้เด็กติดจอสินะ เดี๋ยวฟาดด้วย Nelson Textbook of Pediatrics (ตำรากุมารเวชศาสตร์) ซะเลยนี่ 😠
[ทำตัวสมชื่อเพจ 'หมอเด็กนอกคอก' ไหมล่ะคะ 55]
*ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ
ทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ แต่ที่สำคัญสุดคือ "ต้องมีลิมิต"
👉 จากความเห็นส่วนตัว (ซึ่งไม่ใช่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ)
📲 หน้าจอไม่ได้เป็นฆาตกรร้ายขนาดนั้น หากอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
ซึ่งเบื้องต้นก็ดังนี้ค่ะ:-
1. เวลาที่ใช้เหมาะสมตามวัย ดังที่ AAP และ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แนะนำ คือ
📺 น้อยกว่า 2 ปี งดดูจอ ยกเว้น video call กับคนในครอบครัว *อันนี้ซีเรียสค่ะ*
📺 2-5 ปี → น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
📺มากกว่า 5 ปี → น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
แต่ถ้าช่วงนี้ที่ต้องอยู่ในบ้านทั้งวัน จะใช้เวลาเกินๆ บ้างสักนิดหน่อย มันก็ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น
🖥️ ส่วนการเรียนออนไลน์ (โดยเฉพาะในเด็กโต) ถ้ามีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนๆ ไม่ใช่สอนแห้งๆ เนื้อหาไม่หนักหน่วงเกินไป ก็ทำได้ค่ะ
2. เนื้อหา (content) ต้องมีคุณภาพ เหมาะสำหรับเด็กจริงๆ
👉 ทาง APP ก็จะแนะนำ PBS kids กับ Sesame street ค่ะ
มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่แสดงให้เห็นว่า สื่อดิจิตอลที่มีคุณภาพ หากใช้อย่างเหมาะสม สามารถเป็นผลดีกับพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านอารมณ์ และการเรียนรู้ ได้ค่ะ
3. มีผู้ใหญ่ดูไปด้วยกัน (co-viewing) 👨👩👧👦
ผู้ใหญ่จะช่วยเสริมความเข้าใจ และตอบคำถามให้เด็ก จะดีกว่าปล่อยเด็กนั่งดูเองค่ะ
อีกทั้งยังทำให้มีปฏิสัมพันธ์กันด้วย พ่อแม่ก็จะมีประเด็นคุยกันกับลูก สอนไปว่าอันนี้ทำได้ทำไม่ได้ หรือเด็กมีความคิดเห็นอย่างไร
4. ไม่ดูขณะที่ กินข้าว 🍛 หรือเข้านอน 🛌
ต้องไม่รบกวนชีวิตประจำวัน การออกกำลัง การอ่านหนังสือ 📚หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว 👨👩👧👦
(แอบเสริมว่าไม่ควรดูตอนเดิน หรือข้ามถนนด้วยค่ะ เพื่อความปลอดภัย)
☆.。.:* สรุป .。.:*☆
การจำกัดการดูจอในเด็ก ยังคงเป็นสิ่งที่ดี
แต่ใดๆ ก็ตาม อย่าให้มันถึงกับทำให้เราประสาทกิน จิตตก ว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ใช้ไม่ได้
หรือเครียดกังวลกับการต้องหาทางเล่นกับลูกตลอดเวลา จนไม่มีเวลาส่วนตัวไปทำอย่างอื่น อะไรแบบนั้นเลยค่ะ
 
🌱 เลือกสื่อที่มี "คุณภาพ" สำคัญกว่าการมานั่งจับเวลาให้เป๊ะ
เพราะเรื่องเครียดๆ ในชีวิตมีมากเกินพอแล้ว
♥ สุขภาพจิตที่ดีของพ่อแม่ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกนะคะ ♥
🌏 โลกหลัง COVID-19 คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กฎที่เคยตั้งไว้เคร่งครัด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ก็ยืดหยุ่นได้ค่ะ ยอมรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยบ้าง เพื่อความสุขของครอบครัว 😊
🔍 แล้วทุกคนมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรกับบ้างคะ หรือมีประสบการณ์กับหน้าจอในวัยเด็กของตัวเองอย่างไรบ้าง มาแชร์กันได้ค่ะ
#หมอเด็กนอกคอก
โฆษณา