25 เม.ย. 2020 เวลา 13:30 • ความคิดเห็น
ไม่มีใครเล่าความชั่วของตนเองให้คนอื่นฟัง
1
ธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีกลไกปกป้องตนเองทางสังคมบางอย่าง โดยเมื่อมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นภัยต่อตนเอง มนุษย์จะเลี่ยงไม่กระทำสิ่งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การพูดก็เช่นกัน หากพูดไปแล้วเป็นภัยต่อตนเอง มนุษย์เราก็จะไม่พูดสิ่งนั้นออกไป
เมื่อเป็นดังนี้ ระหว่างคำพูดที่เล่าเรื่องดีของตนเองกับคำพูดที่เล่าเรื่องความชั่วของตนเอง คำพูดแบบไหนที่มนุษย์เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูด ?
คำพูดที่เล่าเรื่องความชั่วของตนเองใช่หรือไม่ เพราะเล่าออกไปแล้วอาจจะเกิดความเดือดร้อนจากเรื่องที่พูดได้
ความเดือดร้อนมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย เช่น ไม่เป็นชอบใจของผู้อื่นไปจนถึงความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สิน
แต่แปลกไหมครับ หากกลับกันเรื่องนั้นเป็นความชั่วของผู้อื่น เรากลับเล่าได้อย่างสนุก และรู้สึกสบายใจที่ได้เล่าออกไป
พระพุทธเจ้าจะสอนเสมอว่าจะมีบุคคลประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "สัตบุรุษ"
สัตบุรุษนั้นจะมีลักษณะคำพูดอยู่ 4 ประการ
ทุกท่านลองนำไปสำรวจการพูดของตนเองได้นะครับว่า เราเข้าข่ายลักษณะของสัตบุรุษบ้างหรือไม่
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
ลักษณะคำพูดของสัตบุรุษนั้นมี 4 ประการ ดังนี้ครับ
1. "เมื่อมีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น สัตบุรุษจะไม่เปิดเผยให้ปรากฏ" คือจะไม่เล่าถึงความไม่ดีของผู้อื่น ยิ่งไม่มีใครถามยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นคำพูดของสัตบุรุษจะไม่เข้าข่ายคำนินทาเลย
เมื่อมีใครถามถึงความไม่ดีของผู้อื่นล่ะ ? สัตบุรุษจะทำอย่างไร อารมณ์แบบว่าถูกคะยั้นคะยอถามจนต้องตอบให้ได้ ในกรณีนี้สัตบุรุษจะพูดในลักษณะที่ทำให้เรื่องไม่ดีนั้นลดหย่อนลง หลีกเลี้ยว พูดแต่น้อยไม่เล่าโดยเต็มที่ เป็นต้น
2. "เมื่อไม่ถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น สัตบุรุษจะนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ" เรียกได้ว่าเรื่องดี ๆ ของชาวบ้านคืองานของสัตบุรุษ เขาจะนำเสนอแต่เรื่องดีของผู้อื่นแม้ไม่ถูกถามก็จะเล่าให้ฟัง ยิ่งมีคนถามนะ จะเล่าให้ฟังอย่างเต็มที่เลยว่าบุคคลนั้น ๆ ดีอย่างไร
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
3. "เมื่อไม่มีใครถามถึงความไม่ดีของตน สัตบุรุษก็จะนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ" นี่แหละครับตรงกับข้อความที่ผมได้เกริ่นไปในตอนต้น ว่ามีบุคคลประเภทที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขาอยู่คือ สัตบุรุษจะพูดในสิ่งที่ไม่ดีของตนเอง แม้ไม่มีใครถามก็อยากจะเล่า ยิ่งถามยิ่งเล่าให้ฟังได้โดยพิสดารเต็มที่
บอกเลยว่าไม่ง่ายนะครับ การที่ใครสักคนกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องไม่ดีของตนให้ผู้อื่นรับรู้ ดังที่บอกไปเรื่องกลไกการปกป้องตนเองทางสังคม ถ้าใครที่ทำได้พระพุทธเจ้าถึงเรียกว่าเป็นสัตบุรุษไงครับ
4. "เมื่อมีใครถามถึงความดีของตน สัตบุรุษจะไม่เปิดเผยให้ปรากฏ" สัตบุรุษจะไม่เล่าความดีของตนให้ผู้อื่นฟัง แม้ถูกถามก็จะพยายามเล่าให้ฟังน้อยที่สุด ยิ่งไม่มีใครถามยิ่งเก็บเงียบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้อื่นจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนดีล่ะ ? กลับไปดูลักษณะประการที่ 2 ของสัตบุรุษครับ ใช่แล้วเรื่องราวดี ๆ ของเราผู้อื่นจะรับรู้ได้จากการบอกเล่าของผู้อื่นอีกที ถ้าผู้นั้นนำเรื่องดี ๆ ของเราไปเล่าต่อ เขาผู้นั้นก็อาจเข้าข่ายสัตบุรุษได้เช่นกัน
มาถึงตรงนี้จึงสรุปลักษณะคำพูดของสัตบุรุษได้ว่า
1. จะพูดเรื่องดีของผู้อื่นและเรื่องชั่วของตนเอง
2. จะไม่พูดเรื่องชั่วของผู้อื่นและเรื่องดีของตนเอง
ท่านผู้อ่านเข้าข่ายลักษณะคำพูดของสัตบุรุษกันบ้างไหมครับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้นะครับ
สำหรับผู้ติดตามหน้าใหม่ไม่ต้องตกใจนะครับ ว่าเพจเภสัชกรทำไมมีบทความแนวนี้ด้วย บทความของเพจนี้จะมีเนื้อหาหลัก ๆ 2 เรื่องครับ คือ
1) "ยากาย" เป็นเรื่องราวความรู้ของยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรค 2) "ยาใจ" เป็นบทความที่น้อมนำธรรมะจากพระไตรปิฎกมาเล่าผ่านประสบการณ์ของผู้เขียน เพื่อเป็นยาชโลมจิตใจของผู้อ่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี
ผมกลับมาแล้ว ^^ เห็นหลายท่านบ่นคิดถึง จริง ๆ ไม่ได้หายไปไหนนะครับ ผมยังเข้ามาใน bd ทุกวัน แต่อาจจะไม่ได้เขียนบทความบ่อยเหมือนตอนทำเพจช่วงแรก ๆ งานเยอะ (ข้ออ้าง) 555
ฝากลักษณะคำพูดของสัตบุรุษไปพิจารณากันด้วยนะครับ ถ้าทำได้จะดีมากเลย สังคมที่สงบสุขร่มเย็น ผู้คนมองกันด้วยสายตาแห่งความรักใคร่ จริง ๆ ก็เริ่มจากตัวเราเองนี่แหละครับ
ที่มา : บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๐/๗๓.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา