26 เม.ย. 2020 เวลา 08:28 • ครอบครัว & เด็ก
🌺น้ำนมแม่ ช่วยชีวิต ยามวิกฤต 🌺
 
ทุกครั้งที่เกิดภาวะวิกฤต น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง นมแม่ช่วยเราได้
วิกฤตครั้งนี้ก็เช่นกันค่ะ ในภาวะที่รายได้ของครอบครัวลดน้อยลง
เราต้องพยายามลดรายจ่ายลงทุกวิถีทาง
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ในระยะยาว เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อนมผงให้ลูกกิน
แต่การจะเริ่มต้นให้นมแม่ นี่สิคะ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับหลายๆครอบครัว
ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างคนในครอบครัว พบได้บ่อยที่สุดเลยค่ะ
“ทำไมหลานร้องจังเลย หิวหรือเปล่า น้ำนมแม่พอไหมนั่นน่ะ เพิ่งดูดไปแป๊บๆ ร้องอีก แล้ว”
ความมั่นใจของแม่หล่นฮวบเลยค่ะ เจอแบบนี้ แม่จะให้ดูดนมแม่อย่างเดียว แต่ยายบอกหลานร้อง นมแม่ไม่พอ ให้เสริมนมผงเถอะ
แม่ๆเจอแบบนี้ ทำอย่างไรกันบ้างคะ
1. บอกยายว่า เด็กแรกคลอดก็เป็นอย่างนี้เอง เขาต้องดูดนมแม่บ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม (ตามตำราที่อ่านมาเป๊ะเลย 😀)
2.บอกรายการอาหารที่อยากกิน ให้ยายไปทำมาให้กิน ยายจะได้มีงานอื่นทำเพื่อหลาน
อยู่ห่างๆไปก่อนนะแม่ ช่วงแรกนี้ ขอแม่ลูกทำความรู้จักกันก่อน 😀
3.ชักจะหวั่นๆ ว่า เอ๊ะ! หรือน้ำนมเราจะน้อยจริงๆ แต่เราต้องมีหลักฐาน เอาล่ะ ฉันจะจดทุกครั้งที่ลูกฉี่ และอึ ว่า อึฉี่กันตอนไหนบ้าง สีอะไร เข้มหรือจาง กองใหญ่เท่าไร
วันแรกๆที่กลับบ้าน น่าจะเป็นวันที่โกลาหลที่สุดล่ะค่ะ
ขอเวลาให้แม่ลูก ได้กอดกัน ใกล้ชิด ได้ดูดนมจากอกแม่ โดย ไม่ต้องทำอย่างอื่น (ถ้าเป็นไปได้)เว้น อาบน้ำ กินอาหาร
ทำความรู้จักกัน อุ้มเอาลูกแนบอก ให้ไออุ่นของแม่ส่งถึงลูกโดยตรง
มือลูบหลัง ลูบไปตามแขนขาลูก ลูบลูกอย่างแผ่วเบา นุ่มนวล
ใจของแม่อยู่ที่ลูก คิดว่า ช่างโชคดีเสียนีกระไร ที่มีโอกาส อุ้มลูก แบบนี้
พอลูก ขยับปาก ไซ้หา ก็ค่อยๆเอาลูกขยับมาที่เต้านม ก่อนที่ลูกจะร้อง
เราก็จะมีเวลา ค่อยๆปรับท่าอุ้ม ให้ถนัด ตามที่พยาบาลหลังคลอดได้สอนมาค่ะ
ท่าอุ้มดูดนม ตามหลักการ ท้องลูกชนท้องแม่ คางชิด อ้าปากกว้างก่อน เอาหัวนมใส่ลึกจนถึงลานนม
ง่ายๆ แต่ปฏิบัติจริง ต้องปรับสำหรับแม่ลูกแต่ละคู่ จะไม่มีใครเหมือนกันเลย !
คู่ใครคู่คนนั้น ต้องหาท่าที่ถนัดกันเอง
ขออย่างเดียว หัวนมแม่ต้องไม่รู้สึกเจ็บ
ถ้าเจ็บหัวนมต้องปรับท่าอุ้ม ไม่ไหวจริงๆ ต้องหาตัวช่วยค่ะ เช่นคลีนิกนมแม่ หรือ โรงพยาบาลที่แม่คลอด
ท่าอุ้มดูดนมแม่ที่ถูกต้อง
ก่อนอายุ 14 วัน แม่ควรอุ้มลูกดูดนมได้ถนัด และน้ำนมผลิตมากพอค่ะ จากอึ สีเหลืองทองเหลวเละ วันละ 4 ครั้ง ขึ้นไป ฉี่สีใส วันละ 6-8 ครั้ง
ช่วงแรกๆนี้ ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าอย่างเดียว ให้ชำนาญ ยังไม่ต้องปั๊มนม (กรณีลูกคลอดครบกำหนด แข็งแรงปกติ)
ถ้าเริ่มต้นได้ดี ขั้นต่อไปก็ไม่ลำบากแล้วค่ะ
สำหรับแม่ที่ให้นมแม่อยู่แล้ว ให้นมแม่ต่อไปค่ะ ถ้าแม่มีอาการไข้หวัด ไอจาม ให้แม่ใส่หน้ากาก อนามัยเวลาให้นมลูก ล้างมือบ่อยๆก่อนอุ้มลูก
คุณแม่ที่เพิ่งคลอด พยายามเริ่มให้นมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆหลัง
คลอดนะคะ ถ้ามีปัญหาข้อสงสัยให้ปรึกษาแพทย์พยาบาลที่ดูแลค่ะ
/ พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
ขอบคุณ ภาพประกอบจาก ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
Cr. ภาพแม่ลูก คุณณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา