27 เม.ย. 2020 เวลา 13:45 • การเกษตร
ไมโครกรีน (microgreen) - พืชต้นจิ๋ว ทำง่าย รายได้ดี ตอน 1 🌱
ที่มา 📷 https://www.amazon.com
เราคงจะเคยเห็นพืชผักต้นเล็กๆ เป็นส่วนประกอบอยู่ในจาน ไม่ว่าจะเป็นสลัด หรือตกแต่งจานให้สวยงาม กันมาบ้าง
micro แปลว่า เล็กกระจิ๋วหลิว
green แปลว่า สีเขียว ความหมายโดยนัยยะ ก็คือ พืชหรือต้นไม้ นั่นเอง
นอกจากนี้ ศัพท์ภาษาอังกฤษยังมีคำว่า baby plants หรือ sprout (ซึ่งแปลว่างอกหรือแตกยอดอ่อนออกมา)
ซึ่ง microgreen ของเรานั้นเป็นต้นอ่อนในระยะเติบโตระหว่าง sprout และ และ baby plant
sprout ที่คนไทยรู้จักกันดีเลยก็คือ ถั่วงอก นั่นเอง
ถั่วงอก ที่มา📷https://www.technologychaoban.com
ซึ่งจะมีพืชชนิดไหนบ้าง จัดเป็น microgreen หรือ sprout หรือ baby plant จะขอเล่าในตอนต่อ ๆ ไป
ไมโครกรีน ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ผัก แต่ยังรวมถึง พืชที่เพิ่งงอกออกมาจากเมล็ด เป็นต้นอ่อน ที่มีใบ 2 ใบ
การที่พืชมีใบ 2 ใบ หลังการงอกออกจากเมล็ดนั้น ในทางชีววิทยา มีศัพท์เฉพาะ คือ พืชใบเลี้ยงคู่ (bicotyledon)
ดังนั้น ไมโครกรีน จึงเป็นพืชอะไรก็ได้ ที่สามารถนำเมล็ดมาเพาะ งอกออกมาเป็น ต้นอ่อน และกินได้ จึงเป็นไมโครกรีนได้หมด
ส่วนใหญ่มักเป็นผักกินใบ สมุนไพรที่ให้กลิ่น หลากสี ไม่ได้มีเฉพาะสีเขียว
1
จากรายงานการวิจัย พบว่า พืชไมโครกรีนมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าพืชชนิดเดียวกันที่โตแล้ว 5-40 เท่า
คุณค่าทางอาหารที่ว่าได้แก่
1. คลอโรฟีลล์ (เม็ดสีของพืชที่ทำให้ส่วนของพืชมีสีเขียว)
2. วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี
3. สารต้านอนุมูลอิสระ (เป็นสารที่ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวก่อโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ฯลฯ
ลักษณะการบริโภค ส่วนใหญ่จะเป็นกินสด ไม่ปรุง
จึงมักเห็นผักไมโครกรีนเป็นวัตถุดิบ ในเมนูสลัด น้ำปั่น เน้นความเป็นอาหารคลีน (clean food) ไปซะเยอะ
ความน่าสนใจของผักไมโครกรีนอยู่ที่ อายุการผลิตสั้น วงจรอยู่ที่ประมาณ 7-21 วัน แล้วแต่ชนิด ส่วนใหญ่ที่เห็นคือ 7-10 วัน ก็สามารถนำมากิน หรือนำมาขายได้
แถมยังใช้พื้นที่ในการผลิตน้อย เหมาะกับการทำในครัวเรือน พอพัก คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือพื้นที่จำกัด
ถึงแม้ไมโครกรีนจะเริ่มนำมาบริโภคตั้งแต่ ประมาณในช่วงปี พ.ศ. 2520 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว ในภัตตาคารของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่เพิ่งจะมาแพร่หลายและได้รับความนิยมในบ้านเราได้ไม่นานนัก
ยังคงเป็นพืชทันยุคที่คนใส่ใจกระแสสุขภาพ เพราะกระบวนการผลิตไม่ต้องใช้สารเคมี สารปนเปื้อนอื่นใดมาเกี่ยวข้อง
รวมทั้งหากมีไอเดียประยุกต์ที่จะสรรสร้างเมนูใหม่ๆ ก็ยังเป็นตัวเลือกหารายได้เสริมอีกอย่างหนึ่ง
แต่การจะผลิตเพื่อจำหน่าย จำเป็นต้องมีการใส่เทคโนโลยีและการจัดการเข้าไป เพื่อให้คุ้มทุน รวมถึงการทำแผนการตลาดที่ดี เพื่อทำกำไร
ส่วนการผลิตเอาไว้กินเอง ก็ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องหาข้อมูลชนิดพืชที่อยากกิน อยากทำ และทดลองทำดู จนได้แนวทางหรือเคล็ดลับของตัวเอง
เพราะพืชแต่ละชนิด แต่ละพันธุ์มีความต้องการในการงอกออกจากเมล็ด และสภาพแวดล้อมในการเพาะเลี้ยงต่างกัน
ในตอนต่อๆ ไป แอดมินจะมาเล่าถึงชนิดพืชที่นำมาเพาะเป็นไมโครกรีน แต่ละชนิดมีความพิเศษเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง
เรียนเกษตรแล้วได้ดี 27 เมษายน 2563 🐃🌾
โฆษณา