1 พ.ค. 2020 เวลา 08:54
ทะเลและจิตใจของมนุษย์นั้นไม่ต่างกัน มันมีความแปรปรวน ไม่คงเส้นคงวา เปลี่ยนแปลงได้เสมอ บางทีก็มีความย้อนแย้ง มีความลึกซึ้ง มีความลึกลับ แต่จะว่าไปแล้ว โลกทะเลกับโลกมนุษย์ก็มีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่าง
 
ผมมีความผูกพันกับทะเลชุมพรอยู่ไม่น้อย เพราะประสบการณ์และความทรงจำในการดำน้ำที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่นี่ ผมยังจำครั้งแรกที่มาเยือนทะเลชุมพร ตอนนั้นคือช่วงต้นเดือนตุลาคมซึ่งยังเป็นฤดูคลื่นลมและมรสุมของภูมิภาคอื่นๆ แต่ภาพทะเลชุมพรที่เห็นในวันนั้นมีเพียงผืนน้ำเรียบใสสีมรกตและท้องฟ้าใสแจ๋ว นั่นเป็นเพราะฤดูกาลของทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่กลับตาลปัตรกับทะเลฝั่งอันดามัน มันเป็นผลจากทิศทางลมมรสุมประจำฤดูที่คนมาทะเลบ่อยๆ จะเข้าใจได้ไม่ยาก
แต่ทะเลก็คือทะเล ไม่มีอะไรแน่นอน อย่างในวันนี้ วันที่มีทุกมรสุมรุมเร้า ลมพัดมาทุกทาง ลอนคลื่นในทะเลสลับซับซ้อน และเม็ดฝนที่หล่นมาไม่ขาดสาย แต่เมื่อเราฝ่าคลื่นมาถึงเกาะง่ามใหญ่ ทุกอย่างเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
 
คนที่คุ้นเคยกับทะเลย่อมรู้ดีกว่าเกาะแก่งต่างๆ นั้นเป็นสถานที่ปลอดภัยต่อคลื่นลมเสมอ เกาะง่ามใหญ่ก็เช่นกัน แม้ด้านหนึ่งของเกาะจะเต็มไปด้วยคลื่นลูกใหญ่ซัดสาดจนเสียงดังข้ามมาให้ได้ยิน แต่อีกฟากหนึ่งซึ่งเราจอดเรือหลบอยู่นั้นมีเพียงลมอ่อนๆ และผิวน้ำราบเรียบล้อมรอบเกาะหินปูนรูปร่างประหลาดตา มีนกนางแอ่นบินเวียนวนอยู่บนเพิงผา บ้างบินมุดหายเข้าไปในหลืบถ้ำ
 
มองไปบนเกาะง่ามใหญ่ แทบไม่มีพื้นที่ราบแม้เพียงตารางเมตรเดียว ก็เหมือนกับเกาะทั้งหลายในทะเลชุมพร ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกาะหินปูนลูกโดดที่แทงทิ่มขึ้นมาจากท้องทะเล พื้นที่รอบๆ เกาะในชุมพรส่วนใหญ่จึงเป็นหน้าผาสูงชัน แต่กระนั้นก็ยังมีกระท่อมหลังเล็กๆ ปลูกคาไว้บนหน้าผาอย่างกลมกลืน ชาวทะเลรู้กันดีว่าเป็นกระท่อมของคนเฝ้ารังนกนางแอ่นที่อาศัยอยู่ตามหลืบถ้ำบนเกาะต่างๆ เหล่านี้ ในกระท่อมเหล่านี้คงมีปืนกระบอกยาวๆ ที่เอาไว้จัดการใครก็ตามที่อาจจะมายุ่มย่ามกับรังนกที่มีราคาดั่งทองคำ
 
อะไรคือสิ่งมีค่า? อะไรคือก้อนหิน? อะไรคือทองคำ? คุณค่าและราคาของสิ่งใดๆ นั้นขึ้นอยู่กับการตีตรา คุณค่า และค่านิยม แต่สำหรับพวกเรา สิ่งที่มีค่านั้นอยู่ใต้ผิวน้ำข้างหน้าเรานี้
เมฆฝนบนท้องฟ้ายังหนาทึบ แต่เมื่อเราทิ้งตัวเองลงไปในผืนน้ำ เบื้องล่างกลับสดใส แม้มีกระแสน้ำพัดโยกไปมาเบาๆ แต่เรายังคงเชื่อว่าช่วงเวลานี้คงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการดำน้ำที่เกาะง่ามใหญ่ เพราะปะการังหลายชนิดนั้นต้องการกระแสน้ำพัดพาแพลงตอนมาเป็นอาหาร อย่างดอกไม้ทะเลนับร้อยพันกอที่ขึ้นเรียงรายอยู่ตามโขดหินกำลังโบกหนวดสีเหลืองสว่างไสวปลิวไปมาตามกระแสน้ำ เจ้าปลาการ์ตูนพันธ์ุอินเดียนก็ว่ายคลอเคลียระริกระรี้อยู่ในกอดอกไม้ทะเลเหล่านั้น บางคนบอกว่าชื่อของมันมาจากลายเส้นสีขาวที่พาดกลางหลังจรดหน้าผาก เหมือนการแต่งหน้าของชาวอินเดียแดง ขณะที่ชื่อในภาษาฝรั่งของมันกลับถูกเทียบเคียงว่าคล้ายตัวสกังค์มากกว่า แต่เราว่าตอนนี้มันเหมือนคนอินเดียกำลังเต้นระบำร้องเพลงพลางวิ่งหลบหยอกล้อไปมาในทุ่งดอกไม้ใต้ทะเล
 
แม้โลกของการดำน้ำนั้นมีอยู่สองวิถี คือการดำน้ำแบบอิสระ ไม่ว่าจะเรียกว่าการดำน้ำแบบสนอคเกิ้ล สกินไดฟ์วิ่ง หรือฟรีไดวิ่ง กับอีกวิถีคือการดำน้ำแบบสคูบ้า สองวิธีนี้ให้ความรู้สึกดีที่ไม่เหมือนกัน และมีข้อจำกัดแตกต่างกัน แต่มิได้หมายความว่าความสวยงามที่ได้เห็นจะมากกว่าหรือน้อยกว่าตามระดับความลึกเสมอไป อย่างทุ่งดอกไม้ทะเลอันกว้างใหญ่ที่อยู่ในระดับความลึกแค่ไม่กี่เมตรตรงหัวเกาะง่ามใหญ่ ก็เป็นความสวยงามที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาพร้อมถังอากาศใบใหญ่ หรือใส่เพียงตีนกบกับหน้ากากดำน้ำ
 
ถ้าการดำน้ำแบบสกินไดฟ์วิ่งคือความเป็นอิสระ การดำน้ำแบบสคูบ้าก็เป็นการขยายข้อจำกัดหลายๆ อย่างออกไปอีก
 
จุดดำน้ำอีกจุดหนึ่งที่ทุกคนรู้จักดีนั้นอยู่ไม่ไกลจากเกาะง่ามน้อย ผมปล่อยอากาศออกจากบีซีดีเพื่อให้ตัวเองจมลงไปในความลึก ทันทีก็เห็นเธอทอดกายอยู่บนพื้นทะเล
 
เธอคือเรือลำหนึ่ง แต่ก่อนจะสงสัยว่าอะไรทำให้เรากำลังเพศของเรือเป็นผู้หญิงเสมอ? เรามารู้จักเธอกันก่อน.. เธอเกิดที่รัฐแมสซาซูเสท เคยร่วมรบในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นส่วนหนึ่งของการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ก่อนที่จะโอนสัญชาติมาเป็นเรือรบของกองทัพเรือราชนาวีไทย รับใช้ชาติอยู่ประมาณ 60 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนหน้าที่มาเป็น “แม่” ของทะเลในกาลปลดระวาง
 
เรือหลวงปราบ ถูกวางเอาไว้ที่ก้นทะเลด้านใต้ของเกาะง่ามน้อยเมื่อไม่นานมานี้ น้ำทะเลที่ใสพอประมาณในวันนั้นทำให้มองเห็นรูปร่างของลำเรือได้ชัดเจน ตลอดจนส่วนประกอบต่างๆ ทั้งสะพานเดินเรือไปจนถึงป้อมปืนกลกระบอกโต สิ่งเหล่านี้เคยรับใช้ชาติดูแลน่านน้ำไทยจนหมดอายุการใช้งาน แต่ก็ยังได้ทำหน้าที่ดูแลท้องทะเลในฐานะแนวปะการังจำลองที่ฝูงปลามากมายได้ใช้เป็นบ้านกำบังภัย
เอกลักษณ์ของโลกใต้น้ำที่เกาะง่ามใหญ่ คือทุ่งดอกไม้ทะเลขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนพันธุ์อินเดียน แนวปะการังนี้อยู่ในความลึกไม่มากนักนักดำน้ำทั้งสคูบ้าและดำน้ำตื้นก็สามารถเห็นได้
เรือหลวงปราบเคยเป็นเรือรบในกองทัพเรือ แต่หลังจากปลดระวางก็ได้ถูกนำมาจมลงใต้ทะเลใกล้กับเกาะง่ามน้อย ทุกวันนี้มีฝูงปลาจำนวนมากอยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ ลำเรือ
หลังจากว่ายสำรวจส่วนต่างๆ ของเรือหลวงปราบจนพอใจ เราก็ว่ายออกจากตัวเรือมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่เกาะง่ามน้อยซึ่งอยู่ห่างจากจุดจมเรือหลวงปราบไม่กี่ร้อยเมตร แต่ระยะทางใกล้ๆ แค่นี้ สำหรับใต้ทะเลนั้นก็ไกลเกินกว่าทัศนวิสัยที่จะมองเห็นถึงกันได้ และระหว่างทางจากเรือหลวงปราบไปเกาะง่ามน้อยนั้นก็เป็นลานทรายใต้น้ำที่เวิ้งว้างว่างเปล่า ซึ่งถ้าไม่ดูเข็มทิศอย่างแม่นยำแล้ว การเดินทางท่ามกลางห้วงน้ำอันว่างเปล่าช่างเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเล
 
ผมหมายถึงทั้งมนุษย์ที่เอาตัวมาอยู่ใต้ทะเล และหมายรวมถึงปลาเล็กปลาน้อยซึ่งก็ไม่อยากอาศัยอยู่ในโลกที่ไร้บ้าน ไร้ที่กำบัง ไร้ที่ยึดเหนี่ยวร่างกายและจิตใจ เราจึงพบฝูงปลาในแนวปะการังเสมอ เพราะปะการังหนึ่งกอ (หรือหนึ่งโคโลนี) นั้นเปรียบเสมือนบ้านหนึ่งหลัง และแนวปะการังก็เหมือนมหานครที่ประกอบไปด้วยบ้านของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ที่อาศัยอยู่กันเป็นระบบ
 
ตอนนี้เรามีเรือจมหลายๆ ลำ รวมทั้งปะการังเทียมที่ทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นบ้านคุ้มภัยให้ฝูงปลา แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรรักษาบ้านที่แท้จริงของปลาที่อยู่คู่กับทะเลเอาไว้ด้วย
 
ระหว่างทางที่เวิ้งว้างว่างเปล่า จู่ๆ ก็มีเงาทะมึนเคลื่อนที่ผ่านมา เงยหน้ามองขึ้นไปก็ถึงได้รู้ว่าเพื่อนของเราได้มาเยือน นั่นคือปลาฉลามวาฬตัวใหญ่ประมาณ 5-6 เมตร
 
ในระยะหลังๆ นี้เรามักพบปลาฉลามวาฬที่เรือหลวงปราบอยู่บ่อยๆ มีนักวิทยาศาสตร์บอกว่าในช่วงชีวิตของปลาฉลามวาฬแต่ละตัว มันอาจจะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรไปๆ มาๆ ร่วม 1 ล้านกิโลเมตร แต่โอกาสที่มนุษย์จะเจอปลาฉลามวาฬได้ก็มักจะอยู่ตามแนวปะการังซึ่งเป็น Creaning Station ของปลาฉลามวาฬอยู่ดี เพราะถึงมันจะชอบเดินทาง ไกล แต่ก็ยังต้องเข้าเมืองมาให้ปลาเล็กปลาน้อยทำความสะอาดคราบไคลปรสิตตามลำตัวอันใหญ่โตของมัน
ปลาฉลามวาฬเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงถูกตั้งชื่อว่า "วาฬ" ตามขนาดที่ใหญ่ แต่ที่จริงแล้วเป็นปลาในตระกูลฉลาม แต่มีพฤติกรรมกินแพลงตอนเป็นอาหาร จึงไม่แปลกที่เราอาจจะพบปลาฉลามวาฬในวันที่น้ำทะเลขุ่น และเรามักจะพบปลาฉลามวาฬว่ายน้ำช้าๆ อ้าปากเพื่อกรองกินแพลงตอน และมักพบได้ตามแนวปะการังหรือกองหินบางแห่งที่เป็น Cleaning Station ของมัน ปลาฉลามวาฬจะว่ายเข้ามาให้ปลาชนิดอื่นตอมกินปรสิตที่อยู่ตามผิวหนัง
เงาทะมึนปรากฏให้เห็นอยู่ไกลๆ คราวนี้ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ แต่คือกลุ่มโขดหินริมเกาะง่ามน้อยที่เป็นปลายทางของเรา แต่ไม่ใช่สิ.. สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่หิน แต่เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าปะการัง พวกมันคือสัตว์ตัวเล็กเท่าปลายดินสอที่มีความสามารถในการสร้างบ้านของตัวเองเป็นรูปร่างต่างๆ ให้เหมาะกับพื้นที่ บ้างคล้ายเขากวาง บ้างแผ่ออกเป็นจานขนาดใหญ่ บ้างแลดูคล้ายสมอง บ้างเป็นกิ่งก้านเหมือนกอไม้ บ้างคล้ายอะไรๆ อีกมากมายตามแต่จะจินตนาการ
 
ปะการังแต่ละอัน(เรียกแบบง่ายๆ) ถ้าเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่าโคโลนี(Colony) ปะการังหนึ่งโคโลนีมีตัวปะการังจำนวนมหาศาล เปรียบได้กับคอนโดมีเนียมที่มีห้องเยอะมากๆ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากตัวปะการังนี่แหละที่มีความสามารถในการดักจับธาตุแคลเซียมในน้ำทะเลเพื่อต่อเติมโคโลนีของพวกพ้องให้ขยายใหญ่ออกไปรองรับการสืบพันธ์ุของกันและกัน
 
ถ้าไม่มีแนวปะการัง ก็ไม่มีฝูงปลา และเรามักจะพบฝูงปลาผีเสื้อเหลืองชุมพรได้ที่นี่ มันคือปลาหน้าตาดีและพบได้มากในทะเลชุมพร จึงได้รับการตั้งชื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาทะเลชุมพร เจ้าปลาพันธุ์นี้ เพียงแค่ได้เห็นสักตัวสองตัวก็น่าชมแล้ว แต่ที่นี่เราได้เห็นเจ้าผีเสื้อเหลืองชุมพรมากันเป็นฝูงใหญ่ น่าตื่นตาตื่นใจ ใครมาทะเลชุมพรครั้งใดก็ต้องได้เห็นภาพนี้
 
อีกฝูงปลาที่จดจำได้ดีคือที่หินแพ แนวปะการังที่มักจะมีฝูงปลาข้างเหลืองเยอะมาก ปลาชนิดนี้ถ้าเจอในตลาดสดก็มักจะเป็นปลาราคาถูกที่ไม่มีใครเหลียวแล บางทีปลายทางของมันอาจอยู่ที่โรงงานอาหารสัตว์ด้วยซ้ำ แต่พอได้เห็นพวกมันอยู่ในทะเลกันเป็นพันๆ หมื่นๆ ตัวก็ดูมีราคาขึ้นมาทันที มันมักจะรวมตัวกันว่ายเวียนวนเป็นขบวนไปทั่ว บางทีพวกมันก็รวมตัวกันเป็นกำแพงหนาราวกับว่าเป็นกองทัพปลาที่พร้อมเผชิญศัตรูคุมคาม แต่พวกมันก็รู้ดีว่า ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการอาศัยอยู่ในแนวปะการังที่สมบูรณ์ ชาวประมงก็รู้ดีว่าที่นี่คือแหล่งรวมเหยื่อก้อนโต แต่การจะล้างบางฝูงปลาในแนวปะการังด้วยอวนผืนใหญ่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักหรอก
 
จึงเป็นเรื่องปกติ ที่เรามาเยี่ยมเยือนทะเลชุมพรครั้งใด ก็จะได้เจอปลาผีเสื้อเหลืองชุมพรฝูงใหญ่ ได้เจอปลาข้างเหลืองฝูงยักษ์อยู่ทุกครั้งไป เพราะที่นี่คือแนวปะการังสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย ที่มีประชากรฝูงปลาหลากหลายเผ่าพันธ์ุ มีกอปะการังเหมือนตึกรามบ้านช่องสีสันสดใส เสมือนมหานครแห่งชีวิตใต้ท้องทะเลสีคราม ./
ปะการังคือสัตว์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในโครงสร้างหินปูนที่พวกมันสร้างขึ้นมาเองจากการดึงธาตุแคลเซียมในน้ำทะเลมาสร้างโครงสร้างหินปูนเพื่อเป็นที่อยู่ โครงสร้างเหล่านี้มีรูปร่างต่างๆ กันตามแต่ลักษณะพื้นที่และพฤติกรรมการอยู่อาศัยและหากินของมัน เช่น ปะการังทรงโต๊ะที่แผ่ออกเพื่อรับแสง หรือปะการังบางชนิดก็ดูคล้ายพืช เช่นปะการังดำ(แต่โพลิปสีเหลือง) ที่มีพฤติกรรมดักจับอาหารตามกระแสน้ำ
แนวปะการังเปรียบเสมืองมหานครขนาดใหญ่ที่นอกจากจะมีประชากรประเภทตัวปะการังขนาดเล็กแทบมองไม่เห็นจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีประชากรประเภทปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ที่อยู่อาศัยในนครปะการัง ในทะเลชุมพร สามารถพบปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร ซึ่งเป็นปลาหายาก แต่หาง่ายที่นี่่ นอกจากนี้ยังมีปลาหาง่ายราคาถูกในตลาดสดทั่วไปอย่างปลาข้างเหลือง ซึ่งเมื่อได้เห็นมันอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่แล้วกลับกลายเป็นประสบการณ์ที่ประเมิณราคาไม่ได้เลย
โฆษณา